ผมเป็นคนประจำเรือมืออาชีพ: จุดเริ่มต้นของชีวิตคนประจำเรือ

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    ผมอยากชวนพวกเราคุยเล่นกันก่อน มีคำถามง่าย ๆ ว่า ‘สมัยเด็ก เคยฝันอยากเป็นอะไรบ้างครับ?’

    สำหรับผม เนื่องจากเป็นลูกหลานของทหารรบพิเศษที่ลพบุรี ความตั้งในเดียวของผมคือสอบเข้าโรงเรียนนายร้อย จปร. ให้ได้ แล้วออกไปเป็นทหารรบพิเศษแบบพ่อ
     

    ชีวิตเหมือนถูกกำหนดให้ได้ทำงานเรือ

    สมัยก่อนตอนเรียนชั้น ม.5 ผมเคยใช้ใบรับรองว่ากำลังเรียนการศึกษานอกโรงเรียนไปสอบที่โรงเรียนนายร้อยฯ แล้วก็ดันสอบติด แต่พอผลการสอบสุดท้ายของการศึกษานอกโรงเรียนออก ผมผ่านทุกวิชาแต่ดันตกวิชาภาษาอังกฤษไป 2 คะแนน เลยอดได้พาสชั้น ม.6 และที่สำคัญอดได้ไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ตามที่หวัง จากนั้นพอจบ ม.6 ไปสอบจริง ๆ คราวนี้ดันสอบไม่ติด ปีต่อมาผมพยายามอีกครั้งทั้ง ๆ ที่ปีนั้นผมควรสอบติดด้วยประการทั้งปวงเพราะสอบได้ที่ 2 ของการสอบประเมินผลของโรงเรียนกวดวิชาดัง แต่ด้วยโชคชะตาที่ผมต้องไปทำงานเรือและผมจะไม่ได้เป็นทหารมันก็ทำงาน

    วันที่ผมไปสอบ จปร. เกิดรถชนขวางทางจนผมไปเข้าห้องสอบเกือบสาย เหงื่อแตกซกไปหมด ตอนทำข้อสอบ คิดอะไรไม่ออกจึงสอบไม่ติดโรงเรียนนายร้อย จปร. ในที่สุด แต่เชื่อไหมครับ ปีนั้นผมสอบติดทุกที่ที่ไปสมัคร รวมทั้งคณะนิติศาสตร์จุฬาฯ และแน่นอนที่ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีด้วย

    นั่นเป็นเรื่องราวที่ผ่านมาสมัยเด็กของผมครับ

    แล้วด้วยความที่ผมบ้าเครื่องแบบ (ว่างั้นก็ได้) ผมก็เลยเลือกเรียนที่ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี ทั้ง ๆ ที่ ยังไม่รู้จริง ๆ จัง ๆ ว่า เรียนจบแล้วจะไปทำงานแบบไหน และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเป็นคนประจำเรือของผม ซึ่งผมกำลังจะเล่าให้พวกเราฟังครับ
     

    การสอบเข้าเรียนอันเข้มข้นเพื่อวัดความตั้งใจจริง

    ผมรู้จักศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีหลังจากจบ ม.6 จากน้องสาวที่เอาโบรชัวร์มาให้ดูเพราะมีรุ่นพี่ที่โรงเรียนเธอเข้าไปเรียน ตอนแรกผมยังเข้าใจว่าเป็นพวกโรงเรียนพาณิชยการที่สาว ๆ สมัยนั้นชอบเข้าไปเรียนกัน เพราะเครื่องแบบสวยดี ตอนแรกไม่สนใจด้วยซ้ำ แต่พอเห็นเครื่องแบบของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ก็ปิ๊งขึ้นมาทันที มันก็เท่ระดับน้อง ๆ รร.นายร้อย จปร. ในฝันของผมเลยแหละ และน่าจะพอทดแทนความผิดหวังได้ ก็เลยยอมไปสมัครสอบและได้ไปเรียนในที่สุด

    ผมเข้าไปเรียนที่ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีที่ปากน้ำเป็นรุ่นแรกครับ สมัยก่อนรุ่นพี่ ๆ เขาจะเรียนกันที่กรมเจ้าท่าครับ เขาเพิ่งมาสร้างโรงเรียนใหม่ที่ปากน้ำเสร็จ ซึ่งยังเสร็จไม่ดีหรอกครับ สนามหญ้าฟุตบอลแห่งเดียวของโรงเรียนยังมีพวกเศษเหล็กจากการก่อสร้างโผล่มาอยู่เลย รุ่นผมเป็นรุ่นแรกที่ถูกให้เรียนแบบใหม่ 2 ระบบคือ เรียนภาคทฤษฎีที่โรงเรียน 3 ปีครึ่ง และไปฝึกภาคปฏิบัติกับเรือบรรทุกสินค้าอีก 1 ปีครึ่ง รวมทั้งหมด 5 ปีครับ รุ่นก่อนผม เขาเรียนปี 1 กับปี 2 ที่โรงเรียน พอปี 3 ไปฝึกงานกับเรือสินค้า พอปี 4 ก็กลับมาเรียนที่โรงเรียน และไปฝึกงานกับเรือสินค้าอีกทีตอนปี 5 ถึงจะจบ และจบมาก็ได้แค่ประกาศนียบัตร ไม่ได้ปริญญาตรี แต่เราสามารถเอาประกาศนียบัตรของเราไปทำเทียบเท่าที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้ ผมเองก็ใช้วุฒิเทียบเท่านี้ไปสอบเข้าเรียนระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อได้

    การสอบเข้าศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีในสมัยนั้น ต้องสอบถึง 5 รอบด้วยกัน และอัตราการแข่งขันของคนที่มาสอบก็ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว น่าจะประมาณ 1:20 หรืออะไรประมาณนั้น รุ่นผมรับทั้งหมด 80 คนครับ ปากเรือ 50 คนและห้องเครื่อง 30 คน รอบแรกสอบข้อเขียน ก็เป็นข้อสอบของเด็กที่เรียนสายวิทย์ในความเห็นของผมว่าไม่ค่อยยากเท่าไหร่ หลังจากมีชื่อติดรอบข้อเขียน ก็ไปสอบรอบที่ 2 เป็นพลศึกษาต่อ รู้สึกจะมีซิตอัพ, วิดพื้น, วิ่ง 1 ก.ม. และว่ายน้ำ 50 ม. ผมผ่านฉลุยเพราะเตรียมร่างกายตั้งแต่ตอนไปสอบเข้า จปร.แล้ว รอบที่ 3 เป็นสัมภาษณ์ ก็ถามปัญหาทั่ว ๆ ไปสลับกับแนว ๆ ความรู้บ้างนิดหน่อย รอบที่ 4 เป็นการตรวจร่างกาย จำได้ว่าเป็นการไปแก้ผ้าต่อหน้าธารกำนัลเป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะหมอต้องตรวจความสมบูรณ์ ‘ทุกส่วน’ ของร่างกาย หลังจากผ่านทุกรอบ ก็ถึงด่านสำคัญคือ รอบที่ 5 ความถนัดทางทะเล

    เขาจะให้ผู้ที่ผ่านทั้ง 4 รอบไปลงเรือวิสูตรสาคร ซึ่งเป็นเรือฝึกของโรงเรียน แล้วไปออกไปใช้ชีวิตบนเรือในทะเล 3 วัน 2 คืน จำได้ว่าออกไปแถวเกาะล้าน เกาะเสม็ด มีการไปสอบว่ายน้ำในทะเลอีกรอบด้วย จุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้ไปดูว่า ถ้าไปเจอคลื่นหนัก ๆ จะเมาเรือไหม และไปดูไปเห็นว่างานที่จะต้องไปทำในอนาคตว่าเป็นแบบไหน เพื่อประกอบการตัดสินใจ ตอนนั้นผมไม่คิดอะไร ตื่นเต้นอย่างเดียวได้ไปลงเรือใหญ่ ๆ ออกทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต และตัดสินใจในทันทีว่า เรียนที่นี่แหละ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องไปเจออะไรบ้าง

    สรุปแล้วผมสอบติดศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี และเข้าไปเรียนวันแรกคือวันที่ 16 มิ.ย. 2531 นั่นคือ 35 ปีมาแล้ว
     

    ชีวิตวัยเรียนเข้มครบรส

    ถึงแม้ว่าในปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมากมายจนเด็กรุ่นใหม่ ๆ อาจจะมองว่างานเรือเป็นงานที่ค่อนข้างลำบาก ไกลบ้าน ส่วนเงินเดือน ถ้าหาขายของออนไลน์ดี ๆ บางทีอาจได้เงินมากกว่าเงินเดือนคนประจำเรือด้วยซ้ำไป แต่ผมก็ยังอยากให้กำลังใจสำหรับสุภาพบุรุษลูกผู้ชายที่มุ่งมั่นได้ลองไปสัมผัส ไปเปิดหูเปิดตาดูโลกกว้างด้วยตาของตัวเองแทนการไปตามรอยใครใน Youtube ผมว่างานคนประจำเรือเป็นโอกาสสำหรับทุก ๆ คนครับ ลองศึกษาหารายละเอียดกันดู หรือถ้าสงสัยผมยินดีให้คำแนะนำครับ

    ช่วงเข้าไปเรียนปีแรก ๆ ก็ค่อนข้างลำบากพอสมควร ถนนสุขุมวิทจากสี่แยกบางนาไปปากน้ำที่กำลังสร้างถนนนั้นเป็นลูกรัง ซอยวัดบางนางเกรงทางเข้าศูนย์ฝึกฯ ก็น้ำท่วมทุกวันที่เป็นช่วงน้ำขึ้น หอพักภายในศูนย์ฝึกฯ ก็ยังไม่พร้อมเพราะเพิ่งเปิดใหม่ น้ำประปาก็ไหลบ้างไม่ไหลบ้าง เชื่อไหมว่าบางวัน ผมต้องอาศัยน้ำในถังพักชักโครกเป็นน้ำอาบ (น้ำในถังพักด้านหลังนะครับ ไม่ใช่ในชักโครก) บางวันเหนียวตัว ก็ต้องลงไปกระโดดสระว่ายน้ำ เพราะคิดว่าอย่างน้อยก็ได้น้ำล้างเหงื่อ แต่พอไม่มีน้ำประปาล้างตัวตอนเลิก คลอรีนในสระว่ายน้ำติดตัวขึ้นมาเหนียวหนักกว่าเดิมอีก ในเทอมแรก ผมนับเวลาเรียนได้เลย บางวันอาจารย์มาถึงหน้าปากซอย น้ำท่วมเข้าไม่ได้ ก็กลับ พอรุ่นน้องอย่างผมว่าง รุ่นพี่ก็ว่าง ก็เลยต้องหากิจกรรมทำกัน

    ศูนย์ฝึกฯ ปลูกฝังให้นักเรียนใช้ระบบพี่ปกครองน้อง นัยว่าเพื่อฝึกให้เหมือนกับการทำงานบนเรือ เราเชื่อในระบบ Seniority หรือพี่ปกครองน้องมาก ๆ ซึ่งในระบบนี้กิจกรรมที่บรรดาพี่ ๆ โปรดปรานมากก็คือ ‘แดกน้อง’ โทษที ๆ ใช้คำไม่สุภาพไปหน่อย เรียกว่า PT หรือ Physical Training ดีกว่าครับ คือการหากิจกรรมให้น้อง ๆ ไปออกกำลังกายตามสั่ง เช่น วิดพื้นไปจนกว่าพี่จะเหนื่อย, วิ่งแบกที่นอน, แทงปลาไหลไปจนกว่าพี่จะเมื่อย เรียกว่าสารพัดจะสรรหาเพื่อให้น้อง ๆ ได้มีสุขภาพแข็งแรงกันถ้วนหน้า ช่วงนั้นซิกแพ็กผมขึ้นสวยเลยละกัน เพื่อน ๆหลาย ๆ คนที่ไม่คุ้นเคย ก็จะบ่น ๆ หน่อย แต่สำหรับผม ผมว่าเป็นเรื่องสนุกด้วยซ้ำ

    เรื่องเรียนไม่ค่อยเป็นปัญหาสำหรับผมเท่าไหร่ครับ คงเพราะได้อานิสงค์มาจากเรียนมาอย่างหนักช่วงก่อนสอบเข้า แต่ปัญหาอย่างเดียวของผมคือ ห้องเรียนบนอาคารเรียนรูปเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงบ่าย ๆ ลมเย็น ๆ เป็นช่วงปราบเซียนอย่างผมมาก ยิ่งถ้าเป็นวิชาที่ท่องจำ ไม่ได้ใช้การคำนวณอะไร ถึงขนาดต้องถ่างตาเรียน เรามีคำศัพท์เก๋ ๆ ว่า ‘ส่งตัวแทนเรียน’ คือไอ้พวกหน่วยกล้าตายจะไปนั่งหน้าห้อง (ซึ่งผมเป็นหนึ่งในนั้น) คอยตอบคำถามอาจารย์เพื่อให้เพื่อน ๆ หลังห้องได้หลับอย่างเป็นสุข ฮ่า ๆๆๆ บางคนนี่พออาจารย์อ้าปากสอน มันก็เอาหน้าฟุบกับกระเป๋าเจมส์บอนด์ (กระเป๋านักเรียน) กันแล้ว บางคนที่นอนนี่ดึก ๆ ดื่นๆ ก็ไม่ยอมนอน พอถามว่าทำไม มันบอกว่า นอนเต็มอิ่มมาจากในชั่วโมงเรียนแล้ว

    เราชอบปลอบใจกันว่า เรียนที่ศูนย์ฝึก ‘เรียน ๆ หลับ ๆ รับเงินเป็นหมื่น’ หรือไม่ก็ ‘เรียน ๆ ลอก ๆ ไปนอกทุกปี’ แล้วมันก็ดันเป็นจริงซะด้วยสิ ผมเห็นเพื่อน ๆ ที่มันหลับประจำ ปัจจุบันเป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทเรือในบ้านเราด้วยซ้ำ

    ส่วนผมช่วงเป็นนักเรียนมักจะต้องเป็นผู้รับบทบาทติวเตอร์ในวิชาคำนวณให้เพื่อน ๆ เก็งข้อสอบทำโพยให้ บางทีทำโพยให้มันไปอ่านกันช้า มีโดนด่าอีกต่างหาก สมุดจดทุกวิชาของผม เพื่อน ๆ มันเอาไปถ่ายเอกสารเอาไปอ่าน แล้วบอกผมว่า มึงเรียนก็เหมือนกูเรียนแหละ ผมจบจากศูนย์ฝึกฯ ด้วยคะแนนเฉลี่ย 80.25% (สมัยผมยังเรียนกันเป็น % อยู่เลย) ถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็เกรด 4 ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเชียวนา แต่พอถึงเวลาเลือกบริษัทเรือฝึกภาคทะเล ตามลำดับคะแนน ผมดันต้องไปเลือกบริษัทเรือที่จะไปฝึกงานด้วยเป็นลำดับท้าย ๆ ของรุ่นเลย ถามว่าทำไม่นะเหรอ มีเรื่องเล่าต่อครับ
     

    ทฤษฎีในห้องก็ดีแต่ไปลองของจริงมันฟินกว่า

    ตอนช่วงปิดเทอมตอนปี 2 ผมอยู่ว่าง ๆ ไม่รู้จะทำอะไร เลยไปสมัครฝึกงานระยะสั้นกับบริษัทไทยเดินเรือทะเล เป็นเรือบรรทุกสินค้าทั่วไป ชื่อเรือ ‘พิพัฒน์สมุทร’ วิ่งรับส่งสินค้าระหว่างญี่ปุ่นกับกรุงเทพฯ เที่ยวหนึ่งก็ประมาณ 45 วัน ผมได้ไปญี่ปุ่นครั้งแรกก็ตอนนั้น รู้สึกว่าประเทศนี้มันน่าอยู่มาก ๆ ทันสมัยและเป็นระเบียยเรียบร้อย แต่เสียอย่างเดียวคือสาวญี่ปุ่นตามท้องถนนไม่เห็นสวยเหมือนในหนังสือเลย เมืองท่าแรกที่เข้าญี่ปุ่นคือเมือง Kagoshima ทางตอนใต้ของประเทศญึ่ปุ่น ได้เห็นภูเขาไฟครั้งแรกตื่นตาตื่นใจมาก ๆ พอเรือเข้าโตเกียวก็ได้ไปเที่ยวโตเกียวดิสนีย์แลนด์ด้วย และสิ่งที่เรือไทยที่เข้าญี่ปุ่นทุกลำสมัยนั้นมองหาคือเครื่องไฟฟ้ามือ 2 ที่ใช้ไฟ 110V ราคาถูกมาก สเตอริโอยี่ห้อดี ๆ ชุดใหญ่ ๆ บางทีราคาพันกว่าบาทเอง ตู้เย็นสูงท่วมหัวราคาห้าร้อยบาท แถมใช้ดี มาอาศัยหาหม้อแปลงไฟเป็น 220V หน่อย ผมได้อิเล็กโทนมา 1 เครื่อง แต่พอมาถึงเมืองไทย ต้องมาเสียค่าเหยียบให้กับเจ้าหน้าที่ในบ้านเรา ไม่งั้นเอาลงจากเรือไม่ได้ สนนราคาก็ว่ากันตามแต่ต่อรอง

    ผมไปได้วิชาเดินเรือและงานสินค้าจากการไปฝึกกับเรือในระยะสั้น ๆ นั้นเยอะมาก และคิดว่าคิดถูกที่ไปเพราะเป็นประสบการณ์อันล้ำค่า แต่ศูนย์ฝึกฯ ไม่คิดแบบนั้น เขาบอกผมว่า ไปทำงานบนเรือโดยไม่แจ้งทางศูนย์ฝึกฯ ผมมานั่งคิดก็มันช่วงปิดเทอม ผมจะทำอะไรมันก็เรื่องของผมหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ต่อรองไม่เป็นผล ผมโดนตัดคะแนนความประพฤติ 50 คะแนน แล้วการเลือกบริษัทเรือ เขานับทั้งคะแนนเรียนและคะแนนความประพฤติรวมกัน จนในที่สุดผมต้องเลือกบริษัทเรือต่อจากเพื่อน ๆ ในเกือบลำดับท้าย ๆ จนกลายมาเป็นตำนานบทหนึ่งของนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ในรุ่นของผม เป็นบทเรียนที่ผมจดจำและตั้งใจว่า เมื่อผมเป็นคนประจำเรือ เหตุการณ์นั้นต้องไม่เกิดกับผมอีกส่วนจะเป็นเรื่องอะไร อดใจรออ่านในตอนต่อไปนะครับ รับรองสนุกแน่ ๆ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: พฤษภาคม ค.ศ. 2023

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *