Old Captain เล่าเรื่องน่ารู้ของโควิด-19และวิธีป้องกันตัวในสไตล์คนประจำเรือ

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับคนประจำเรือทุกท่าน 

    ช่วงนี้โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง และดูท่าจะรุนแรงและรวดเร็วกว่าทุก ๆ รอบที่ผ่านมา มาตรการทางภาครัฐบังคับใช้จะมีผลกับคนประจำเรือแน่ ๆ ไม่มากก็น้อย ก็อยากจะให้พวกเราเข้าใจในสถานการณ์ตรงนี้ให้มาก ๆ เพราะผมเข้าใจว่าทางฝ่ายจัดการคนประจำเรือของแต่ละบริษัทฯ คงอยากจะดูแลพวกเราอย่างเต็มที่ในการจัดคนขึ้นลงให้ได้ตามแผน แต่ด้วยสถานการณ์ระบาดและมาตรการต่าง ๆ เราก็ต้องดูแลภาพรวมให้ดีที่สุด 

    ลองนึกดูนะครับ ถ้าเกิดมีลูกเรือสักคนบนเรือติดโควิด-19 ขึ้นมา ไม่ว่าจากสาเหตุที่คนที่อยู่บนเรืออยู่แล้วไปติดเชื้อตอนขึ้นบกหรือจากคนที่ sign-on นำไปแพร่เชื้อบนเรือ (ถึงแม้จะมีผลตรวจโควิดเป็น negative แต่ก่อนลงเรือ 1 วันแอบไปฉลองหมูกระทะมา ก็อาจรับเชื้อมาแล้ว) โอกาสที่เราจะติดกันทั้งลำมีสูงมากเลยทีเดียว การดูแลทางสาธารณสุขก็ดูเริ่มจะยากนะครับ ผู้ป่วยอาจล้นโรงพยาบาล หมอและพยาบาลบางที่ก็ติดเชื้อเองจนต้องกักตัวกันทั้งโรงพยาบาล ทำให้ไม่มีคนทำงาน ไหนจะอ่อนล้าจากที่ต้องดูแลคนไข้มาเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน การที่เราติดเชื้อขึ้นมา ทางที่ดีก็ควรป้องกันตัวเองและอย่าเผลอไปเสี่ยงรับเชื้อมาดีกว่าครับ 

    พอเห็นแบบนี้แล้ว ผมเลยอยากจะเล่าให้พวกเราฟังถึงการรับมือเจ้าโควิด-19 ในแบบคนประจำเรือกันดีกว่าครับ ข้อมูลเรื่อง โควิด-19 มีออกมามากมาย เรียกว่าเลือกอ่านกันไม่ถูกเลยทีเดียว แต่ผมก็ได้เลือกคัดจากแหล่งที่น่าเชื่อถือแล้วสรุปกันให้ชัด ๆ สั้น ๆ ได้ใจความไว้ในบทความนี้แล้วครับ

     

    Photo by Maskmedicare Shop on Unsplash

     

    โควิด-19 (COVID-19) คืออะไร?

    โควิด-19คือโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนา (Coronavirus) และเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ เริ่มมีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนช่วงเดือน ธ.ค. ปี 2019 แต่เจ้าไวรัสนี้ จริง ๆ แล้วถูกพบครั้งแรกในปี 1960 แต่ยังไม่ทราบแหล่งที่มาชัดเจนว่ามีต้นตอจากที่ใด ชื่อของมันก็มาจาก CO = Corona, VI = Virus และ D = Disease พอมาพบการระบาดที่จีนในปี 2019 ก็เลยได้ชื่อ COVID-19 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

     

    ลักษณะของเจ้าโควิด-19

    1. มีเปลือกเป็นไขมันหุ้ม (enveloped virus)
    2. เป็นไวรัส RNA ขนาดใหญ่ มีปุ่มยื่นเป็นหนามคล้ายมงกุฎออกมาจากชั้นไขมันที่หุ้มอยู่ เรียกว่า spike ซึ่งใช้เกาะกับโปรตีนบนผิวของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของคน
    3. กลัวความร้อน ในอุณหภูมิ 30-40 องศาเซลเซียสก็จะแย่กันแล้ว ถ้าอากาศเย็น ๆ มีโอกาสรอดสูง
    4. กลัวความแห้ง ถ้ามีความชื้นสัมพัทธ์แค่ 30% โอกาสรอดของเจ้าโควิด-19 มีแค่ 50%
    5. สามารถอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ 2 ช.ม. ถึง 9 วัน ขึ้นอยู่กับสถาพแวดล้อมนั้น ๆ ดังนั้นเขาถึงบอกว่า ไปไหนมาไหน อย่าเที่ยวเอามือไปลูบโน่นนี่นั่น แล้วมาจับหน้าตัวเอง
    6. ถูกฆ่าได้ง่าย ๆ ด้วยการทำให้เปลือกไขมันหุ้มแตกออกด้วยสบู่หรือผงซักฟอก เลยเป็นที่มาของการแนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ

     

    อัปเดตสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern)

    นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนช่วงเดือน ธ.ค. ปี 2019 ไวรัสได้มีการกลายพันธุ์ไปหลากหลายมาก เดิมทีจะเรียกชื่อตามชื่อประเทศที่พบเจอครั้งแรก แต่องค์การอนามัยโลกเกรงว่าอาจเป็นการกล่าวโทษประเทศนั้น ๆ จึงได้เปลี่ยนมาเรียกตามอักษรกรีกแทน ซึ่งสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) ที่พบการระบาดก็มีดังนี้

    1. สายพันธุ์ S (Serine): สายพันธุ์จากอู่ฮั่น เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบครั้งแรกที่ประเทศจีน เข้าสู่ประเทศไทยในเดือนมกราคมปี 2020เริ่มการระบาดระลอกแรกในไทยเดือนมีนาคมปีเดียวกันจากคลัสเตอร์สนามมวยที่ลุมพินี ราชดำเนิน และอ้อมน้อย
    2. สายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha): สายพันธุ์จากอังกฤษ พบครั้งแรกที่เมืองเคนต์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 และเข้ามาระบาดในไทยเมื่อต้นเดือนมกราคมปี 2021 เริ่มแพร่ระบาดอย่างหนักจากคลัสเตอร์ทองหล่อ สายพันธุ์นี้แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 1.7 เท่าและยังเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี
    3. สายพันธุ์เบต้า (Beta): สายพันธุ์จากทวีปแอฟริกาพบครั้งแรกในอ่าวเนลสันแมนเดลา เมืองอีสเทิร์นเคปของแอฟริกาใต้ เป็นการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ที่พบในประเทศอังกฤษ พบครั้งแรกในไทยที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 เชื้อมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญ จึงทำให้เชื้อไวรัสมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น ดังนั้น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันหรือเคยติดเชื้อแล้วก็จะยังสามารถติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์นี้ซ้ำได้อีก
    4. สายพันธุ์แกมมา (Gamma): สายพันธุ์จากบราซิล มีการรายงานไปยังองค์การอนามัยโลกครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2020 สายพันธุ์นี้มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เชื้อสามารถทะลุเข้าสู่เซลล์ได้อย่างง่ายดาย สามารถเอาตัวรอดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ และมีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำได้ นอกจากนี้ยังพบว่าวัคซีนบางชนิดมีประสิทธิผลน้อยลง
    5. สายพันธุ์เดลต้า (Delta): สายพันธุ์จากอินเดียที่มีการกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยสายพันธุ์นี้สามารถจับเซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ติดง่ายขึ้น แพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วกว่า จึงระบาดเร็ว โดยในประเทศไทยพบครั้งแรกที่คลัสเตอร์แคมป์คนงานหลักสี่ นอกจากนี้ ยังพบว่าโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าสามารถกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า พลัส ซึ่งทำให้ผู้ที่สัมผัสเชื้อติดเชื้อง่ายกว่าเดิม ทั้งยังหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดี
    6. สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron): ถูกระบุแยกแยะออกมาเป็นครั้งแรกในจังหวัดเคาเต็ง (Gauteng) ของแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนปี 2020 โดยพบผู้ติดเชื้อจากทั้งคนที่เคยไปแอฟริกาและไม่เคยไปแอฟริกา ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อในกว่า 57 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูลจาก WHO ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2564) ไวรัสโควิดชนิดใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ของยีนรวมทั้งสิ้นถึง 50 ตำแหน่ง ทำให้มันมีความแตกต่างจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์อื่นๆ เป็นอย่างมาก จึงเหตุผลที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอาจไม่ได้ผลกับเชื้อตัวนี้ ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดลามออกไปเป็นวงกว้าง โลกอาจต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตอีกครั้ง โดยพบว่าผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน จมูกยังสามารถได้กลิ่น ลิ้นรับรสได้ดี ไม่ค่อยมีไข้ แต่พบว่ามีอาการ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปอดอักเสบ (ซึ่งอาการคล้ายกับสายพันธุ์เดลต้า) ปัจจุบันข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสามารถสรุปได้ว่าอาการจะรุนแรงกว่าหรือไม่?

     

    Photo by Spencer Davis on Unsplash

     

    วัคซีน COVID-19

    โดยปกติเมื่อเชื้อโรคทุกชนิดเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะมีวิธีจัดการเชื้อหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือเม็ดเลือดขาวชนิดมาโครฟาจ (Macrophage) จะกลืนเชื้อเข้าไปและทิ้งเศษซากเชื้อบางส่วนไว้เรียกว่า แอนติเจน (Antigen) ร่างกายจะรับรู้ว่าแอนติเจนคือสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างแอนติบอดี (Antibody) มาจัดการสิ่งแปลกปลอมนั้น รวมถึงมีเม็ดเลือดขาวอีกชนิดหนึ่งที่จำว่าเชื้อโรคนี้คือสิ่งแปลกปลอม ถ้าหากได้รับเชื้อในอนาคตร่างกายจะสามารถจดจำและจัดการได้ 

    การทำงานของวัคซีนเป็นไปในลักษณะเดียวกัน วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้ขึ้นมา ช่วยป้องกันการติดเชื้อหากได้รับเชื้อในอนาคต แต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหลังฉีดวัคซีน ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ 

    วัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันทุกคนที่ฉีดจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ แต่พบว่าสามารถลดความรุนแรงของโรคได้

     

    ชนิดของวัคซีน COVID-19

    วิธีการผลิตวัคซีนหรือที่มาของวัคซีนมีหลายวิธีการ แต่ทั้งหมดคือให้ต่อต้านไวรัสโควิด-19 ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายเพื่อไปก่อโรคได้ โดยที่ไวรัสนี้จะมีส่วนที่ยื่นออกจากเซลล์เรียกว่าสไปก์ (Spike) จะไปจับกับโปรตีนบนผิวของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของคนเรา (Receptor) ที่อยู่บนเซลล์ในร่างกาย เช่น ที่ทางเดินหายใจหรือลำไส้ เมื่อจับกันแล้วไวรัสก็จะเข้าสู่ร่างกายและไปก่อโรค ซึ่งก็พอจะแบ่งวัคซีนเป็น 4 ชนิด ได้แก่

    1. messenger RNA (mRNA) vaccine – เป็นวัคซีนที่มีส่วนที่กำกับการสร้างโปรตีนของไวรัส ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อฉีดวัคซีนแล้วร่างกายจะสร้างโปรตีนชนิดนั้นขึ้นมาและทำลาย mRNA ที่ฉีดเข้าไป จากนั้นร่างกายจะรับรู้ว่าโปรตีนที่สร้างขึ้นมานั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา
    2. Viral Vector – เป็นวัคซีนที่ตัดต่อทางพันธุกรรมโดยการใช้สารทางพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ใส่เข้าไปในตัวไวรัสชนิดอื่นที่ไม่ก่อโรค (เรียกไวรัสนี้ว่า Viral Vector) เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกายแล้ว Viral Vector จะพาเอาสารพันธุกรรมนั้นเข้าไปในเซลล์ของเรา ทำให้เกิดการสร้างโปรตีนที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา จากนั้นร่างกายจะรับรู้ว่าโปรตีนที่สร้างขึ้นมานั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา
    3. Inactivated Virus Vaccine – วัคซีนเชื้อตาย ผลิตโดยการเลี้ยงไวรัสชนิดนี้ให้ได้ปริมาณมากแล้วมาทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดวัคซีนแล้วร่างกายจะรับรู้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา
    4. Protein Subunit Vaccine – เป็นการผลิตวัคซีนมาจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อฉีดวัคซีนแล้วร่างกายจะรับรู้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา

     

    วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย (อัปเดต 29/12/2021)

    ปัจจุบัน ประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติให้นำวัคซีนโควิดเข้ามาใช้ในภาวะฉุกเฉินรวมทั้งหมด 6 ยี่ห้อ ได้แก่

    1. แอสตร้าเซนเนก้า (Viral Vector) ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทสัญชาติสวีเดน-อังกฤษ ที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เป็นวัคซีนชนิดแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.
    2. ซิโนแวค (Inactivated Virus Vaccine) ของบริษัทซิโนแวคไบโอเทค จำกัด ประเทศจีน ที่แม้้จะถูกด้อยค่าหรือถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา แต่ซิโนแวคคือวัคซีนที่ไทยสั่งซื้อและจีนส่งมอบให้ไทยอย่างต่อเนื่อง
    3. จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Viral Vector) ผลิตโดย บริษัทแจนส์เซน-ซีแลก จำกัด บริษัทยาของ บ.จอหน์สัน แอนด์ จอห์นสัน สหรัฐอเมริกา เป็นวัคซีน mRNA ชนิดฉีด 1 โดส สำหรับไทย แม้ อย. ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่จนถึงเดือน ธ.ค. ก็ยังไม่มีการส่งมอบ มีเพียงสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยที่นำเข้าวัคซีนยี่ห้อนี้มาฉีดให้ชาวฝรั่งเศสที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
    4. โมเดอร์นา (mRNA) นำเข้ามาโดยบริษัท ซิลลิคฟาร์มา จำกัด เป็นวัคซีนที่เกิดข่าวความไม่แน่นอน ความสับสน การรอคอยและการตอบโต้-ชี้แจงต่าง ๆ มากมายให้ได้ติดตามกันตลอดทั้งปี 2020 ซึ่ง ณ วันนี้ก็คลี่คลายและมีการฉีดไปแล้ว
    5. ซิโนฟาร์ม (Inactivated Virus Vaccine) ของบริษัท ซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนในกำกับของเครือรัฐวิสาหกิจแห่งชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ประเทศจีน โดยเริ่มฉีดให้ประชาชนกลุ่มแรกที่เป็นผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนโดยรอบโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
    6. ไฟเซอร์ (mRNA) ผลิตโดยบริษัท ไฟเซอร์ ของสหรัฐฯ ที่หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยกันมากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นวัคซีนที่ข้อมูลทางการแพทย์สนับสนุนว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ และเหมาะสำหรับการฉีดเป็นเข็มที่ 3 เพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

     

    Photo by Kelly Sikkema on Unsplash

     

    ป้องกันตัวจากโควิดสไตล์คนประจำเรือ

    หลังจากทราบเรื่องราวของเกี่ยวกับ COVID-19 มาทั้งหมดแล้ว ในส่วนของคนประจำเรือควรทำเรื่องต่อไปนี้ครับ เพื่อรักษาให้ห่างไกลจากการติดเชื้อโควิด-19

      1. ตรวจสอบสุขภาพของคนประจำเรือทุกคน เช่น อุณหภูมิของร่างกายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
      2. ก่อนจะถึงเมืองท่าปลายทาง คนที่เข้ายามที่ Gangway ควรมีชุดที่ป้องกันการติดเชื้อรวมทั้งหน้ากาก  แว่นตา และผ้ากันเปื้อนแบบใช้แล้วทิ้ง
      3. บริษัทที่บริหารเรือควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีเจลทำความสะอาดมือ น้ำยาฆ่าเชื้อ ถุงมือ หน้ากาก ผ้ากันเปื้อนแบบใช้แล้วทิ้ง ชุดหมี อย่างเพียงพอบนเรือ
      4. Ship’s Office ที่ใช้ต้อนรับคนที่ขึ้นมาติดต่อธุระบนเรือมักตั้งอยู่ในบริเวณที่พักใกล้ประตูทางเข้า ถ้าเป็นไปได้ ควรใช้พื้นที่บนดาดฟ้าเปิดโล่งทำเป็นออฟฟิศชั่วคราว หรืออาจใช้ห้องเก็บของใด ๆ ที่แยกออกจากที่พักอาศัยของลูกเรือเป็น ship’s office ได้
      5. ไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าไปในบริเวณที่พักอาศัย ยกเว้นผู้ที่ได้รับอนุญาตหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของศุลกากรหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์หรือด่านกักกัน
      6. บริเวณ Gangway ควรจัดหาน้ำยาฆ่าเชื้อมือวางไว้ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนที่ขึ้นมาบนเรือต้องใช้น้ำยาล้างมือทุกคน และใครที่จะขึ้นมาบนเรือต้องสวมหน้ากากอนามัย ยามที่ Gangway ต้องตรวจสอบอุณหภูมิของทุกคนที่ขึ้นมาบนเรือและไม่อนุญาตหากพบว่าบุคคลนั้นมีอุณหภูมิร่างกายสูงหรือไอ / เป็นหวัด
      7. ช่วงเข้ายามสินค้าในท่าเรือที่มีการระบาดของโรค ให้เว้นระยะห่างจากทุกคนที่ท่าเรือ
      8. เมื่อต้องลงไปที่ท่าเทียบเรือเพื่อสอบอัตรากินน้ำลึกหรืออื่นใด ให้สวมอุปกรณ์ป้องกันทั้งหมด เช่น หน้ากาก แว่นตา ผ้ากันเปื้อน และถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง เป็นต้น
      9. ลูกเรือทุกคน ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในห้องของลูกเรือคนอื่น
      10. แต่ละแผนกควรจัดเวลาพักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงการทำงานเพิ่มเติมเมื่อเรืออยู่ในท่าเรือที่โรคกำลังระบาด
      11. ไม่อนุญาตให้ใช้ห้องน้ำสาธารณะบนเรือเมื่อเรืออยู่ในเมืองท่า
      1. จัดเวลาการทานอาหารทุกมื้อบนเรือเป็นช่วงเวลาที่แตกต่างกันเพื่อไม่ให้มีคนหนาแน่นเกินไปในห้องทานอาหาร และมีพื้นที่เพียงพอที่จะนั่งในระยะห่างจากกัน
      2. ราวจับตามช่องทางเดินภายในที่พักอาศัย ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ ฯลฯ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ
      3. ช้อนส้อมต่าง ๆ ในห้องทานอาหาร ควรทำความสะอาดอย่างดีทั้งก่อนใช้และหลังใช้
      4. มีแผนการทิ้งขยะและแยกถังขยะแยกต่างหากเพื่อกำจัดหน้ากากอนามัย ผ้ากันเปื้อนและอื่น ๆ ที่ใช้ในท่าเรือที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
      5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสราวเรืออุปกรณ์เครื่องมือโดยไม่จำเป็น
      6. เมื่อต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ส่วนรวมบนเรือ ให้ทำความสะอาดคีย์บอร์ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังใช้งานและทิ้งผ้าทำความสะอาดหรือกระดาษทิชชู ให้เป็นที่เป็นทาง
      7. วิทยุสื่อสารที่ใช้ร่วมกันระหว่างลูกเรือในเรือ ควรหุ้มด้วยพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ก่อนที่จะส่งมอบให้กับลูกเรือคนอื่นหรือเอาไปวางไว้ในแท่นชาร์จ ให้ถอดพลาสติกทิ้งและทำความสะอาดวิทยุสื่อสารด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
      8. ระบบปรับอากาศในที่พักอาศัย ควรเปิดให้อากาศบริสุทธิ์จากภายนอก เข้ามาถ่ายเทหมุนเวียนบ้าง
      9. ระบบปรับอากาศแบบพกพาที่ใช้บนเรือ ไม่ว่าจะที่ ECR บนสะพานเดินเรือ ฯลฯ แบบมีตัวกรองของตัวเอง ควรถอดออกมาทำความสะอาดบ่อย ๆ
      10. เครื่องเขียนที่จะแจกให้ลูกเรือแต่ละคนควรเป็นของใหม่และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องเขียนร่วมกันกับผู้อื่นถ้าเป็นไปได้
      11. หากต้องรับเสบียงอาหารหรืออะไหล่ที่ท่าเรือ ควรรับในพื้นที่แยกต่างหากโดยไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาในที่พัก หากต้องรับในเมืองท่าที่กำลังเกิดการระบาด กล่องที่ใส่ของมาควรส่งคืนผู้ที่มาส่งของหรือแต่ละกล่องควรเช็ดด้วยผ้าจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อ
      12. หลีกเลี่ยงการใช้เสบียงที่รับมาจากเมืองท่าที่กำลังเกิดการระบาดในทันที และให้แยกเก็บจากเสบียงอาหารที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
      13. เมื่อมีลูกเรือมาลงที่เมืองท่าที่กำลังเกิดการระบาด ให้หลีกเลี่ยงการโต้ตอบใด ๆ ทางกายภาพ เช่น จับมือ ฯลฯ และทำความสะอาดกระเป๋าเดินทางด้วยผ้าจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อ
      14. ลูกเรือที่มาลงเรือ ควรอาบน้ำและเปลี่ยนชุดทำงานให้เรียบร้อยก่อน รายงานตัวให้นายเรือทราบ
      15. หลีกเลี่ยงการช่วยขนสัมภาระ / กระเป๋าของตัวแทนท่าเรือ เจ้าพนักงานนำร่อง และแนะนำให้ทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำยาฆ่าเชื้อ
      16. การซักเสื้อผ้าและชุดหมี ควรแยกซักกันแต่ละคน
      17. เมื่อลูกเรือที่มีหน้าที่ซักผ้าให้กับนายประจำเรือ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า ได้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ได้รับการรับรองสำหรับซักผ้า
      18. เตรียมห้องแยก สำหรับคนเรือที่ติดเชื้อไว้ล่วงหน้า ควรเป็นห้องที่อยู่บริเวณมุม ๆ ของที่พักอาศัย
      19. ลูกเรือควรได้รับการฝึกอบรมให้มีพฤติกรรมที่รับผิดชอบและรายงานตนเองหากรู้สึกเป็นไข้หรือมีอาการไอ / หวัด
      20. หลีกเลี่ยงปาร์ตี้บนเรือและการอยู่ร่วมกัน
      21. หลีกเลี่ยงการประชุมทีมหรือดำเนินการประชุมบนเรือ หากจำเป็นควรใช้ห้องขนาดใหญ่หรือในพื้นที่เปิดโล่งเพื่อให้รักษาระยะห่างของลูกเรือ
      22. หลีกเลี่ยงการฝึกซ้อมประจำสถานีในเมืองท่าที่มีการระบาด

     

    ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวของโควิด-19 ทั้งหมด ที่คนประจำเรือควรทราบ เพื่อจะได้หาทางป้องกันและระมัดระวังตัวเองให้ห่างไกลจากโควิด-19 กันครับ เราจะเห็นได้ว่า เจ้าไวรัสโควิด-19 มันกลายพันธุ์ได้เร็วมาก ๆ เลย เร็วเกินกว่าที่ปกติที่มันจะกลายพันธ์ จนบางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า มันกลายพันธุ์ด้วยฝีมือของใครบางคนหรือเปล่าที่จ้องจะทำลายโลกและมนุษย์ด้วยอาวุธชีวภาพ เหมือนกับที่ทำกันในหนังประมาณนั้นเลย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์กันต่อไปครับ

     

    บทความโดย: Old captain never die
    อัปเดต: มกราคม ค.ศ. 2022

    Tags :

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *