นายท้าย พลขับคู่ใจกัปตันเรือ

Picture of Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับ แฟนคลับ Seamoor Blog ที่รักทุกท่าน

    เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมาเป็นวัน Seafarer Day (วันคนประจำเรือโลก) ปีนี้ IMO จัดงานในธีม ‘Your voyage – Then and now share your journey’ คือเชิญชวนให้คนประจำเรือแชร์ประสบการณ์การเป็นคนประจำเรือตั้งแต่เริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบันว่าเป็นมากันอย่างไรบ้าง

    ผมไม่มีโอกาสมาทักทายทุกท่านในวันนั้น แต่จะถือโอกาสนี้ทักทายและอวรพรให้คนประจำเรือทุก ๆ ท่านประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและมีความสุขในการเป็นคนประจำเรือมาก ๆ นะครับ

    ความเดิมจากตอนที่แล้วผมพาพวกเราไปรู้จักกับตำแหน่งสรั่งปากเรือกันแล้ว คราวนี้ผมจะพาพวกเราไปรู้จักกับตำแหน่งนายท้าย (Able Seaman, AB) กันครับ
     

    นายท้ายคือใคร?

    สมัยก่อนเราเรียกชื่อตำแหน่งนี้ว่า Quartermaster ครับ ซึ่งการเรียกนี้ใช้กันในกองทัพเรือ โดยเจ้าหน้าที่ตำแหน่งนี้มีหน้าที่รับผิดชอบในการถือท้ายและการส่งสัญญาณต่าง ๆ ผมจำได้ว่าช่วงแรกตอนไปฝึกงานบนเรือบรรทุกสินค้า ผมยังเห็นป้ายตำแหน่งหน้าห้องพักของนายท้ายว่า Quartermaster อยู่เลย

    ตำแหน่งนายท้ายตามอนุสัญญา STCW ถือเป็นระดับสนับสนุน (Support level) ครับ คือเป็นระดับความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานหน้าที่และความรับผิดชอบในเรือตามที่รับมอบหมาย และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของผู้ปฏิบัติงานในระดับปฏิบัติการและระดับบริหาร โดยส่วนตัว ผมถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญตำแหน่งหนึ่งเลยทีเดียวครับ เพราะจะเป็นคนขึ้นไปถือท้ายบนสะพานเดินเรือเวลาเรือจะเข้าร่องน้ำ, เดินเรืออยู่ในแผนแบ่งแนวจราจร และเวลาที่ระบบถือท้ายอัตโนมัติมีปัญหา ถ้าได้นายท้ายที่ถือท้ายเก่ง ๆ ก็จะช่วยให้การเดินเรือในร่องน้ำที่แคบมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย โดยเราสามารถแบ่งหน้าที่ของนายท้ายออกเป็น 3 เรื่องด้วยกันคือ

    1. ยามปฏิบัติงานยามปกติ – นายท้ายมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้บังคับบัญชาในระหว่างการปฏิบัติการทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือเกี่ยวกับเชือก, การนำเรือ, การเข้ายามระวังเหตุ และการถือท้าย

    2. ด้านการบำรุงรักษา – ในฐานะที่เป็นสมาชิกลูกเรือฝ่ายปากเรือ นายท้ายก็มีหน้าที่เคาะสนิม ทาสีพื้น
    ดาดฟ้าและโครงสร้างตัวเรือทั้งหมด ตลอดจนทำความสะอาดและซ่อมแซมบนดาดฟ้า, เชือกและ
    เครื่องมือของฝ่ายปากเรือต่าง ๆ

    3. ด้านความปลอดภัย – นายท้ายต้องผ่านการฝึกอบรม รู้แนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยในทะเล และต้องมีการฝึกประจำสถานีฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ต้องมีความสามารถรู้วิธีใช้งานอุปกรณ์ดับเพลิงและช่วยชีวิตอย่างได้เป็นอย่างดี

     

    หน้าที่และความรับผิดชอบของนายท้าย

    โดยรายละเอียดหน้าที่หลักของนายท้ายก็มีดังนี้ครับ

    1. ถือท้ายตามคำสั่งของนายเรือหรือนายยามปากเรือบนสะพานเดินเรือ เป็นคนใช้ธงประมวลสัญญาณและสัญญาณไฟต่าง ๆ
    2. เตรียมบันไดนำร่องให้มั่นคงและปลอดภัย เพื่อใช้รับเจ้าพนักงานนำร่อง พร้อมกับติดตั้งโคมไฟส่องสว่างอย่างเพียงพอ
    3. ทำหน้าที่ยามระวังเหตุ (Look out) บนสะพานเดินเรือร่วมกับนายยามปากเรือ
    4. เข้ายามที่บริเวณบันไดขึ้น-ลงขณะอยู่ในเมืองท่า รวมถึงการเฝ้าดูบันไดขึ้น-ลงเรือ (Gangway), เชือกผูกเรือและแผ่นครอบเชือกกันหนู ตลอดจนสมอเรือขณะเรือทอดทิ้งสมออยู่
    5. ทำหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากสรั่งเรือ และแนะนำการทำงานให้กับกะลาสีเรือ
    6. ศึกษาและทำความรู้จักคุ้นเคยกับหน้าที่ของตนเมื่อมีการเข้าประจำสถานีเหตุฉุกเฉิน

     

    คุณสมบัติของนายท้าย

    แล้วถ้าเราต้องการจะไปทำงานบนเรือบรรทุกสินค้าในตำแหน่งนายท้าย ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง?

    STCW ได้กำหนดให้ผู้ที่จะลงทำการในตำแหน่งนายท้ายเรือต้องถือประกาศนียบัตรดังนี้ครับ

    1. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญลูกเรือชำนาญงานฝ่ายเดินเรือ (Rating as able seafarerdeck) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ มีระยะเวลาการปฏิบัติงานในทะเลในฝ่ายเดินเรือในเรือขนาด500 ตันกรอสส์หรือมากกว่าอย่างน้อย 18 เดือน หรือสำเร็จการศึกษาและการฝึกอบรมหลักสูตรลูกเรือชำนาญงานฝ่ายเดินเรือของเรือเดินทะเลที่ได้รับการรับรอง และมีระยะเวลาการปฏิบัติงานในทะเลฝ่ายเดินเรือในเรือขนาด 500 ตันกรอสส์หรือมากกว่าอย่างน้อย 12 เดือน

    2. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญลูกเรือเข้ายามฝ่ายเดินเรือ (rating forming part of navigational watch) ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี จบ ม.6 หรือเทียบเท่า มีระยะเวลาปฏิบัติงานในทะเลในฝ่ายเดินเรือบนเรือขนาด 500 ตันกรอสส์หรือมากกว่าอย่างน้อย 6 เดือน หรือ สำเร็จการศึกษาและการฝึกอบรมหลักสูตรลูกเรือเข้ายามฝ่ายเดินเรือที่ได้รับการรับรอง และต้องมีการฝึกปฏิบัติงานในฝ่ายเดินเรือในเรือขนาด 500 ตันกรอสส์หรือมากกว่าอย่างน้อย 2 เดือน

    ความแตกต่างของลูกเรือชำนาญงานฝ่ายเดินเรือ (Able Deck) ตามข้อกำหนดของ STCW II/5 กับลูกเรือเข้ายามฝ่ายเดินเรือ (Rating forming part of navigational watch) ตามข้อกำหนดที่ II/4 คืออายุที่ต่างกัน

    ลูกเรือที่ถือประกาศนียบัตร Able Deck จะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ถึงจะทำหน้าที่นี้ได้ และจะทำหน้าที่ทั้งยาม Look out, ทำงาน day work ประจำวัน หรือทำหน้าที่หลาย ๆ อย่างร่วมกัน และต้องสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยในพื้นที่อับอากาศและการทำงานบนที่สูงและต้องสามารถตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินของเรือได้ ไม่ว่าจะเป็นการปฐมพยาบาลฉุกเฉิน, ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันอัคคีภัยและการดับเพลิง สามารถใช้เทคนิคการเอาตัวรอดในทะเลได้ และสามารถใช้เรือช่วยชีวิตและและเรือกู้ภัยได้ เรียกว่าครบเครื่องกว่าลูกเรือเข้ายามฝ่ายเดินเรือ และที่สำคัญ รายได้ก็จะมากกว่าแน่นอนครับ
     

    ส่งท้ายกับนายท้ายชื่อดังของไทย

    แล้วแฟนๆ Seamoor Blog เคยรู้จักนายท้ายเรือคนไหนกันบ้างครับ ?

    ผมว่าพวกเราทุกคนต้องรู้จัก ‘พันท้ายนรสิงห์’ นายท้ายเรือผู้ซื่อสัตย์ รักษากฎระเบียบด้วยชีวิต อย่างแน่นอน

    นายสิงห์นักมวยผู้เก่งกล้า แห่งแขวงวิเศษไชยชาญ อาจหาญต่อกรกับนายเดื่อ นักมวยจากเมืองกรุงที่เก่งกาจฉกรรจ์ ครั้นความลับถูกเปิดเผยเมื่อ ‘พระเจ้าเสือ’ ก็คือนายเดื่อผู้ปลอมตัวมา ด้วยความที่ชื่นชอบในฝีมือมวย พระเจ้าเสือมีพระราชโองการให้นายสิงห์เข้ารับราชการแต่งตั้งให้เป็นพันท้ายนรสิงห์และปฏิบัติราชการด้วยความซื่อสัตย์และเคร่งครัดต่อกฎระเบียบ แต่ทว่า พันท้ายนรสิงห์ได้คัดท้ายเรือพระที่นั่งไปชนกับกิ่งไม้ ซี่งถือว่าเป็นการกระทําผิดกฎมณเฑียรบาลมีโทษถึงประหารชีวิต แม้พระเจ้าเสือพยายามจะช่วย แต่พันท้ายนรสิงห์ก็หายอมไม่ จนสุดท้ายเราก็ได้มีตำนานวีรบุรุษผู้ซื่อสัตย์ และเคร่งครัดต่อหน้าที่

    นายท้ายเรือในปัจจุบันไม่มีต้องโทษประหารชีวิตแล้วนะครับ ถ้าถือท้ายไปชนอะไร ถ้าทำตามคำสั่งของกัปตันเรือหรือนายยามฝ่ายเดินเรือ เพราะฉะนั้น สบายใจได้ครับ 555

    สำหรับท่านที่สนใจจะไปทำงานบนเรือในตำแหน่งนายท้ายเรือ ถ้ายังไม่เคยลงเรือหรือมีประสบกาณณ์มาก่อน ภายใต้อนุสัญญา STCW ก็ต้องไปเข้าอบรมในสถาบันที่กรมเจ้าท่ารับรอง และจะต้องมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบงานต่าง ๆ ภายในเรือได้ ซึ่งได้แก่ งานด้านการเดินเรือ (Navigation) งานด้านการจัดการและงานการขนถ่ายสินค้า (Cargo handling and stowage) งานด้านการควบคุมการ ปฏิบัติการของเรือและการดูแลบุคคลบนเรือ (Controlling the operation of the ship and carefor persons on board) เป็นต้น จากนั้นก็ต้องลงไปทำงานในเรือฝ่ายปากเรือในตำแหน่งกลาสีก่อน พอได้ระยะเวลาปฏิบัติงานในทะเลในฝ่ายเดินเรือบนเรือขนาด 500 ตันกรอสส์หรือมากกว่าครบตามที่กำหนด ก็สามารถไปสอบขอประกาศนียบัตรนายท้ายได้ที่กรมเจ้าท่าครับ โดยจะแบ่งเป็นสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์

    จากประสบการณ์ที่ผมอยู่เรือมากว่า 20 ปี ผมเห็นนายท้ายหลายคนที่เคยมาทำงานอยู่กับผมบนเรือปัจจุบันเขาเป็นกัปตันเรือกันแล้ว พวกเขาทำได้ คุณก็ทำได้ครับ

    แล้วพบกันใหม่ใน Seamoor blog ฉบับหน้าครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: กรกฎาคม ค.ศ. 2022

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *