สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor Blog ทุกท่าน
บล็อกที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกับความรู้ต่าง ๆ ที่คนประจำเรือควรทราบหลังจากที่ลงไปทำงานบนเรือวันแรกก่อนที่เรือจะออกจากเมืองท่ากันไปแล้ว ซึ่งความรู้ดังกล่าวเป็นไปตามที่อนุสัญญา STCW ได้กำหนดไว้ด้วยความห่วงใยในความปลอดภัยของคนประจำเรือ ขนาด STCW ไม่ได้รู้จักมักจี่กับเรา เขายังห่วงใยเราขนาดนี้ ถ้าเราไม่ห่วงใยตัวเอง ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วครับ
มาในบล็อกนี้ เรามาดูกันต่อให้จบครับว่าอนุสัญญา SOLAS ซึ่งรับลูกต่อจาก STCW ว่าไว้อย่างไรเกี่ยวกับการกำหนดให้คนประจำเรือทราบถึงอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ บนเรือ ซึ่งเนื้อหาเรื่องนี้ได้ถูกระบุไว้ใน SOLAS บทที่ 3 ข้อบังคับที่ 19 ครับ
ซ้อมแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ
เรื่องแรกในส่วนของการฝึกอบรมและการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินซึ่งบังคับใช้กับเรือทุกลำที่วิ่งระหว่างประเทศครับ ซึ่งต้องทำเพื่อให้คนประจำเรือสร้างความคุ้นเคยเกี่ยวกับความปลอดภัยบนเรือ โดยคนประจำเรือทุกคนต้องมีหน้าที่ในการประจำสถานีต่าง ๆ ทุกคน และจะต้องคุ้นเคยกับหน้าที่เหล่านั้นก่อนออกเดินทาง การฝึกอาจสอนในสถานที่นั้น ๆ หรือใช้วิธีบรรยายสรุปก็ได้ ยิ่งเป็นเรือโดยสารที่มีผู้คนเยอะ ๆ ยิ่งต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นครับ แต่ผมว่าเรือที่จดทะเบียนวิ่งภายในประเทศก็ควรให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมและการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเช่นกันนะครับ อยู่กลางทะเลเวลาเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา ไม่มีความรู้แล้วไปแก้ไขสถานการณ์ ก็มีสิทธิ์ไม่รอดเหมือนกัน
การฝึกประจำสถานีสละเรือใหญ่และการฝึกการดับเพลิงบนเรือต้องทำกันทุกเดือนครับ และต้องฝึกซ้อมกันภายใน 24 ช.ม. หลังจากที่เรือออกจากท่า ยิ่งหากมีการเปลี่ยนจำนวนคนประจำเรือมากกว่า 25% หรือเป็นเรือใหม่เอี่ยมที่เพิ่งมาวิ่งในกองเรือ หรือมีการแก้ไขลักษณะสำคัญ ๆ บนเรือ หรือมีลูกเรือไปลงเรือใหม่ทั้งชุด ยิ่งต้องทำการฝึกให้เสร็จก่อนที่เรือจะออกเดินทางเลยด้วยซ้ำ
ส่วนการฝึกซ้อมการกู้ภัยการทำงานในที่อับอากาศก็ต้องฝึกกันทุก 2 เดือนครับ การลงไปทำงานในถังต่าง ๆ หากยังไม่ได้รับการฝึก อย่าเพิ่งลงไปนะครับ อันตรายมาก คนประจำเรือตายกันมานักต่อนักแล้ว
อาจมีคนสงสัยว่า แล้วในการฝึกประจำสถานีสละเรือใหญ่ เราต้องทำอะไรบ้าง ขอตอบว่าเยอะแยะเลยครับ ผมขอเล่าเรื่องหลัก ๆ ก็แล้วกัน คือต้องมีการกดสัญญาณรวมพล และคนประจำเรือต้องไปรวมพลกันที่จุดรวมพลพร้อมใส่เสื้อชูชีพให้เรียบร้อย มีการทดสอบการหย่อนเรือช่วยชีวิตอย่างน้อย 1 ข้าง โดยยังไม่ต้องเอาลงไปวิ่งในน้ำ การปล่อยแพชูชีพในลักษณะต่าง ๆ และมีการจำลองการค้นหาและช่วยเหลือคนประจำเรือที่ติดอยู่ในห้องพักอาศัย เรือช่วยชีวิตจะต้องถูกทดสอบโดยเอาลงไปวิ่งในน้ำทุก 3 เดือน แต่ถ้าเป็นเรือช่วยชีวิตแบบ Freefall Lifeboat จะทดสอบแบบสมมติสถานการณ์ก็ได้ (ไม่ได้ปล่อยจริง) โดยการยึดเรือให้แน่นหนา ก่อนทดลองปลดตะขอยึดเรือหลักว่าหลุดหรือไม่ หลังจากโยกระบบไฮโดรลิก อย่างไรก็ตาม เรือช่วยชีวิตทุกประเภทต้องเอาลงไปวิ่งในน้ำโดยคนประจำเรือไม่เกินระยะเวลา 6 เดือน ส่วนเรือกู้ภัยต้องเอาไปลงวิ่งในน้ำทุกเดือนพร้อมลูกเรือที่มีหน้าที่ในการกู้ภัย หรือถ้ามีเหตุจำเป็นเอาลงไปวิ่งในน้ำไม่ได้ก็ต้องอย่างน้อย 3 เดือนครั้ง หากเรือติดตั้งระบบอพยพทางทะเล (Marine Evacuation System) ก็ควรฝึกซ้อมตามขั้นตอนที่จำเป็นในการใช้งานจนถึงจุดที่จะเปิดใช้งานระบบ และต้องได้รับการฝึกซ้อมการอพยพระบบการลงน้ำเต็มรูปแบบที่คล้ายกับของจริงในช่วงเวลาไม่เกิน 2 ปี อย่างช้าที่สุดห้ามเกิน 3 ปี ส่วนไฟฉุกเฉินที่ติดตั้งบริเวณดาดฟ้าที่จะเป็นจุดสละเรือใหญ่ก็ต้องมีการตรวจสอบทุกเดือนเพราะเวลาจะสละเรือใหญ่ เกิดแสงสว่างจากระบบไฟฟ้าหลักอาจจะดับแล้ว ลองนึกสภาพในคืนเดือนมืดกลางทะเล ถ้าไม่มีไฟฉุกเฉิน ลำบากแน่ ๆ เลยครับ
ส่วนการซ้อมการดับเพลิง การสมมติเหตุไฟไหม้บนเรือต้องวนไปตามที่ต่าง ๆ โดยไม่ซ้ำกัน เพื่อการสร้างความคุ้นเคยให้กับคนประจำเรือในสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ใช่สมมติให้ไฟไหม้กันที่ซ้ำ ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทของเรือและสินค้าด้วยครับ การฝึกซ้อมการดับเพลิงแต่ละครั้งต้องต่อสายน้ำดับเพลิงอย่างน้อย 2 สาย พร้อมทดสอบการใช้ชุดผจญเพลิงโดยให้ลูกเรือใส่ ทดสอบการสื่อสารและการทำงานของการเปิดปิดระบบระบายอากาศในส่วนต่าง ๆ ของเรือ ซึ่งจะต้องทำงานได้เป็นปกติ เพราะถ้าหากจะไปดับเพลิงในที่อับอากาศ ต้องปิดไม่ให้อากาศหรือออกซิเจนเข้าไปเพิ่ม ไม่งั้นไฟดับยากครับ นอกจากนี้ปั๊มน้ำดับเพลิงและปั๊มน้ำดับเพลิงฉุกเฉินต้องมีการลองเดินทดสอบเช่นกัน
โห! จะทดสอบหมดไหมเนี่ย เยอะแยะเลยใช่ไหมครับ
อุปกรณ์ความปลอดภัยที่ต้องคุ้นเคยเข้าไว้
หลังจากลูกเรือลงเรือไปแล้ว ต้องจัดให้มีการฝึกอบรมและให้คำแนะนำบนเรือเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตของเรือและการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงบนเรืออื่น ๆ โดยเร็วที่สุด และต้องภายใน 2 สัปดาห์ โดยคำแนะนำดังกล่าวให้เน้นย้ำในเรื่องต่อไปนี้ด้วยครับ
1. การใช้งานและการปล่อยแพชูชีพของเรือ – การปล่อยแพชูชีพก็มีการปล่อยด้วยกัน 3 แบบ คือโยนลงน้ำ, ปลดด้วย Hydrostatic release และปล่อยด้วยหลักเดวิด แพชูชีพเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ช่วยชีวิตในทะเลที่สำคัญครับ ถ้าใช้ไม่เป็นแล้วเวลาต้องสละเรือใหญ่ จะทำยังไง เคยคิดกันไหมครับ ดังนั้นอย่ารอให้ถึงวันนั้นเลยครับ
2. ปัญหาภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ การปฐมพยาบาลภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติและขั้นตอนการปฐมพยาบาลอื่น ๆ ที่เหมาะสม – เวลาเจออากาศเย็น ร่างกายก็พยายามจะเผาผลาญพลังงานเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นมากขึ้น แต่ถ้าอากาศเย็นลงมาก ๆ และร่างกายสู้ไม่ไหว อุณหภูมิในร่างกายจะตกหวบจนเกิดปัญหาภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติหรือภาวะ Hypothermia ตามมา ซึ่งอันตรายมาก ๆ นะครับ ถ้าปฐมพยาบาลไม่ทัน หลักการสากลคือ ต้องให้ความอบอุ่นกับผู้ป่วยอย่างช้า ๆ ห้ามเปิดน้ำร้อนลงอ่างอาบน้ำ แล้วโยนผู้ป่วยลงไป อาจทำให้ผู้ป่วยช็อกได้ ถ้าช่วยเหลือขึ้นจากน้ำแล้ว ให้ถอดเสื้อผ้าเปียกของผู้ประสบภัยออก และให้นอนอยู่ในอุณหภูมิห้องปกติครับ แล้วถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ก็ห้ามให้กินหรือดื่มอะไร
3. คำแนะนำพิเศษที่จำเป็นสำหรับการใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตของเรือในสภาพอากาศเลวร้ายและสภาพทะเลที่รุนแรง – เวลาจะสละเรือใหญ่จริง ๆ เคยถามตัวเองไหมครับว่า จะเจอกับสภาพท้องทะเลแบบไหน ผมว่าคงจะยากที่จะเจอทะเลเรียบ ๆ นอกจากน้ำเข้าเรือจนเสียการทรงตัว ส่วนใหญ่การสละเรือใหญ่น่าจะเจอคลื่นลมแรงแล้วน้ำเข้าเรือจนต้องสละเรือใหญ่ แล้วในสภาพแบบนั้น เอาเรือช่วยช่วยชีวิตแบบที่หย่อนด้วยหลักเดวิดลงได้หรือเปล่า เพราะเวลาฝึกประจำสถานีสละเรือใหญ่ เราฝึกกันตอนทะเลเรียบ ๆ ผมเคยถามคนประจำเรือหลายคนว่าทำได้หรือไม่ บอกกันเป็นเสียงเดียวเลยครับว่าไม่มั่นใจจริง ๆ เรือช่วยชีวิตที่อยู่ที่กราบซ้ายและขวา เขาออกแบบมาให้เอาลงน้ำได้แม้คลื่นลมแรง ด้วยการใช้ระบบ Onload Release Mechanism ไงครับ ลองไปศึกษากันดูนะครับว่าใช้งานอย่างไร เพราะเรือแต่ละลำก็มีวิธีที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าเรือลำนั้นมีแพชูชีพที่ปล่อยด้วยหลักเดวิดด้วย คนประจำเรือต้องทราบวิธีการปล่อยแพชูชีพนั้นภายใน 4 เดือน โดยต้องมีการกระตุกกางแพชูชีพจริง แล้วหย่อนลงน้ำ โดยแพดังกล่าวต้องเป็นแพที่ใช้เพื่อการฝึกอบรมเท่านั้น และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ช่วยชีวิตของเรือ ซึ่งแพชูชีพดังกล่าวต้องทำเครื่องหมายไว้อย่างชัดเจนว่าเป็น Training Liferaft
4. การใช้งานและการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงต่าง ๆ – บนเรือมีอุปกรณ์ดับเพลิงมากมายครับ ทั้งแบบเคลื่อนที่ได้และแบบติดตั้งอยู่กับที่ ถ้าเกิดไฟไหม้บนเรือจะไปเรียกเรือดับเพลิงที่ไหนมาช่วยถ้าไม่ช่วยตัวเอง ดังนั้นใช้มันให้เป็นครับ
5. ความเสี่ยงในการทำงานในพื้นที่อับอากาศ การทำงานในที่อับอากาศอย่างปลอดภัย และการกู้ภัย – ถ้าต้องลงไปทำงานในถังน้ำถ่วงเรือ ในระวางสินค้า หรือในห้องปั๊มสินค้า ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นที่อับอากาศ ถ้าไม่มีความรู้หรือเตรียมการไม่ดี อาจเอาชีวิตไปทิ้งได้ง่าย ๆ นะครับ ควรมีการตรวจสภาพบรรยากาศอันตรายต่าง ๆ ให้ปลอดภัยก่อนที่จะลงไปทำงานในที่อับอากาศเสมอครับ
การฝึกซ้อมและการทดสอบอุปกรณ์ความปลอดภัยทั้งหมดต้องจดบันทึกลงใน Log Book ตามที่กรมเจ้าท่ากำหนด หรือถ้าการฝึกไม่ได้จัดขึ้นตามเวลาที่กำหนด ก็ต้องบันทึกลงไปด้วยถึงเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ได้ทำ
นั่นก็เป็นทั้หมดที่คนประจำเรือควรทราบเกี่ยวกับความปลอดภัยในทะเล เป็นผมนะ ผมไม่ต้องให้ใครมาบังคับหรอก เพราะมันหมายถึงชีวิตของเรานะครับ อาจเป็นเพราะผมเคยต้องสละเรือใหญ่จากเหตุการณ์เรือไฟไหม้มาแล้ว ดังนั้นผมจึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้และไม่ประมาทกับมัน
ส่วนคนประจำเรือทั้งหลาย ผมเชิญชวนนะครับ เอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยในทะเลหน่อย คนไทยชอบพูดว่า ‘ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา’ อย่ารอให้ถึงวันนั้นกันนะครับ
โชคดีครับ
บทความโดย: Old captain never die
อัปเดต: กรกฎาคม ค.ศ. 2024