กัปตันเรือ: King of the Ship

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับ แฟนคลับ Seamoor Blog ทุกท่าน

    คราวก่อนผมเล่าถึงตำแหน่งต่าง ๆ บนเรือ ซึ่งถ้าทวนความจำกันสักนิดก็คือมี 2 แผนกหลัก ๆ คือฝ่ายเดินเรือกับฝ่ายช่างกลเรือ

    คราวนี้ผมจะเล่าถึงตำแหน่งกัปตันที่เป็นผู้ที่คอยควบคุมดูแลและมีสิทธิ์ขาดบนเรือ ซึ่งการจะเป็นกัปตันเรือ ไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ นะครับ

    คนธรรมดากลายเป็นกัปตันเรือใน 6 ได้อย่างไร?

    ยกตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ จากตัวผมเองละกัน ผมจบการศึกษาจากศูนย์ฝึกพาณิชยนาวีซึ่งเป็นสถาบันหลักในการผลิตบุคลากรทางด้านพาณิชยนาวีของประเทศ หลังจากจบการศึกษาพร้อมประกาศนียบัตรต้นหน ตำแหน่งแรกที่ผมไปทำงานคือ ผู้ช่วยต้นเรือ หรือภาษาง่าย ๆ เราเรียกกันว่า 3/O (สามโอ) ครับ

    เป็น 3/O อยู่ 8 เดือน ก็ได้รับการโปรโมตเป็นต้นหน ต้องทำงานต้นหนบนเรือจนมีระยะเวลาทำการในเรือหรือ Sea Service 2 ปี บนเรือที่วิ่งจดทะเบียนระหว่างประเทศ ถึงไปสอบเลื่อนประกาศนียบัตรเป็นต้นเรือ จากนั้นต้องเก็บ Sea Service อีก 2 ปีในตำแหน่งต้นเรือ ถึงจะมีสิทธิ์ไปสอบเป็นกัปตันเรือได้

    สมัยก่อนตอนไปสอบ กว่าจะผ่านมาได้ เลือดตาแทบกระเด็นครับ เพราะข้อสอบเป็นข้อเขียน เรียกว่านั่งเขียนกันมือหงิกเลย หลังจากได้ประกาศนียบัตรนายเรือ หรือเราเรียกกันว่า ตั๋วกัปตันแล้ว ก็อยู่ที่ฝีมือและโอกาสแหละครับว่าจะเข้าตาทางบริษัทฯ ยอมให้เราไปดูแลเรือมูลค่าหลายร้อยล้าน สินค้าอีกมูลค่ามหาศาล ชีวิตคนประจำเรือ ตลอดจนการป้องกันมลภาวะทางทะเลหรือเปล่า เพราะอย่างที่ผมบอกแหละครับ กัปตันคือคนที่ดูแลและรับผิดชอบบนเรือทุกอย่าง ๆ เกิดเรือพลาดไปทำน้ำมันหกล้นในทะเลจนเกิดมลภาวะจากน้ำมัน คนที่เอาหลังพิงคุกคนแรกก็คือกัปตันแหละครับ สำหรับผมก็ใช้เวลา 6 ปี จาก 3/O จนได้เป็นกัปตันครับ

    ""

    กัปตันมีหน้าที่และความรับผิดชอบอะไรบ้าง?

    ถ้าจะให้เล่าว่าหน้าที่และความรับผิดชอบของกัปตันมีอะไรบ้าง ผมขอเล่าเท่าที่ผมนึกออกจากประสบการณ์ตรงจริง ๆ ของตัวเองละกันครับ

    1. ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเจ้าของเรือ มีภาระผูกพันให้เรือเป็นไปตามอนุสัญญา กฎข้อบังคับต่าง ๆ เช่น STCW, SOLAS, MARPOL, ISPS, MLC, กฎหมาย, ข้อบังคับเมืองท่า และท่าเรือรวมถึงนโยบายของบริษัทด้วย นอกจากนี้ กัปตันยังมีอำนาจสั่งการข้ามขั้นตอนปกติ (Overriding Authority) ด้วย เช่น ถ้ากฎบอกว่าต้องไปทางซ้าย แต่กัปตันคิดว่าไปทางขวาปลอดภัยกว่าในสถานการณ์นั้น ๆ กัปตันก็มีอำนาจทำได้ครับ

    2. เป็นผู้นำสูงสุดบนเรือ และมีอำนาจหน้าที่เต็มในการสั่งการปฏิบัติงานได้ตลอดทั้งในเวลาเรือจอดและเรือเดิน เพื่อที่จะรักษาชีวิต สิ่งแวดล้อม รวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ ของบริษัทฯ ด้วยครับ

    3. รับผิดชอบในทุก ๆ เรื่องเกี่ยวกับ คนประจำเรือ สินค้า และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อให้เรือพร้อมที่จะออกทะเลได้อย่างปลอดภัย หรือเราเรียกว่า Seaworthiness ครับ

    4. เวลาอยู่กลางทะเล เนื่องจากคนประจำเรือมาจากร้อยพ่อพันแม่ ความรู้ในการทำงานและความปลอดภัยในทะเลไม่เท่ากัน กัปตันก็ต้องมีหน้าที่ให้การกำกับดูแล ฝึกอบรม อีกทั้งให้คำแนะนำที่เหมาะสมและชัดเจน เพื่อให้ทุกคนสามารถปฏิบัติตามนโยบายของบริษัทฯ ว่าด้วยความปลอดภัยและป้องกันสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง

    5. บนเรือจะมีระบบ Safety Management System (SMS) หรือระเบียบปฏิบัติของเรือว่าด้วยการจัดการความปลอดภัยและการป้องกันมิให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมครับ กัปตันมีหน้าที่ในการพิจารณทบทวนว่าสิ่งบกพร่องใด ๆ ที่ตรวจพบควรจะรายงานให้ผู้รับมอบอำนาจของบริษัทฯ ได้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

    6. เมื่อพบข้อบกพร่องหรือมีอะไรเสียหายบนเรือ กัปตันมีหน้าที่รับผิดชอบในการแจ้งให้บริษัทฯ ทราบถึงข้อบกพร่อง (Non-Conformance) ที่พบเกี่ยวกับโครงสร้างของเรือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ กัปตันต้องสามารถขอความช่วยเหลือจากบริษัทฯ ณ ที่หรือเวลาใด ๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นช่างเทคนิคหรือผู้รับเหมาอื่นจากภายนอก เพื่อแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องที่พบในกรณีเร่งด่วน

    7. ช่วยบริษัทประหยัดครับ กัปตันต้องให้ความสนใจในการบริหารเรืออย่างประหยัด ต้องมั่นใจว่าเสบียงเรือ สโตร์ภายในเรือ อะไหล่เรือ และเครื่องมือ จะไม่มีการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายและจะไม่มีการกักตุนของใช้อื่น ๆ ไว้บนเรือจนเกินความจำเป็น แต่ก็ต้องให้เพียงพอกับการใช้งานบนเรือครับ

    8. ดูแลสวัสดิการ สวัสดิภาพ สุขาภิบาลในเรือและความปลอดภัยในการทำงานบนเรือของคนประจำเรือครับ ถ้าเรือต้องปฎิบัติตามอนุสัญญา MLC ก็จัดการให้เป็นไปตามนั้นครับ

    9. ดูแลความปลอดภัยในการเดินเรือ กำหนดให้มีคนที่มีความรู้ความสามารถขึ้นไปเข้ายามเรือเดินเวลาเรืออยู่ในทะเลเปิด พร้อมที่จะช่วยเหลือนายยามเรือเดินทันทีที่ถูกร้องขอ และขึ้นไปนำเรือเองเมื่อเรือกำลังจะเดินทางเข้าเทียบท่าจอดเรือและออกจากเมืองท่า เมื่อเรืออยู่ในน่านน้ำจำกัด อยู่ในแผนแบ่งแนวจราจร หรือบริเวณที่มีเรือสัญจรคับคั่งหรือใกล้ฝั่ง ตลอดจนเรือกำลังจะผ่านบริเวณใกล้ ๆ กับที่ตื้น แนวหินใต้น้า หรือในเขตเดินเรือที่มีอันตราย ในช่วงเรือประสบกับสภาพอากาศที่เลวร้าย เช่น คลื่นลมแรง หมอกลงจัด เป็นต้น กัปตันก็ควรจะอยู่บนสะพานครับ

    นั่นเป็นเท่าที่ผมนึกออกนะครับ ยังมีอีกมากมายปลีกย่อย ก็แล้วแต่สไตล์การบริหารงานของกัปตันแต่ละท่าน ของผมก็จะยังมี พาลูกน้องออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพประจำเดือนให้พาลูกน้องร้องคาราโอเกเวลามีปาร์ตี้ในช่วงงานเทศกาลต่าง ๆ อีกด้วย 555

    หลังจากอยู่เรือจนอิ่มตัว เหล่ากัปตันก็สามารถผันตัวเองขึ้นไปงานบนบกได้ครับ มีงานต่าง ๆ ในวงการพาณิชยนาวีที่รอกัปตันเก่ง ๆ ไปร่วมงานมากมายครับ เอาง่าย ๆ จะมีใครรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเรือและทะเลมากไปกว่ากัปตันกัน ก็คงจะหายากหน่อยละครับ ดังนั้น ถ้าได้ทำงานเป็นคนประจำเรือและขึ้นไปถึงตำแหน่งกัปตัน อย่างน้อยอนาคตสดใสแน่นอนครับ

    ไว้ตอนต่อไป ผมจะมาเล่าให้ฟังว่าตำแหน่งต้นเรือเขาทำอะไรกันบ้าง คอยอ่านนะครับตำแหน่งนี้สำคัญเลย เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินอะไรกับกัปตันบนเรือ ต้นเรือนี่แหละครับที่จะเป็นผู้บังคับบัญชาบนเรือในลำดับถัดมา

    แล้วเจอกัน

    โชคดีครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *