3/E ผู้ดูแลเครื่องไฟฟ้ามากกว่าดูแลหัวใจของตัวเอง (ฮิ้ววว!)

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Third engineer cover post
Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor blog ทุกท่าน

    เผลอแป๊บ ๆ ก็เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2565 แล้ว ทุกคนรู้สึกเหมือนกับผมไหมครับว่า ทำไมยิ่งโตยิ่งรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปเร็วขึ้น ต่างจากตอนสมัยยังเด็ก ที่รู้สึกว่าแต่ละวัน แต่ละปีช่างยาวนานจริง ๆ

    มันมีคำอธิบายเชิงจิตวิทยาบอกว่า เวลาจะเดินเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับเราว่ารู้สึกกับเหตุการณ์ในขณะนั้นอย่างไร ซึ่งกฎของเวลา 2 ข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้และคนส่วนใหญ่รู้สึกก็คือ

    กฎข้อที่ 1: เวลาดูเหมือนจะเดินเร็วขึ้น เมื่อเราอายุมากขึ้น

    กฎข้อที่ 2: เวลาดูเหมือนจะเดินช้าลง เมื่อเราเปิดรับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ หรือเจอประสบการณ์ที่ต่างออกไปจากความจำเจ ยิ่งเรารับข้อมูลใหม่ ๆ มากเท่าไหร่ เวลาจะยิ่งเดินช้าขึ้นเท่านั้น

    ดังนั้น ถ้าวันนี้คุณกำลังรู้สึกทำไมเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน ลองสำรวจดูกันครับว่า เรากำลังปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปอย่างไร้ความหมายหรือเปล่า?

    ยิ่งถ้าแฟนคลับบางท่านตั้งใจอยากจะเป็นคนประจำเรือที่ดีให้ได้แล้ว ได้ลงมือทำอะไรกันหรือยังครับ?

    Seammor blog ฉบับนี้มาถึงคิวอาชีพ ‘นายช่างกลที่ 3’ หรือ ‘Third Engineer’ กันแล้วครับ ชาวเรือไทยชอบเรียกคนที่ทำงานในตำแหน่งนี้ว่า “สามอี” ซึ่งก็มาจาก 3/E หรือ Third Engineer นั่นแหละครับ
     

    หน้าที่และความรับผิดชอบของ 3/E

    3/E เป็นคนประจำเรือของแผนกช่างกลเรือครับ มีหน้าที่หลักคือจะคอยช่วยเหลืองานต้นกลและรองต้นกลในการปฏิบัติหน้าที่ในการซ่อมบำรุงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หม้อน้ำ และเครื่องจักรอื่น ๆ ทั้งหมด แล้วรายงานสิ่งบกพร่องต่าง ๆ ที่พบให้ต้นกลและรองต้นกลทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องและทันท่วงที โดยไม่ปล่อยให้มันพังไปก่อน

    สมัยผมเป็นกัปตันเรือ คนที่ทำงานตำแหน่งนี้จะเป็นตำแหน่งที่ผมเห็นหน้ากันน้อยที่สุด ยิ่งถ้าไม่ลงไปเยี่ยมกันในห้องเครื่องแล้วล่ะก็แทบจะไม่ได้เห็นหน้ากันเลยทีเดียว เนื่องด้วยช่วงเวลาทำงานของเขา โดยภาระงานของ 3/E มีคร่าว ๆ ดังนี้ครับ

    1. เข้ายามเรือเดินในทะเลในห้องเครื่องระหว่างเวลา 0000-0400 น. และ 1200-1600 น. และทำงานนอกเวลาช่วง 1000-1200 หรือในกรณีเรือจอดในเมืองท่า ก็จะต้องมีการวางแผนบำรุงรักษาเครื่องยนต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องไฟฟ้าที่เขารับผิดชอบอยู่

    2. ทำความรู้จักคุ้นเคยกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งหมดในห้องเครื่อง ตลอดจนลงบันทึกการทำงานของเครื่องยนต์และการบำรุงรักษา ทำการตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องจักรทั้งหมดที่รับผิดชอบบนเรือ

    3. งานบำรุงรักษาตามที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลหรือรับคำสั่งจากต้นกลหรือรองต้นกลให้รับผิดชอบ

    4. ดูแลความสิ้นเปลืองของน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้มีการใช้อย่างประหยัด ตลอดจนทดสอบน้ำมันหล่อลื่นตามช่วงเวลา

    5. บันทึกรายการต่าง ๆ ให้ละเอียดถูกต้องลงในสมุดปูมช่างกลเรือตามคำแนะนำของต้นกลและรองต้นกล

    6. ช่วยเหลือต้นกลในกลุ่มเทคนิคในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ขึ้นบนเรือ ซึ่งส่วนมากจะถูกมอบหมายให้ไปปิดระบบการจ่ายน้ำมันและระบบระบายอากาศต่าง ๆ ที่เข้าสู่เครื่องจักร

     

    รายได้และความต้องการตำแหน่ง 3/E

    รายได้ของ 3/E จะแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา ประสบการณ์ ขนาดของบริษัท และเส้นทางการเดินเรือที่ทำงานอยู่

    ถ้าเป็นเรือที่ได้มาตรฐานวิ่งระหว่างประเทศ และอยู่ในระบบของ ITF เงินเดือนเฉลี่ยต่อปีก็จะประมาณ 82,500 USD ซึ่งจากการสำรวจคาดว่า การจ้างงาน 3/E จะเติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยในทศวรรษหน้า เนื่องจากความต้องการการขนส่งสินค้าและการบริการที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมี 3/E มากขึ้นเพื่อบำรุงรักษาและซ่อมแซมเรือและอุปกรณ์อื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมี 3/E ที่มีอายุมากจนเกษียณไปและบางบริษัทก็อยากได้ 3/E ที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อย นี่ทำให้ความต้องการ3/E เพิ่มมากขึ้น
     

    คุณสมบัติของ 3/E ตามที่ตลาดต้องการ

    เจ้าของเรือส่วนใหญ่ต้องการ 3/E ที่มีวุฒิปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเครื่องกลเรือ, เทคโนโลยีทางทะเล, สถาปัตยกรรมเรือ หรือสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันนี้ผมพูดถึงบริษัทเรือที่วิ่งระหว่างประเทศทั่วไปนะครับ

    ส่วนเรือไทยที่วิ่งในบ้านเรา บางทีก็มาจากคนประจำเรือที่มีประสบการณ์ไต่เต้าขึ้นมา เพราะ 3/E ที่จบการศึกษาจากสถาบันทางด้านพาณิชยนาวีไม่ค่อยไปทำงานด้วยเพราะเหตุผลทางด้านรายได้
     

    ระดับชั้นประกาศนียบัตรของ 3/E ตาม STCW

    การจะลงไปทำงานในตำแหน่ง 3/E บนเรือไม่ได้วัดกันที่ขนาดเรือแต่กำหนดกันที่กิโลวัตต์ของเครื่องจักรใหญ่ครับ โดยชั้นประกาศนียบัตรของกรมเจ้าท่าที่สามารถลงทำงานในตำแหน่งนี้ได้คือประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถนายประจำเรือฝ่ายช่างกลของเรือกลเดินทะเลขนาดกำลังขับเคลื่อน 750 กิโลวัตต์หรือมากกว่า (Officer in charge of an engineering watch on ships powered by main propulsion machinery of 750 kW propulsion power or more)

    แต่ถ้าเป็นเรือที่ไม่ถึง750 กิโลวัตต์และเป็นเรือชักธงไทยที่วิ่งระหว่างประเทศ ก็จะมีข้อกำหนดลดหลั่นกันไปครับ ต้องไปดูในประกาศของกรมเจ้าท่าอีกที

    ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสุดท้ายของ Junior Engineer ที่จะก้าวขึ้นเป็น Senior Engineer คือรองต้นกลในอนาคต ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งสำคัญมาก เป็นตำแหน่งที่คุณต้องเรียนรู้ทุก ๆ อย่างในห้องเครื่องก่อนที่จะก้าวไปดูแลห้องเครื่องและคนประจำเรือฝ่ายห้องเครื่องในฐานะรองต้นกล แต่กว่าจะขึ้นมาเป็น 3/E ได้ก็ต้องผ่านตำแหน่ง 4/E มาก่อน ซึ่งผมจะพาพวกเราไปรู้จักใน Seamoor blog ฉบับหน้าครับ

    ก่อนจากกันในปี 2565 ขออวยพรแฟนคลับของ Seamoor blog ล่วงหน้าด้วยกลอนจากใจ Old Captain Never Die นะครับ

    พรดีดีที่ไหนใครว่าเลิศ
    พรประเสริฐใดใดในทั่วหล้า
    พรสวรรค์พรแสวงให้แบ่งมา
    จงนำพาสู่ผู้อ่านบานตะไท
    มาบันดาลให้ท่านนั้นสุขสันต์
    มาบันดาลให้ทุกวันนั้นแจ่มใส
    มาบันดาลให้มีสุขทุกท่านไป
    บันดาลให้เป็นคนดีมีเงินตรา

    สวัสดีปีใหม่ 2566 ครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: ธันวาคม ค.ศ. 2022

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *