การเปลี่ยนคนประจำเรือในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นอกจากคนประจำเรือจะกังวลเรื่องการติดเชื้อเมื่อเรือต้องเดินทางไปส่งสินค้าที่เมืองท่าต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการระบาดรุนแรงแล้ว ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนคนประจำเรือที่ไม่สามารถทำได้ หรือถ้าทำได้ก็ต้องมีมาตรการที่ยุ่งยากตามมามากมาย ทำให้คนประจำเรือที่ครบสัญญาจ้างบนเรือแล้วอยากกลับบ้านก็กลับไม่ได้ ส่วนคนประจำเรือที่ลาพักอยู่บ้านและอยากกลับลงไปทำงานก็ลำบากอีกเพราะติดขัดด้วยทั้งกฎระเบียบของรัฐเมืองท่าต่าง ๆ และข้อบังคับของเจ้าของเรือในการเปลี่ยนคนประจำเรือ เรียกว่าโดนผลกระทบและความวุ่นวายกันอย่างทั่วถึงเลยทีเดียว สายการเดินเรือหลายแห่งเริ่มกังวลว่า จำนวนคนประจำเรือที่ได้รับผลจากวิกฤตการณ์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนลูกเรือได้กำลังเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท

    จากการวิเคราะห์อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางทะเลโดยรวมล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันมีคนประจำเรือเกือบ 400,000 คนที่เผชิญกับวิกฤตการณ์การเปลี่ยนคนประจำเรือและต้องการกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม รัฐชายฝั่งแต่ละแห่งได้กำหนดมาตรการการผ่านแดนและการเดินทางที่เข้มงวดมากขึ้น และยิ่งเกิดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ ด้วยแล้ว การเปลี่ยนคนประจำเรือก็ยิ่งยากขึ้นเป็นเงาตามตัว

    จนถึงขณะนี้มี 55 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ IMO และอีก 2 ประเทศที่เป็นสมาชิกสบทบที่ได้ประกาศให้คนประจำเรืออาจต้องทำงานบนเรือยาวนานขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการแพร่กระจายเชื้อขณะมีการเปลี่ยนคนประจำเรือ แต่รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นก็ถูกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตำหนิว่าล้มเหลวในการปกป้องสิทธิของคนประจำเรือดังที่ได้กำหนดไว้ในอนุสัญญาแรงงานทางทะเลระหว่างประเทศ ค.ศ. 2006 ว่า ต้องดูแลสิทธิประโยชน์ของคนประจำเรือโดยไม่ชักช้า ซึ่งทางด้านหน่วยงานของสหประชาชาติเองก็ได้เรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ยอมรับให้คนประจำเรือเป็นบุคลากรสำคัญที่ต้องได้รับการดูแล ‘โดยไม่ชักช้า’

    นอกจากนี้ ประเด็นเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของการฉีดวัคซีนสำหรับคนประจำเรือในหลายประเทศก็ควรได้รับการแก้ไขด้วย เพราะว่าหนังสือเดินทางที่ระบุว่าได้รับการฉีดวัคซีน (Vaccination Certificate) ที่ออกให้โดยบางรัฐนั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนคนประจำเรือ ซึ่งคนประจำเรือในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศไม่น่าจะมีโอกาสได้รับวัคซีนจนถึงเดือนกรกฎาคม 2021 เป็นอย่างเร็วที่สุด

     

    Photo by Philippe Oursel on Unsplash

     

    ขณะเดียวกันรัฐบาลต่าง ๆ ยังคงคำสั่งให้มีการปิดพรมแดนและงดเว้นการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อการป้องกันและลดความเสี่ยงจากโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการระงับการเปลี่ยนคนประจำเรือชั่วคราวและการห้ามคนประจำเรือลงจากเรือเมื่อเรือถึงเมืองท่า ทำให้คนประจำเรือหลายคนต้องติดอยู่บนเรือแม้สัญญาจ้างได้หมดลงแล้ว และยังไม่มีฉันทามติระหว่างประเทศสมาชิกของ IMO สรุปมาตรการสำหรับการเปลี่ยนและการถ่ายโอนคนประจำเรืออย่างมีประสิทธิภาพ

    ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2020 สมัชชาสหประชาชาติได้ลงมติยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับความท้าทายที่คนประจำเรือต้องเผชิญอันเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อสนับสนุนห่วงโซ่การผลิตของโลก (global supply chain) มีประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญที่ส่งออกคนประจำเรือสู่ตลาดแรงงานทางทะเลของโลกทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา โดยได้รับการสนับสนุนจาก UNCTAD, ILO และ IMO

    จากการประชุม มีมติจาก 71 ประเทศสมาชิก ดังนี้

    1. เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกกำหนดให้คนประจำเรือและบุคลากรทางทะเลอื่น ๆ เป็นผู้ปฏิบัติงานหลัก (key worker)
    2. สนับสนุนให้รัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ปฏิบัติตามพิธีสาร ของ IMO เพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนและการเดินทางของคนประจำเรือเป็นไปอย่างปลอดภัยในช่วงโควิด-19 ระบาด
    3. เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการโดยทันทีในมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนคนประจำเรือ โดยรวมถึงอนุญาตให้มีการขึ้นและลงทำงานในเรือ เร่งการเดินทางและการส่งตัวกลับประเทศ ตลอดจนให้ความมั่นใจในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล

    ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021ที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากบริษัทและองค์กรมากกว่า 600 แห่ง ได้มีการลงนามในแถลงการณ์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนประจำเรือและการเปลี่ยนคนประจำเรือ โดยตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขวิกฤตการณ์เปลี่ยนคนประจำเรือ

    สำหรับคนประจำเรือ ข้อกังวลทั้งหมดนั้นได้รวมถึงสิทธิมนุษยชนหลายด้านและมาตรฐานแรงงานที่เหมาะสม โดยมุ่งหมายให้แน่ใจว่าสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของทุกคนนั้นเป็นไปตามอนุสัญญาแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อรับประกันสุขภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย และสวัสดิภาพของทุกคน

    อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผ่อนคลายอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในหลายประเทศยังคงข้อจำกัดให้การเปลี่ยนคนประจำเรือให้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ประวัติการเดินทาง และ/หรือ สัญชาติของลูกเรือ ไหนจะเรื่องความยากลำบากที่คนประจำเรือต้องเผชิญในการขอวีซ่าหรือใบอนุญาตเดินทางไปยังประเทศที่เรือไปจอดเทียบท่าเพื่อลงทำงานในเรือ ซึ่งก็ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนคนประจำเรือและการส่งคนประจำเรือกลับประเทศยังคงเป็นความท้าทายด้านโลจิสติกส์อย่างมากต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้สะดวกคล่องตัวมากขึ้น

    ทางแก้คือต้องปรับเปลี่ยนการใช้เครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่ อาจมีการคลายบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องหลายประการในอนุสัญญาและกลไกระหว่างประเทศ โดยมุ่งลดพิธีการและเอกสารที่จำเป็น อำนวยความสะดวกและลดความซับซ้อนของการเปลี่ยนคนประเรือรวมไปถึงการส่งตัวกลับ การควบคุมการเข้าออกประเทศ สิ่งเหล่านี้อาจช่วยคลี่คลายสถานการณ์ของคนประจำเรือในช่วงที่มีการระบาดของโควิด -19 นี้และสืบต่อเนื่องไปให้อนาคต

     


    Photo by Sam Deng on Unsplash

     

    ต้นแบบประเทศที่จัดให้มีการเปลี่ยนคนประจำเรือได้อย่างดี

    ในขณะที่วิกฤตการณ์การเปลี่ยนคนประจำเรือในหลาย ๆ ประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ในบางประเทศกลับสามารถจัดการได้ดี ตัวอย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ เราลองมาดูกันครับว่าการเปลี่ยนคนประจำเรือที่สิงคโปร์ เขามีวิธีการอย่างไรบ้าง

    สิงคโปร์ได้ออกข้อกำหนดในการเปลี่ยนคนประจำเรือสำหรับเรือบรรทุกสินค้าในเขตท่าเรือของสิงคโปร์ โดยจะพิจารณาให้เปลี่ยนคนประจำเรือได้ในกรณีต่อไปนี้

    1. คนประจำเรือที่สัญญาจ้างงานหมดอายุ
    2. คนประจำเรือเพิ่มเติมบนเรือซึ่งต้องลงทำการในเรือนอกเหนือไปจากคนประจำเรือปกติ และไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดการในเรื่องความปลอดภัยของเรือ
    3. การเปลี่ยนคนประจำเรือเนื่องจากการซื้อขายเรือ
    4. บุคลากรตำแหน่ง superintendent จากทางออฟฟิศหรือช่างซ่อมต่าง ๆ
    5. เหตุที่ควรเห็นอกเห็นใจคนประจำเรือ เช่น มีการเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัว
    6. ลูกเรือมีปัญหาทางด้านสุขภาพและไม่สามารถทำงานบนเรือต่อไปได้

     

    ส่วนข้อกำหนดของการขึ้นลงจากเรือของคนประจำเรือในสิงคโปร์มีดังต่อไปนี้ครับ

     

    คนประจำเรือที่จะลงทำการในเรือ (Sign on)

    1. โดยทั่วไปคนประจำเรือที่จะไปลงเรือต้องทำการกักตัว 14 วันที่ประเทศ/พื้นที่ของคนประจำเรือก่อนจะถึงวันบินหรือลงเรือไปสิงคโปร์ โดยในระหว่างการกักตัว คนประจำเรือต้องแยกกักตัวจากคนอื่นในห้องที่มีห้องน้ำในตัวอย่างเคร่งครัด ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (รวมถึงสมาชิกในครอบครัว) โดยอาจกักตัวที่บ้านของตัวเองหรือในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อการกักตัว
    2. คนประจำเรือที่มาจากประเทศหรือภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่ำไม่จำเป็นต้องกักตัวหรืออาจกักตัวน้อยกว่า 7 วันก่อนเดินทางไปสิงคโปร์ โดยรายชื่อประเทศ/ภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่ำล่าสุดให้เป็นไปตามที่สิงคโปร์กำหนด
    3. คนประจำเรือต้องผ่านการทดสอบโควิด-19 แบบ PCR และต้องมีผลเป็นลบ [PCR (Polymerase Chain Reaction) คือการตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ โดยจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากการป้ายเยื่อบุในคอหรือป้ายเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก หากเชื้อลงไปในปอด จะต้องนำเสมหะที่อยู่ในปอดออกมาตรวจ] การตรวจแบบ PCR ต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาลหรือ ISO 15189 โดยผลทดสอบที่ได้รับการรับรองในประเทศต้นทาง ต้องมีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางไปสิงคโปร์
    4. คนประจำเรือต้องได้รับการรับรองว่าสุขภาพดีและพร้อมเดินทางจากแพทย์ที่ประเทศต้นทางไม่เกิน 24 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางไปสิงคโปร์
    5. ในระหว่างกระบวนการเปลี่ยนคนประจำเรือทั้งหมด รวมถึงระหว่างการเดินทางไปยังสิงคโปร์ คนประจำเรือไม่ควรอยู่รวมกันมากกว่า 5 คน และถ้าต้องอยู่ในกลุ่มเดียวกัน จะต้องไม่มีการพูดคุยกัน
    6. คนประจำเรือที่จะไปลงทำการในเรือต้องไปลงเรือไม่เกิน 2 วันก่อนที่เรือจะออกจากสิงคโปร์ครั้งสุดท้าย ซึ่งเรือที่ออกเดินทางเพื่อทดสอบทางทะเลและกลับมาที่สิงคโปร์ไม่ถือเป็นการออกเดินทางครั้งสุดท้าย
    7. คนประจำเรือที่จะไปลงเรือต้องรอให้บุคคลจากบกที่มีความเสี่ยงสูงที่ขึ้นไปทำงานบนเรือลงจากเรือให้ครบหมดเสียก่อน โดยบุคคลที่ว่าคือบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคนประจำเรือในพื้นที่ปิด เช่น คนขายของ ช่างที่ขึ้นไปซ่อมหรือให้บริการอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจน superintendent จากทางออฟฟิศ
    8. เจ้าหน้าที่ที่ไปรับคนประจำเรือที่สนามบินเพื่อที่จะไปลงเรือต้องพาลูกเรือไปส่งมอบให้เอเยนต์ เพื่อที่จะส่งต่อไปให้ถึงเรือตามสถานที่และเวลาที่กำหนด
    9. คนประจำเรือที่เพิ่งหายจากโควิด-19 ต้องส่งมอบผลตรวจครั้งล่าสุดที่ตรวจพบว่าเป็นโควิด-19 (ผลเป็นบวก) แบบ PCR ให้ MPA Singapore ทราบดังนี้
      • ถ้าวันที่ทราบผลตรวจว่าเป็นบวกมีเวลา 21 วันหรือน้อยกว่าวันที่เดินทางไปถึงสิงคโปร์ จะไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนคนประจำเรือ
      • ถ้าวันที่ทราบผลตรวจว่าเป็นบวกอยู่ระหว่าง 22 ถึง 180 วันก่อนวันที่จะเดินทางมาถึงสิงคโปร์ คนประจำเรือที่หายจากโควิด-19 คนนั้นไม่เข้าข่ายต้องกักตัวที่บ้านที่ประเทศของตัวเองหรือต้องมีผลตรวจโควิด-19 แบบ PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางไปสิงคโปร์ แต่ถ้าคนประจำเรือคนนั้นมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งของโควิด-19 ต้องถูกตรวจแบบ PCR ใหม่
      • ถ้าวันที่ทราบผลตรวจว่าเป็นบวกมากกว่า 180 วันก่อนวันที่เดินทางมาถึงสิงคโปร์ คนประจำเรือคนนั้นต้องทำการกักตัว 14 วันที่ประเทศ/พื้นที่ของคนประจำเรือก่อนจะถึงวันบินหรือลงเรือไปสิงคโปร์และมีผลตรวจโควิด-19 แบบ PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางไปสิงคโปร์

     

    คนประจำเรือที่จะขึ้นจากเรือกลับบ้าน (Sign off)

    1. คนประจำเรือต้องงดขึ้นฝั่งในช่วง 21 วันก่อนจะถึงวันที่ขึ้นจากเรือ ต้องอยู่บนเรือโดยไม่มีอาการใด ๆ และไม่มีประวัติการติดต่อกับหรือสัมผัสกับผู้ที่สงสัยจะเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ตลอดช่วงเวลานั้น
    2. คนประจำเรือต้องละเว้นจากการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ประจำฝั่งตามเมืองท่าต่าง ๆ ในช่วง 21 วันก่อนวันที่ขึ้นจากเรือ
    3. คนประจำเรือจะต้องได้รับการรับรองว่าสุขภาพดีพร้อมที่จะเดินทางจากแพทย์ในสิงคโปร์ไม่เกิน 24 ชั่วโมงก่อนวันที่ขึ้นจากเรือ สามารถใช้การแพทย์ทางไกลเพื่อรับการประเมินและขอใบรับรองในการเดินทางได้ โดยที่ MPA Singapore จะยอมรับใบรับรองว่าคนประจำเรือมีสุขภาพดีพร้อมที่จะเดินทางจากแพทย์ที่ลงทะเบียนไว้กับ Singapore Medical Council เท่านั้น ซึ่งคุณสมบัติของแพทย์ที่จะสามารถออกใบรับรองได้ต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ MPA Singapore กำหนดไว้
    4. คนประจำเรือที่ผ่านการทดสอบวินิจฉัยโรคโดยการตรวจแอนติบอดีในเลือด (Serology Test) จะต้องอยู่บนเรือจนกว่าผลการทดสอบโดยการตรวจแอนติบอดีในเลือดของเชื้อโควิด-19 มีผลเป็นลบ

     

    นี่เป็นตัวอย่างของมาตรการการควบคุมที่เข้มงวดในการป้องกันไม่ให้คนประจำเรือติดเชื้อหรือแพร่เชื้อระหว่างการเปลี่ยนคนประจำเรือที่น่าสนใจและสามารถเอามาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้ครับ จะอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ต้องเข้มข้นระดับนี้แหละครับ ถ้าเราปล่อยปละละเลยให้ผ่าน ๆ ไป โดยไม่ต้องมีขั้นตอนอะไรมาก โอกาสที่คนประจำเรือจะเป็นพาหะ นำเอาเชื้อจากเรือขึ้นสู่บก หรือ เอาจากบกไปแพร่ให้คนที่อยู่ในเรือ ก็มีสูงเลยทีเดียว

     

    บทความโดย: Old captain never die
    อัปเดต: 4 พฤษภาคม ค.ศ. 2021

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *