สรั่งขอแค่สั่งมาก็พร้อมเป็นทุกอย่างให้เธอ

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    ความเดิมจากตอนที่แล้ว (ทำยังกะนิยายรักเรื่องยาว 555) ผมได้พาพวกเราไปรู้จักกับตำแหน่งผู้ช่วยต้นเรือซึ่งเป็นตำแหน่งแรกของนายประจำเรือฝ่ายปากเรือกัน ตอนนี้ก็ถึงเวลาตำแหน่งหัวหน้าลูกเรือฝ่ายเดินเรือกันบ้างครับ เราเรียกสุภาพบุรุษตำแหน่งนี้ว่า ‘สรั่ง’ ครับ
     

    ที่มาของสรั่ง

    สรั่งเป็นตำแหน่งที่อาวุโสสูงสุดของลูกเรือฝ่ายเดินเรือ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Boatswain มาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า batswegen ซึ่งมาจากคำว่า bat (เรือ) ที่เชื่อมกับ Old Norse Sveinn (swain) ซึ่งหมายถึงชายหนุ่ม เด็กฝึกงานผู้ติดตาม หรือคนใช้ ภายหลังก็ถูกสะกดเป็น Bosun ตามหนังสือเรื่อง The Tempest ของเช็กสเปียร์ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1611 และถูกใช้ต่อกันเรื่อยมา

    ‘สรั่ง’ ตามพจนานุกรมไทยหมายถึง หัวหน้ากะลาสีครับ คำ ๆ นี้น่าจะเพี้ยนมาจากแขกเปอร์เซียที่ล่องเรือเข้ามาค้าขายในบ้านเราสมัยก่อน ภาษาเปอร์เซียคำว่า ‘ซาลาร์’ แปลว่าหัวหน้า แล้วคนไทยก็คงเห็นแขกเรียกหัวหน้าของลูกเรือว่า ‘ซาลาร์ๆๆๆ’ พอนานเข้าก็เพี้ยนจนกลายเป็นสรั่งในที่สุด

    คนประจำเรือที่จะทำหน้าที่สรั่งจะต้องมีประสบการณ์และผ่านงานลูกเรือมาหลายปี มีภาวะผู้นำ และมีความรู้ความสามารถด้านพื้นฐานชาวเรือเป็นอย่างดีครับ เช่น งานบำรุงรักษาตัวเรือ แทงลวดแทงเชือก ผูกเงื่อนต่าง ๆ โดยภาระงานในแต่ละวันจะได้รับมอบหมายงานจากต้นเรือ ก็เป็นงานด้านสินค้า การดูแลรักษาตัวเรือ การเคาะสนิมทาสีตัวเรือ หรืองานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย จากนั้นสรั่งก็จะไปจ่ายงานให้ลูกน้องคือ นายท้ายและกะลาสีเรือต่อ ซึ่งสรั่งก็จะพิจารณาจ่ายงานให้แต่ละคนตามความรู้ความสามารถโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและผลลัพธ์ของงานเป็นหลัก ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ สรั่งก็จะเหมือนกับงานโฟร์แมนบนบกนั่นแหละครับที่รับงานผู้รับเหมามาแล้วมาจ่ายงานต่อให้คนงาน
     

    คุณสมบัติเบื้องต้นสรั่ง

    ในปัจจุบัน สรั่งสัญชาติไทยที่ทำงานอยู่บนเรือบรรทุกสินค้าที่วิ่งระหว่างประเทศต้องถือประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชํานาญลูกเรือชํานาญงานฝ่ายเดินเรือ (Rating as able seafarer deck) ตามข้อบังคับกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับการสอบความรู้ของผู้ทําการในเรือ พ.ศ. 2565 โดยต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นดังต่อไปนี้ครับ

    1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
    2. มีคุณสมบัติตามข้อกําหนดสําหรับการออกประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชํานาญลูกเรือเข้ายามฝ่ายเดินเรือ
    3. มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานความรู้ความสามารถสําหรับลูกเรือชํานาญงานฝ่ายเดินเรือตามภาคผนวก 2 ในตารางที่ A-II/5 ของอนุสัญญา STCW ในเรื่องต่อไปนี้
      3.1 ความรู้เรื่องการเดินเรือในระดับสนับสนุน
      3.2 การจัดการสินค้าและการวางสินค้าบนเรือระดับสนับสนุน
      3.3 ควบคุมการปฏิบัติงานบนเรือและดูแลคนประจำเรือในระดับสนับสนุน
      3.4 การบำรุงรักษาและการซ่อมแซมในระดับสนับสนุน

     

    โดย ‘ระดับสนับสนุน’ (support level) หมายถึง ระดับความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานหน้าที่และความรับผิดชอบในเรือตามที่รับมอบหมายและอยู่ภายใต้การควบคุมกํากับของผู้ปฏิบัติงานในระดับปฏิบัติการและระดับบริหาร

    สมัยผมลงเรือในวันแรกของชีวิตในตำแหน่งนักเรียนฝึกฝ่ายปากเรือ ผมก็ต้องฝากชีวิตไว้กับสรั่งนี่แหละครับ เพราะต้นเรือจะสั่งว่าให้เก็บเกี่ยวความรู้ทุกอย่างของสรั่งให้หมด ช่วงแรก ๆ ก็เดินตามสรั่งต้อย ๆ ทุกย่างก้าว ทุกอย่างเป็นเรื่องแปลกใหม่น่าตื่นเต้นของผมไปหมด ช่วง 6 เดือนแรกผมไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นสะพานเดินเรือเลย ต้องทำงาน Day work กับสรั่งตลอด ซึ่งผมว่าผมโชคดีมาก ๆ ที่เจอสรั่งดีและไม่หวงวิชา สรั่งคนแรกของผมชื่อ ‘วิชัย’ แกเป็นสรั่งมานาน เดินเรือมาแล้วรอบโลก ภาษาชาวเรือเรียกว่าเขี้ยวลากดินเลยล่ะ ด้วยความขยันและตั้งใจของผม แกเลยถ่ายทอดวิชาให้แบบหมดไส้หมดพุง ผมเลยได้ความรู้พื้นฐานของคนประจำเรือฝ่ายปากเรือมามากพอสมควรเลยครับ

    ถ้าเชื่อเรื่องสายมู มีเรื่องเล่ากันว่า สรั่งจะเป็นคนที่เจอผีบ่อยที่สุดเพราะต้องออกไปประจำสถานีทิ้งสมอที่หัวเรือตอนดึก ๆ อยู่ บ่อย ๆ แล้วบริเวณหัวเรือที่ชักธงไทยก็มักจะมีดอกไม้ผ้าแพรเจ็ดสีผูกอยู่เต็มไปหมด บางครั้งดูหน้าเกรงขาม แต่ช่วงผมเป็นนักเรียนฝึกตามสรั่งไปทุกที่ทุกเวลาก็ไม่เคยเจอนะครับสงสัยไม่ค่อยถูกโฉลกกัน เสียดาย! ไม่งั้นคงได้ถูกหวยรางวัลใหญ่กับเขาบ้าง 555
     

    Photo by motomoto sc on Unsplash

     

    หน้าที่และความรับผิดชอบของสรั่ง

    มาดูหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ๆ ของสรั่งกันบ้างครับ แน่นอนครับ สรั่งจะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากต้นเรือและทำงานต่อไปนี้

    1. ดำเนินการจ่ายงานประจำวัน กำกับดูแล และฝึกอบรม ตลอดจนประเมินผลผู้ใต้บังคับบัญชาแผนกเดินเรือ

    2. ควบคุมดูแลการใช้และจัดทำบัญชีของใช้สิ้นเปลืองแผนกเดินเรือ เช่น สีทาเรือ, ลวด, เครื่องมือ, วัสดุที่ใช้ผูกรัดสินค้าและจัดระวางสินค้าเป็นไปอย่างประหยัดและบรรทุกให้ได้มากที่สุด

    3. เก็บกวาดและทำความสะอาดระวางสินค้า เก็บรวบรวมไม้ดันเนจและวัสดุที่ใช้ในการผูกรัดสินค้าเพื่อสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกในครั้งต่อไป

    4. ตรวจและปิดผนึกประตูกั้นน้า และฝาช่องทางเข้าระวางให้แน่นสนิท ช่องทางระบายอากาศ ก่อนเรือออกเดินทาง

    5. ทำความสะอาดและบำรุงรักษาตัวเรือ, ดาดฟ้า, ระวางสินค้า และฝาระวางสินค้าตลอดจนบริเวณที่ที่พักอาศัย และช่องทางเดินให้สะอาดถูกสุขอนามัย

    6. ใช้และเก็บรักษาเชือก/ลวดผูกเรือ และสมอเรือให้ถูกต้องขณะที่เรือกำลังจะเข้าเทียบหรือออกจากเทียบในเมืองท่าหรือขณะที่จอดอยู่ในท่าเรือ

    7. รับผิดชอบงานซ่อมทำและปฏิบัติการบำรุงรักษาเรือในแผนกเดินเรือทุกอย่าง

    8. ดำเนินการฝึกอบรมผู้ใต้บังคับบัญชาและชี้แจงพวกเขาให้ทราบถึงวิธีการทำงานเมื่อได้รับคำสั่งจากต้นเรือ

    9. จัดทำรายงานเกี่ยวกับจุดหลัก ๆ ของแผนงานบำรุงรักษาเรือในแต่ละเที่ยวเรือแล้วเสนอให้ต้นเรือเพื่อขอรับคำแนะนำในการปฏิบัติต่อไป

    10. ปฏิบัติงานด้านบำรุงรักษา ทำบันทึกและรายงานให้แผนกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทราบ

    11. เข้าประจำที่สถานีหัวเรือเพื่อใช้เครื่องกว้านสมอขณะที่เรือกำลังจะออกจากหรือเข้าเทียบท่าเรือเข้าผูกทุ่นจอดเรือ หรือทิ้งสมอ/ฮะเบสสมอ

    สรั่งต้องเชื่อมประสานทุกฝ่ายเพื่อให้งานลุล่วง

    จริง ๆ แล้วตำแหน่งสรั่งนอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเดินเรือแล้ว ยังเป็นตำแหน่งระหว่างกลางของนายประจำเรือฝ่ายเดินเรือและลูกเรือ ในสมัยก่อนบางทีเขาก็จะถือว่าสรั่งเป็น Petty Officer เลยทีเดียว คือกัปตันเรือหรือนายเรือในสมัยโบราณ เขาจะเลือกผู้ช่วยผู้บังคับการเรือของเขาเองซึ่งทำหน้าที่ตามความพอใจของกัปตัน ตำแหน่ง Boatswain ก็เลยได้รับการยกย่องให้เป็น Officer กลาย ๆ

    คนจะทำหน้าที่สรั่งได้ ต้องเป็นที่น่านับถือจากลูกเรือ คุณสมบัติประการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อสรั่งมีความรู้และความชำนาญในงานต่าง ๆ ลูกเรือฝ่ายเดินเรือก็จะเกิดความศรัทธาและนับถือในตัวสรั่งเรือ ซึ่งเปรียบเหมือนหัวหน้าของนายท้าย นอกจากนี้ สรั่งต้องผู้มีมนุษย์สัมพันธ์และมีหลักความเป็นผู้นำ คือต้องเข้าใจความต้องการของต้นเรือ และขณะเดียวกันก็เข้าใจขีดความสามารถของนายท้าย ลูกน้องมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการตรากตรำทำงานมาแล้วเพียงไร แต่การที่จะดำเนินการให้งานที่ต้นเรือสั่งนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ควรจะทำอย่างไร เพื่อมิให้นายท้ายรู้สึกระคายเคืองความรู้สึก ซึ่งจะมีผลต่อการบังคับบัญชาในโอกาสต่อไป และที่สำคัญสรั่งต้องมีร่างกายที่แข็งแรง เพราะสภาพงานที่ต้องเดิน วิ่ง และปีนป่ายต่าง ๆ ทำให้ต้องใช้พละกำลังมาก

    อันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสรั่งเรือในการทำงานคือ อุบัติเหตุอันเนื่องมาจากเครื่องมือที่ใช้ในการบรรทุกและขนถ่ายสินค้า เช่น เครน ปั้นจั่น เชือก ลวดสลิง โซ่ ฯลฯ เหล่านี้เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่มหึมา มีน้ำหนักมาก หากไม่ระมัดระวังหรือมีข้อผิดพลาดในการใช้ เครื่องมือและอุปกรณ์เหล่านี้ อาจจะเหวี่ยง ฟาด ทับ หรือกระแทกส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ทำให้เกิดการบาดเจ็บอย่างร้ายแรงหรือถึงแก่ชีวิตได้ครับ

    สรั่งเรือเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้ทั้งกำลังความคิดและกำลังกาย จึงเป็นตำแหน่งที่ต้องตรากตรำมาก ดังนั้น ตำแหน่งนี้จึงเหมาะสมกับคนที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตมั่นคงแข็งแรงและเข้มแข็งซึ่งก็เท่ากับเป็นบุคคลที่อยู่ในวัยฉกรรจ์นั่นเอง คนที่ทำงานนาน ๆ อายุมากขึ้น ๆ สังขารย่อมร่วงโรยไป จึงเป็นไปได้ยากที่จะรับหน้าที่ในตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบสูง และทำงานในบนเรือในทะเลที่ทั้งต้องฝ่าคลื่นลม ยืนและทรงตัวบนเรือที่โยนไปโยนมา ดังนั้น สรั่งเรือที่อายุมากจำเป็นต้องลาออกไปประกอบอาชีพอื่น ๆ บนบก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่คนใหม่ ๆ ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามารับงานต่อไป ซึ่งผมบอกได้เลยว่า งานในตำแหน่งสรั่งเรือเป็นที่ต้องการอยู่ตลอดเวลาครับ

    แล้วพบกันใหม่ใน Seamoor Blog ฉบับหน้าในตำแหน่งนายท้ายครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: มิถุนายน ค.ศ. 2022

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *