สวัสดีปีใหม่ครับ แฟนคลับของ Seamoor Blog ทุกท่าน
ช่วงปีใหม่ได้ไปเที่ยวกันบ้างไหมเอ่ย? ก็เป็นอีกปีที่พวกเราต้องเจียมเนื้อเจียมตัวกับเจ้าโควิด-19 ซึ่งมีสมาขิกใหม่เป็นสายพันธุ์โอมิครอนที่แผลงฤทธิ์ติดง่าย แพร่กระจายเร็วกว่าเก่า พวกเราต้องระวังกันเป็นพิเศษมากยิ่งขึ้น ผมลองคิดเล่น ๆ เองนะครับว่า แม้เราได้ฉีดวัคซีนกันไปแล้ว การติดเชื้อกันเยอะ ๆ ก็ยังเป็นแนวทางธรรมชาติที่เราจะได้ภูมิต้านทานหมู่หลังจากที่เราหายแล้ว เพราะร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานไวรัสตัวนั้น จนในที่สุดโควิด-19 ก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นธรรมดา ๆ ไป แต่ก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าเจ้าไวรัสต้องไม่กลายพันธุ์ไปอีกนะครับ ไม่งั้นสงครามนี้ยืดเยื้อแน่นอน
ไหน ๆ ปีใหม่ที่ผ่านมา ผมไม่เจอแฟน ๆ เลยขออวยพรกันก่อนละกันนะครับ
เนื่องในโอกาสปีใหม่ปีนี้ ขอให้ทุกท่านมีความสุขมาก ๆ ทั้งกายและใจ ที่สำคัญตรวจ RT-PCR หรือ ATK เมื่อไหร่ ก็ให้ผลเป็นลบตลอดไปนะครับ
แน่นอนครับ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่นิ่งและไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ หลายอาชีพหลายธุรกิจล้มหายตายจากไป ถ้าสายป่านไม่ยาวพอ หลายคนตกงานกันเป็นแถว แต่เชื่อไหมครับ อาชีพคนประจำเรือกลับเป็นอาชีพที่มีความต้องการของตลาดสูงอย่างต่อเนื่อง
เพราะคนอยู่บ้านกันมากขึ้น สั่งของให้มาส่งที่บ้าน การขนส่งทางเรือก็เลยทำงานกันจนไม่ได้หลับได้นอน ถ้าใครตามข่าว ปีนี้บริษัท Evergreen ซึ่งเป็นบริษัทเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางทะเล จ่ายโบนัสให้พนักงานถึง 40 เดือน โดยบางคนได้รับโบนัสรายบุคคลประมาณ 2.4 ล้านบาทเลยทีเดียว นั่นก็หมายความว่า เขาได้กำไรกันมหาศาลเลยทีเดียว
การขนส่งสินค้าทางทะเลโดยเรือบรรทุกสินค้าเป็นการขนส่งหลักของโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญครับ ถึงแม้จะมีบางประเทศพยายามพัฒนาการขนส่งทางรางขึ้นมาแทน แต่ด้วย Economy of Scale คือยิ่งขนมาก ต้นทุนก็ยิ่งต่ำลง การขนส่งทางทะเลดูแล้วไม่มีวันล้มหายตายจากไปแน่นอน
ประเทศไทยก็มองเห็นโอกาสนี้ครับ จึงมีโครงการทางด้านการขนส่งทางทะเลขึ้นมามากมาย เราเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดีมากเลยครับ มีทางออกทะเลทั้งสองฝั่ง ดังนั้นเราจึงเคยได้ยินเรื่องการขุดคลองไทย เชื่อมฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย โครงการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เป็นต้น เหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่า ถ้าคุณเข้ามาสู่สายอาชีพเกี่ยวกับการขนส่งทางทะเล คุณไม่น่าจะตกงานแน่นอน
เปิดผลสำรวจเทรนด์ Demand-Supplyคนประจำเรือ
รายงานเกี่ยวกับคนประจำเรือฉบับล่าสุดจาก BIMCO และหอการค้าระหว่างประเทศเตือนว่า อุตสาหกรรมคนประจำเรือต้องเพิ่มระดับการฝึกอบรมและรับคนประจำเรือให้มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนคนประจำเรือ (ที่อาจเกิดขึ้น) ภายในปี 2026 เนื่องจากมีแนวโน้มความต้องการคนประจำเรือที่ผ่านการรับรองของSTCW เพิ่มขึ้น ซึ่งจากรายงานคาดการณ์ว่าจะต้องมีคนประจำเรือระดับนายประจำเรือเพิ่มขึ้น 89,510 คนเพื่อทำให้กองเรือทั่วโลกยังดำเนินการอยู่ได้ พร้อมระบุว่าปัจจุบันมีคนประจำเรืออยู่ประมาณ 1.89 ล้านคนที่ทำงานให้แก่บริษัทสายการเดินเรือทั่วโลกบนเรือมากกว่า 74,000 ลำ
ตัว Seafarer Workforce Report นี้ หรือเดิมเรียกว่า Manpower Report ได้รับความไว้วางใจจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการเดินเรือ หน่วยงาน และรัฐบาลต่าง ๆ ใช้เป็นเครื่องมือการจัดการที่จำเป็นสำหรับพัฒนากลยุทธ์ด้านคนประจำเรือและการฝึกอบรมเพื่อรับประกันว่ากระดูกสันหลังของการขนส่งสินค้าทางทะเลจะมีจำนวนและทักษะที่เพียงพอ ซึ่งรายงานได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากบริษัทเดินเรือ การบริหารการเดินเรือแห่งชาติ และสถาบันการศึกษาและการฝึกอบรมเกี่ยวกับการเดินเรือ
ข้อสรุปหนึ่งที่น่าสนใจในรายงานได้เน้นย้ำถึงการขาดแคลนคนประจำเรือที่ผ่านการรับรองของ STCW จำนวน 26,240 คนในปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับว่าอุปสงค์ (Demand) คนประจำเรือในปี 2021 มีมากกว่าจำนวนคนประจำเรือที่มีอยู่ในตลาดแรงงานทางทะเล ถึงแม้ว่าจะมีการจัดหาคนประจำรือเพิ่มขึ้นแล้ว 10.8% ตั้งแต่ปี 2015
เจาะลึกสถานการณ์กำลังคนประจำเรือย้อนหลังจนถึงปัจจุบัน
นายประจำเรือบางตำแหน่งขาดแคลนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายประจำเรือที่มีประสบการณ์ด้านเทคนิคในระดับบริหาร และในส่วนของเรือบรรทุกน้ำมันและเรือนอกชายฝั่งก็พบการขาดแคลนนายประจำเรือฝ่ายปากเรือในระดับบริหารเช่นกัน
ข่าวดีคือในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเดินเรือสามารถลดอัตราการลาออกของคนประจำเรือจาก 8% เหลือเพียง 6% ถือเป็นการรักษาให้คนประจำเรือที่ผ่านการรับรองให้ยังทำงานอยู่และเพิ่มจำนวนปีการทำงานในทะเล ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ในรายงานปี 2015 ที่พบว่าอายุเฉลี่ยของคนประจำเรือที่ทำงานบนเรือในระดับบริหารและระดับปฏิบัติการนั้นเพิ่มขึ้น
รายงานได้สำรวจความหลากหลายของคนประจำเรือโดยวิเคราะห์ข้อมูลทางประชากรศาสตร์แยกตามอายุ สัญชาติ และเพศ ซึ่งสถิติล่าสุดแสดงให้เห็นถึงความสมดุลทางเพศที่เป็นไปในเชิงบวก พบว่ามีผู้หญิง 24,059 คนทำหน้าที่เป็นคนประจำเรือ เพิ่มขึ้น 45.8% เมื่อเทียบกับปี 2015 โดยเปอร์เซ็นต์ของนักเดินเรือที่ผ่านรับการรับรองของ STCW ที่เป็นผู้หญิงนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ 1.28% ของกำลังคนประจำเรือทั่วโลก และส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในส่วนเรือสำราญและเรือโดยสารข้ามฟาก จำนวนคนประจำเรือหญิงได้มีการกระจายไปทั่วภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น
ในบ้านเราก็มีน้อง ๆ ผู้หญิงที่สนใจไปเรียนเป็นคนประจำเรือกันมากขึ้น ซึ่งอีกไม่กี่ปี เราจะพบพวกเธอไปเป็นนายประจำเรือบนเรือที่ชักธงไทยอย่างแน่นอน
อุปสงค์คนประจำเรือนับจนถึงปัจจุบันปี 2021
ตอนนี้ ผมมีตัวเลขการประมาณการอุปสงค์ประจำเรือทั่วโลกมาบอกแฟนคลับของ Seamoor ทุกท่านครับ
ซึ่งถ้าหากเราต้องการรู้อุปสงค์คนประจำเรือที่แท้จริง เราก็ต้องรู้ตัวเลขจำนวนเรือทั้งหมดที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันในกองเรือโลกเสียก่อน ซึ่งก็จะทำให้เราพอทราบจำนวนคนประจำเรือที่ผ่านการรับรองของ STCW ที่จำเป็นต้องถูกจ้างมาเพื่อปฎิบัติงานบนเรือ
ตัวเลขจากฐานการประเมินของ IHS Fairplay ซึ่งเป็นฐานข้อมูลในอุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเล พบว่าปัจจุบันมีเรือในกองเรือสินค้าโลกทั้งหมด 74,505 ลำ เพิ่มขึ้น 8.4 % จากปี 2015 ที่มีเรืออยู่ 68,723 ลำ และจากจำนวนเรือทั้งหมดนี้ พบเป็นประเภทเรือสินค้าทั่วไปมากที่สุด 29% และนั่นก็จะประเมินได้ว่าในปี 2021 มีอุปสงค์คนประจำเรือเพื่อทำงานบนเรือ 1,881,320 คน แยกเป็นนายประจำเรือ (Officer) 883,780 คนและลูกเรือ (Rating) 997,540 คน
เมื่อเทียบกับปี 2015 จะพบว่าอุปสงค์นั้นเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของจำนวนเรือในกองเรือสินค้า จึงเท่ากับว่ารวม ๆ แล้วต้องการคนประจำเรือเพิ่มขึ้น 336,320 คน ซึ่งแยกเป็นอุปสงค์ตำแหน่งนายประจำเรือเพิ่มขึ้น 11.8% และอุปสงค์ระดับลูกเรือเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 30%
มีข้อสังเกตว่าเปอร์เซ็นต์ความต้องการตำแหน่งนายประจำเรือที่เพิ่มขึ้นนั้นมีมากเกินกว่าเปอร์เซ็นต์การเติบโตของจำนวนคนในตำแหน่งนี้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม 1% แปลง่าย ๆ ก็คือเกิดการขาดแคลนคนในตำแหน่งนายประจำเรือนั่นเองครับ
ประมาณการอุปสงค์คนประจำเรือที่ผ่านการรับรองของ STCW
หากลองแยกเป็นอุปสงค์ตามประเภทเรือจะพบว่าเรือประเภท General cargo ships, Bulk carriers และ Offshore vessels คือกลุ่มประเภทเรือที่ต้องการคนในตำแหน่งนายประจำเรือและลูกเรือเป็นจำนวนที่มากที่สุด
ประมาณการอุปสงค์คนประจำเรือโดยแยกประเภทเรือ
การฝึกอบรม การจ้างงาน และการรักษากำลังคน (Training, Recruitment and Retention)
ระดับและคุณภาพของการฝึกอบรม ร่วมกับแนวโน้มในการจ้างงานและการรักษาคนประจำเรือ คือส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อความสมดุลของ Demand-Supply ของแรงงานคนประจำเรือโลก (Seafarer workforce)
รายงานพบว่า ตั้งแต่ปี 2015 มีปัจจัยชี้ว่ามีนักเรียนฝึกงานบนเรือ (Officer cadet) เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนนักเรียนฝึกงานต่อคนประจำเรือที่ผ่านมาตรฐาน (Qualified officer) อยู่ที่ 1:4.8 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1:7.6 ในปี 2015
เมื่อต้องจ้างงานคนประจำเรือที่ผ่านการรับรองของ STCW บริษัทต่าง ๆ ให้ข้อมูลว่ามีความยากในการจ้าง Engineering Officer และ Electro Technical Officer มากที่สุด ซึ่งพวกเขาได้หันไปเลือกทางที่ง่ายกว่าด้วยการจ้างลูกเรือ (Rating) ที่ทำงานได้ทั้งฝ่ายปากเรือและห้องเครื่อง
ในปี 2015 เคยคาดการณ์อัตราการลาออกของพนักงาน (Turnover rate) ของคนประจำเรือที่ผ่านการรับรองของ STCW ไว้ที่ 8.62% แต่จากข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นที่ได้รับรายงานจากบริษัทต่าง ๆ พบว่าเกิดขึ้นเพียง 6.2% และอัตราการลาออกของพนักงานประจำปี 2020 อยู่ที่ 4.5% ซึ่งที่เป็นแบบนี้เพราะอาจมีปัจจัยข้อกำหนดที่เข้มงวดและความไม่แน่นอนของการจ้างงานอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราการลาออกให้ออกมาค่อนข้างต่ำ
สรุปโดยรวมแล้ว สถานการณ์การจ้างงานโดยรวมยังชี้แนวโน้มความต้องการคนประจำเรือที่ชัดเจนจากบริษัทต่าง ๆ ซึ่งยืนยันถึงระดับอุปสงค์คนประจำเรือที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ในตอนท้ายรายงานได้เตือนถึงการขาดแคลนคนประจำเรือภายในปี 2026 ตามที่เล่าไปก่อนตอนต้น และเพื่อที่จะตอบสนองต่ออุปสงค์คนประจำเรือในอนาคตให้เพียงพอ อุตสาหกรรมนี้ต้องส่งเสริมอาชีพในทะเลอย่างจริงจังและส่งเสริมการศึกษาทางทะเลและการฝึกอบรมทั่วโลก โดยมุ่งเน้นทักษะที่หลากหลายที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงทางดิจิทัลมากขึ้น นี่เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิดและพบกับข้อกังวลว่าคนประจำเรือหันหลังให้กับอาชีพในการเดินเรือ อุตสาหกรรมต้องวิเคราะห์และตอบสนองต่อแนวโน้มในการดูแลรักษาคนเดินเรือและติดตามตรวจสอบกำลังคนประจำเรือเรือทั่วโลกอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าอุปทานของคนประจำเรือที่ผ่านการรับรองของ STCW ยังคงเพียงพอกับความต้องการ
ผมเล่าให้ฟังมาถึงตรงนี้ พอมองเห็นโอกาสของงานเรือกันบ้างหรือยังครับ?
แชร์ประสบการณ์จากมุมมองคนทำงานในอุตสาหกรรมทางทะเล
อย่างที่ผมเล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นแหละครับ ยิ่งโควิดมา งานคนประจำเรือยิ่งต้องทำงานมากขึ้น และมีความต้องการจากบริษัทเรือและเจ้าของเรือมากยิ่งขึ้น เพราะมาตรการทางสาธารณสุขจากภาครัฐทำให้การเปลี่ยนคนประจำเรือทำได้ยาก ยิ่งบางประเทศห้ามเปลี่ยนคนประจำเรือกันเลยทีเดียว แต่พอในบ้านเราผ่อนคลายมาตรการบางเรื่องในการเปลี่ยนคนประจำเรือ บริษัทเรือหลายบริษัทหันหัวเรือมาเปลี่ยนคนประจำเรือในประเทศไทยและใช้คนประจำเรือไทยแทนคนต่างชาติ นั่นทำให้คนประจำเรือบางตำแหน่ง เช่น นายท้ายและช่างน้ำมัน ถึงขนาดขาดแคลนเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างเรือที่ให้บริการนอกชายฝั่ง เมื่อก่อนใช้ชาวต่างชาติทำงานบนเรือ พอน่านฟ้าปิด ไม่มีสายการบินเข้าประเทศไทย บริษัทที่ดูแลเรือนอกชายฝั่งทั้งหลายเลยหันมาใช้บริการคนประจำเรือไทย ทำให้คนที่ทำงานบนเรือบรรทุกสินค้าทั้งหลายหันเหไปทำงานบนเรือที่ให้บริการนอกชายฝั่งเป็นจำนวนมาก เพราะได้เงินเดือนดีกว่า
ที่สำคัญ บริษัท Manning Agency ในบ้านเราเข้มแข็งมากขึ้น สามารถส่งออกคนประจำเรือไทยไปทำงานบนเรือต่างชาติมากขึ้น ทำให้ในปัจจุบัน คนประจำเรือไทยก็ขาดแคลนตาม ๆ กันเลยทีเดียว
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วเริ่มสนใจในงานคนประจำเรือ ผมว่าคุณเริ่มมาถูกทางแล้วล่ะครับ
การทำงานกลางทะเลเป็นอาชีพที่ท้าทายและต้องการคนที่เข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจครับ เพราะต้องผจญกับคลื่นลมและอันตรายบนเรือ แต่ไม่ต้องห่วงนะครับ เขามีระบบดูแลความปลอดภัยอย่างดีเยี่ยม ถ้าคุณปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด ก็เลิกกังวลตรงจุดนี้ไปได้เลย
เอาตัวอย่างง่าย ๆ จากประสบการณ์ผมก็แล้วกัน ผมทำงานเรือมาเกือบ 20 ปี ผมไม่เคยหัวแตกบนเรือ จากเด็กผู้ชายที่ไม่มีอะไร เงินเดือนจากคนประจำเรือทำให้ผมมีอพาร์ตเม้นต์และโรงแรมเล็ก ๆ เป็นของตัวเองได้ละกัน ผมทำได้ คุณก็ทำได้ครับ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ นะครับ ยังมีคนที่ประสบความสำเร็จ มีทรัพย์สินเงินทองจากพื้นฐานการเป็นคนประจำเรือมาก่อนอีกมากมาย
ถ้าจะมองถึงการส่งเสริมอาชีพคนประจำเรือจากทางภาครัฐ ผมมีความภูมิใจจะแจ้งพวกเราว่า ณ ปัจจุบันรัฐบาลไทยลงนามยอมรับอาชีพคนประจำเรือพาณิชย์ต่อองค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ว่าเป็นอาชีพหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในยามวิกฤติโดวิด 19 แล้ว ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับอาชีพคนประจำเรือ โดยจะอำนวยความสะดวกการเปลี่ยนคนประจำเรือ รวมถึงให้การดูแลสนับสนุนให้คนประจำเรือปฏิบัติหน้าที่ได้ อย่างดีเมื่อเรืออยู่ในท่าเรือของแต่ละประเทศ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งรวมทั้ง อาหาร พลังงาน เวชภัณฑ์ ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยเพื่อประโยชน์สุขของประชากรโลกในยามวิกฤตินี้ครับ
รายชื่อรัฐสมาชิกและสมาชิกสมทบที่กำหนดให้คนประจำเรือเป็นอาชีพหลักสำคัญ
หลายคนอาจจะถามผมว่า แล้วแบบนี้ ผมควรจะไปสมัครเรียนหรือสมัครทำงานเป็นนายประจำเรือและลูกเรือดีครับ
ในความเห็นส่วนตัว ผมว่าใคร ๆ ก็อยากทำงานในตำแหน่งสูง ๆ เงินเดือนเยอะ ๆ กันทั้งนั้นแหละครับ แต่มันต้องแลกมาด้วยความรับผิดชอบที่มากมายมหาศาล ผมว่าขึ้นอยู่กับความพร้อมของคุณด้วยนะครับ บางคนไม่เคยเป็นคนประจำเรือมาก่อน อยากลงทำงานเลย ก็คงต้องเริ่มจากตำแหน่งลูกเรือไปก่อน เพราะไม่ต้องไปเรียน ไปอบรมหรือสอบอะไรมากมาย จากนั้นก็ค่อย ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานบนเรือไปอบรมและสอบเลื่อนประกาศนียบัตรในภายหลัง ส่วนบางคนรอได้หน่อย ก็อาจจะไปอบรมไปสอบให้พร้อมก่อน แล้วค่อยไปลงเรือก็ได้เช่นกัน ก็แล้วแต่ความพอใจของแต่ละคนครับ ส่วนความก้าวหน้าในอาชีพการงานนั้นขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นตั้งใจของคุณมากกว่า ผมเห็นหลายคนเริ่มจากตำแหน่งบริกรบนเรือแล้วก้าวขึ้นไปเป็นกัปตันเรือก็มีมากมายครับ
ส่วนประกอบของความก้าวหน้าในงานคนประจำเรืออย่างหนึ่งก็คือภาษาอังกฤษครับ เพราะเราจะสามารถไปทำงานกับเรือที่ชักธงสัญชาติอื่น ๆ ที่มีคนต่างชาติอยู่บนเรือได้ ส่วนใหญ่จุดอ่อนของคนประจำเรือไทยก็อยู่ตรงภาษาอังกฤษนี่แหละครับ ผมเห็นใครที่ก้าวข้ามข้อจำกัดตรงนี้ได้เป็นได้ดีกันทุกคน ดังนั้นอย่าท้อนะครับ ใช้มันบ่อย ๆ ฝึกมันบ่อย ๆ เดี๋ยวก็เก่งเอง อีกอย่างก็เรื่องความรู้ความสามารถก็ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าพูดเก่งอย่างเดียวแต่ทำงานไม่ได้เรื่อง เขาก็ไม่จ้างเหมือนกันนะครับ ส่วนความสามารถอีกเรื่องที่ต้องมีเพิ่มเติม ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องพวกคอมพิวเตอร์หรือระบบดิจิทัลทั้งหลายครับ เพราะระบบการบริหารจัดการบนเรือใช้ซอฟต์แวร์ (Software) หรือแอปพลิเคชัน (Application) กันแล้ว ถ้าเราไม่ชอบเรื่องพวกนี้ก็จะกลายเป็นยาขมในการทำงานไปโดยปริยายครับ
บางคนสงสัยว่า แล้วผมต้องอยู่เรือไปทั้งชีวิตเหรอ ก็แล้วแต่คนชอบอีกล่ะครับ หลายคนต้องการความเป็นอิสระ ทำงานหน้าเดียวไม่อยากวุ่นวายกับคนมาก ๆ มีอาหารทานฟรี 3 มื้อ มีแอร์เย็น ๆ นอนตลอด ก็เลือกที่จะทำงานเรือไปจนเกษียณก็มี บางคนทำงานไปสักพักแล้วย้ายตัวเองไปทำงานบนบกที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ ท่าเรือหรืออื่น ๆ ก็เติบโตเป็นผู้บริหารกันไปเยอะแยะ หรือบางคนเก็บเงินเก็บทอง พอเลิกงานเรือก็ไปทำธุรกิจส่วนตัวประสบความสำเร็จร่ำรวยกว่าตอนอยู่เรือก็ตั้งมาก เลือกเอาครับว่าอยากเป็นแบบไหน แต่ที่สำคัญคือลงมือทำแล้วไปให้สุดครับ รับรองได้ดีกันทุกคน
คาดการณ์สมดุล Demad-Supply คนประจำเรือในอนาคต
การคาดการณ์นี้อยู่บนพื้นฐานอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีของกองเรือโลก (Compounded Annual Growth Rate-CAGR) ที่ 1.25% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
คาดการณ์เบื้องต้นสำหรับอุปสงค์คนประจำเรือปี 2026 มีอยู่ว่า เพื่อที่จะให้เพียงพอกับอุปสงค์นายประจำเรือ 947,050 คน ต้องมีนายประจำเรือ 17,902 คนเข้าสู่ระบบแรงงานทางทะเลในแต่ละปีถัดไปนับจากนี้ คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเติบโตในปัจจุบันที่มีการประเมินไว้ที่ 2.4% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2010
คาดการณ์อุปสงค์คนประจำเรือปี 2026
นอกจากนี้ ยังได้ลองวิเคราะห์คาดการณ์อุปสงค์คนประจำเรือเมื่ออัตราการเติบโตของกองเรือโลกที่ระดับสูงสุดและต่ำสุด ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ความต้องการของตลาดก็แสดงแนวโน้มไปในทางเดียวกันคือเพิ่มขึ้น
ถ้าไม่รักกันจริง ไม่ชวนครับ
งานคนประจำเรือยังเปิดกว้างมาก ๆ สำหรับทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง จะหางานที่ไหนที่โอกาสตกงานแทบไม่มี แต่ตัวเราต้องมีคุณภาพด้วยนะครับ เป็นงานที่ไม่ค่อยมีคู่แข่ง เพราะกว่าจะทำตัวเองให้พร้อมลงไปทำงานบนเรือได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และเป็นอาชีพที่สร้างเนื้อสร้างตัวไปอย่างรวดเร็ว หลายคนบอกถ้าเงินเดือนคนประจำเรือ 2 หมื่น ขายก๋วยเตี๋ยวอยู่บ้านดีกว่า แต่ถ้าอยู่เรือ คุณมีอาหารกินฟรี ค่าน้ำไฟไม่ต้องเสีย ไม่ต้องเสียค่าเดินทางไปทำงาน เงินเดือนถ้ารู้จักเก็บ ก็รับไปเต็ม ๆ
รู้แบบนี้ ตัดสินใจได้เลยครับ หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม ติดต่อผ่าน Admin ของ Seamoor blog นะครับ ผมยินดีที่จะตอบทุกข้อสงสัยครับ
บทความโดย: Old captain never die
อัปเดต: มกราคม ค.ศ. 2022