นายช่างกลที่ 4 บันไดขั้นแรกสู่การเป็นต้นกลเรือ

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Fourth Engineer
Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor blog ทุกท่าน

    ปีใหม่ไปเที่ยวที่ไหนกันมาบ้างครับ คนประจำเรือที่อยู่บนเรือน่าจะได้ฉลองกันบนเรือเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าอยู่บนเรือบรรทุกสินค้าก็พอได้ แต่ถ้าอยู่พวกเรือบรรทุกน้ำมันซึ่งกำหนดไม่ให้มีเหล้าเบียร์บนเรือก็จะกินข้าวกันแบบหงอย ๆ กันหน่อย ก็แหม! คนประจำเรืออ่ะนะครับ จะให้แยกกับเรื่องพวกนี้ก็ยาก ขอนิดๆ หน่อยๆ พอเป็นกระสาย…

    จะว่าไปเทศกาลกับคนประจำเรือนี่ ลืมไปกันได้เลยนะครับ สมัยก่อนที่ผมลงทำงานในเรือใหม่ ๆ ก็จะเป็นจะตายเหมือนกันถ้าเวลาปีใหม่หรือสงกรานต์แล้วไม่ได้อยู่บ้านกับครอบครัว แต่พออยู่ ๆ ไปก็เริ่มชินชา และไม่ค่อยอะไรกับเทศกาลอีกสักเท่าไหร่ เพราะยังไงก็ต้องทำงาน ชีวิตต้องเดินต่อครับ

    ก่อนไปอ่านเรื่องราวของคนประจำเรือคนต่อไปของเรา ผมขออนุญาตแสดงความไว้อาลัยต่อการจากไปของกำลังพลบนเรือหลวงสุโขทัยหลายท่านที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ มันเป็นความสูญเสียเรือรบลำที่ 4 ของกองทัพเรือไทย แต่เป็นครั้งแรกที่เรือรบไทยต้องจมลงด้วยเหตุอื่นที่ไม่ใช่การทำศึกสงคราม ในฐานะที่อยู่เรือมานาน เห็นแล้วเศร้าครับ ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องสูญเสียอะไรมากมายขนาดนั้น

    ความไม่พร้อมในการรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินของเรือและลูกเรือ ตลอดจนการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้บังคับบัญชา ทั้งก่อนเกิดเหตุและในระหว่างเกิดเหตุ มีส่วนในการทำให้เกิดความสูญเสียในครั้งนี้ครับ ตั้งแต่การออกเรือในสภาพอากาศไม่เหมาะสม ความคงทนทะเลของเรือ มาตรการความปลอดภัยบนเรือ การตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา และสั่งการสละเรือใหญ่ที่ค่อนข้างช้าโดยคำนึงถึงสิ่งของและหน้าตามากกว่าชีวิตคน ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญที่คนประจำเรือไทยทุกท่านต้องให้ความสำคัญ ถอดบทเรียนความผิดพลาดเพื่อเอามาป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมแบบนี้เกิดขึ้นอีก

    และถ้าคุณเป็นคนประจำเรือ ลองหาโอกาสถามตัวเองบ้างนะครับว่า ถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างไรให้รอดในทะเลในสภาพคลื่นลมแบบนั้น

    จริง ๆ การทำงานเป็นคนประจำเรือก็ไม่ง่ายนะครับ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะอันตรายไปซะหมดจนไม่น่าไปทำงาน ไม่งั้นผมคงไม่ได้มานั่งเขียนอะไรให้พวกเราอ่านตอนนี้ เพราะมันมีกฎระเบียบเรื่องความปลอดภัยสารพัดที่เราต้องปฏิบัติตาม ส่วนใหญ่ที่เจ็บๆ ตัวกันก็จะเกิดจากไม่ค่อยเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยพวกนี้แหละครับ

    เอาล่ะครับ ได้เวลาพาพวกเราไปรู้จักงานตำแหน่งต่อไปกันดีกว่าครับ นายช่างกลเรือที่ 4หรือ 4th Engineer Officer (4/E)
     

    นับหนึ่งสู่การเป็นต้นกลเรือกับตำแหน่งนายช่างกลเรือที่ 4

    ตำแหน่งนี้น่าจะเป็นตำแหน่งแรกของนักเรียนฝึกฝ่ายช่างกลเรือที่จะได้ลงไปปฏิบัติหน้าที่หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนทางด้านพาณิชย์นาวีมาแล้ว หรืออาจจะเป็นตำแหน่งที่สรั่งช่างกลเรือที่มากประสบการณ์ มีหน่วยก้านดีจะได้ถูกโปรโมตจากการเป็นลูกเรือฝ่ายช่างกลเรือขึ้นไปเป็นนายประจำเรือฝ่ายช่างกลเรือซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกที่จะก้าวขึ้นสู่ต้นกลเรือในอนาคตได้

    งานของนายช่างกลเรือที่ 4 หรือ 4/E จะคอยช่วยเหลืองานต้นกลและรองต้นกลในการปฏิบัติหน้าที่ในงานซ่อมบำรุงเครื่องทำความสะอาดน้ำมัน ปั๊มอัดลม ปั๊มใช้งานต่าง ๆ ในห้องเครื่อง และเครื่องจักรอื่น ๆ ทั้งหมด และรายงานสิ่งบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ต้นกลเรือและรองต้นกลเรือทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขและหาทางป้องกันอย่างเหมาะสมต่อไป โดยงานที่ 4/E จะต้องรับผิดชอบมีดังนี้

    1. เข้ายามในห้องเครื่องขณะเรือเดินในทะเลช่วงระหว่างเวลา 0800-1200 น. และ 2000-2400 น. หรือเข้ายามเรือจอดในเมืองท่าตามการมอบหมายของต้นกลเรือ หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องเข้ายามช่วงเรือจอดด้วยก็เพราะช่วงเรือจอดจะเป็นช่วงที่เรือทำสินค้า บางทีเรือต้องมีเครนที่ใช้ในการทำสินค้า ก็ต้องเฝ้าพวกเครื่องไฟฟ้าให้ทำงานตามปกติ ซึ่งก็จะทำให้เครนทำงานได้ หรือแม้กระทั่งเกิดเครนเสียขึ้นมาก็จะได้ไปแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก่อนต้นกลจะไปถึงหน้างาน

    2. งานซ่อมบำรุงรักษาและการทำงานของเครื่องทำความสะอาดน้ำมัน ปั๊มอัดลม ปั๊มใช้งานต่าง ๆ ในห้องเครื่อง และเครื่องจักรอื่น ๆ ทั้งหมด แล้วรายงานให้ต้นกลและรองต้นกลได้ทราบในกรณีที่พบสิ่งผิดปกติ และพยายามหาทางแก้ไขให้ใช้งานได้ต่อไป

    3. ทำความรู้จักคุ้นเคยกับเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนลงบันทึกการทำงานของเครื่องจักรใหญ่และการบำรุงรักษาลงในสมุดปูมห้องเครื่องให้ถูกต้อง

    4. งานบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล หรือรับคำสั่งจากต้นกลเรือหรือรองต้นกลเรือให้รับผิดชอบ

    5. ดูแลความสิ้นเปลืองของน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้มีการใช้งานอย่างประหยัด

    6. ตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรตามคู่มือการปฏิบิติงาน ตลอดจนปฏิบัติตามคำสั่งของต้นกลเรือโดยเคร่งครัด ทั้งในเรื่องงานและความปลอดภัย และปฏิบัติตามนโยบายและระเบียบปฏิบัติของบริษัท

    7. 4/E ก็จะมีช่างน้ำมัน 1 คน คอยเข้ายามด้วยเสมอ โดยอาจจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละเดือน ดังนั้น 4/E ก็ต้องคอยดูแลช่างน้ำมันในผลัดของตัวเองในทุก ๆ เรื่อง ทั้งการแนะนำในการทำงาน ความปลอดภัย และเป็นนายยามฝ่ายช่างกลเรือที่ดีที่ช่างน้ำมันจะพึ่งได้

    8. ดูแลความสะอาดพื้นที่ในห้องเครื่องและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ใช้งานได้เสมอ

    9. มีความเข้าใจเรื่องการป้องกันมลภาวะทางทะเลตามอนุสัญญา MARPOL ในส่วนที่แผนกห้องเครื่องรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปล่อยน้ำปนเปื้อนน้ำมันในห้องเครื่องลงสู่ทะเล

     

    คุณสมบัติเบื้องต้นคร่าว ๆ ของผู้ที่จะทำงานตำแหน่งนายช่างกลเรือที่ 4

    ผู้ที่จะลงทำการในหน้าที่นี้ได้จะต้องผ่านการฝึกอบรมตามที่ STCW กำหนด และได้ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถนายประจำเรือฝ่ายช่างกลของเรือกลเดินทะเลขนาดกำลังขับเคลื่อน 750กิโลวัตต์หรือมากกว่า (Officer in charge of an engineering watch on ships powered by main propulsion machinery of 750 kW propulsion) เป็นอย่างน้อย ส่วนจะถือชั้นประกาศนียบัตรที่สูงกว่าไปทำงานเป็น 4/Eก็ไม่ว่ากัน และ 4/E จะน่าเอ็นดูมากยิ่งขึ้นถ้ามีความรู้ทางด้านไฟฟ้าควบคู่ไปกับความรู้ทางด้านเครื่องกลเรือ เพราะจะสามารถช่วยงานต้นกลเรือได้อย่างครบถ้วน

    นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจครับ เป็นกำลังใจให้นักล่าฝันทุกท่านนะครับ โดยเฉพาะผู้ที่สนใจงานทางด้านช่างกลเรือ อนาคตที่ดีรออยู่ครับ ลุยกันเลย หาความรู้กันเยอะ ๆ ครับ เกิดไปมีปัญหาในทะเล จะได้เอาตัวรอดกันได้

    แล้วพบกันใหม่ใน Seamoor blog ฉบับหน้านะครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: มกราคม ค.ศ. 2023

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *