‘ต้นเรือ’ ผู้ช่วยข้างกายกัปตันที่เปรียบดั่งขุนพลเอกคู่ใจราชันจอมทัพ

Picture of Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor Blog ทุกท่าน

    ความเดิมของตอนที่แล้ว (ทำยังกะเล่าละครเรื่องยาว) ผมได้เล่าให้พวกเราฟังเกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบและหน้าที่ของกัปตันเรือไป คราวนี้ ผมขอพาพวกเราไปรู้จักกับตำแหน่งแม่บ้านของเรือทุกลำกัน

    ขอเสียงปรบมือต้อนรับ ‘ต้นเรือ’ (Chief Officer) ครับ
     

    ความสำคัญของต้นเรือ

    ต้นเรือเป็นหัวหน้าของแผนกเดินเรือครับ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Chief Officer หรือ Chief Mate แล้วแต่จะเรียก งานของฝ่ายเดินเรือทั้งหมด ต้นเรือจะเป็นคนรับผิดชอบดูแล ซึ่งรวมถึงงานสินค้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางสินค้าบนเรือ (Cargo Stowage), การคำนวนการทรงตัวของเรือ (Ship stability) แม้กระทั่งงานเกี่ยวกับอาหารการกิน ความเป็นอยู่บนเรือต่าง ๆ ต้นเรือก็ต้องเข้าไปดูแลเอาใจใส่เพื่อให้ลูกเรือทุกคนมีความสุขและปลอดภัยในการทำงานบนเรือ

    ในบางบริษัท ต้นเรือยังถูกกำหนดให้เป็น Safety Officer and Ship Security Officer อีกด้วย และบางเวลาก็ต้องทำหน้าที่เป็นคุณครูที่ดี คอยสอนนักเรียนฝึกฝ่ายเดินเรือ นอกจากนี้ ต้นเรือยังต้องคอยฝึกความพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ บนเรือให้คนประจำเรือ เช่น สถานีสละเรือใหญ่, การดับเพลิงบนเรือ, การค้นหาและช่วยชีวิตในทะเล เป็นต้น

    และที่สำคัญคือ ส่วนมากต้นเรือจะถูกกำหนดให้เป็นผู้บังคับบัญชาลำดับรองลงมาของเรือในกรณีกัปตันเรือไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้

    ยังไม่หมดครับ ช่วงระหว่างเรือเดินอยู่ในทะเล ต้นเรือต้องทำหน้าที่เข้ายามเรือเดินในช่วง 0400-0800 และ 1600-2000 อีกด้วย

    ถึงตอนนี้ หลายคนอาจจะถามว่า งานเยอะขนาดนี้ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปนอนเนี่ย? ก็ต้องหาจนได้แหละครับ ไม่งั้นพอเวลาพักผ่อนไม่พอก็มีปัญหากับการทำงานอีก
     

    ประสบการณ์จริงจากตอนที่เป็นต้นเรือ

    ผมขอเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองช่วงเป็นต้นเรือให้ฟังครับ หลังจากผมทำหน้าที่เป็นต้นหนได้ 2 ปีและสอบเลื่อนประกาศนียบัตรที่กรมเจ้าท่าจนได้ตั๋วต้นเรือแล้ว (คนเรือนิยมเรียกประกาศนียบัตรที่เราถืออยู่ว่าตั๋วครับ) ผมก็ได้รับการโปรโมตเป็นต้นเรือแทบทันทีเลย

    เหตุผลง่าย ๆ ก็คือช่วงปลายของการทำหน้าที่เป็นต้นหน ผมได้ฝึกปรืองานของต้นเรือมาจนครบหมดแล้ว เวลาเรือเข้าไปบรรทุกสินค้าตามเมืองท่าต่าง ๆ ผมจะอาสาพี่ต้นเรือของผมคำนวณสินค้าและการทรงตัวของเรือ ส่วนเมนูอาหารประจำสัปดาห์ ผมก็เป็นคนคิดให้พ่อครัว รวมถึงงานเอกสารต่าง ๆ ที่ต้นเรือต้องทำ ผมก็พยายามทำความเข้าใจมัน เพราะคิดล่วงหน้าไว้แล้วว่า เมื่อถึงเวลาของตัวเองจะได้ไม่ปวดหัวมาก ดังนั้นพอถึงเวลาที่ผมต้องเป็นต้นเรือจริง ๆ ผมจึงค่อนข้างพร้อมและไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่

    ช่วงที่เป็นต้นเรือเป็นช่วงที่ผมอยู่กับกัปตันหลายคน ทั้งคนไทยและต่างชาติ เลยได้ประสบการณ์ต่าง ๆ มากมายทั้งดีและร้าย

    สมัยก่อนที่ระบบ ISPS ยังไม่บังคับใช้ ผมเคยเจอเหตุการณ์ที่มีคนแอบหนีขึ้นเรือ (Stowaway) ต้องคอยดูแลเขาเกือบเดือนบนเรือกว่าจะส่งขึ้นฝั่งได้ เคยเจอเหตุการณ์เรือโดนกันในร่องน้ำเจ้าพระยากับเรือลากจูงจนเรือลำนั้นจมคาร่องน้ำ และผลที่ตามมาคือผมถูกกันไปเป็นพยานในศาลอีกหลายปี และอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ถ้าจะให้เล่ากันจริง ๆ น่าจะยาว แต่มันเป็นประสบการณ์อันทรงคุณค่าของผมเลยทีเดียว เพราะผมตั้งใจว่าผมจะต้องไม่ผิดพลาดซ้ำสองในเรื่องที่ผมเคยเจอหากตัวเองได้เป็นกัปตันในอนาคต แล้วก็จริงครับ ช่วงผมเป็นกัปตัน ผมไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่ผมเคยเจอสมัยเป็นต้นเรือเลย

    คนเราไม่ควรเจ็บซ้ำสองครับ บางคนกล่าวไว้
     

    คุณสมบัติต้นเรือที่ดี

    การที่ใครสักคนจะลงไปทำงานในตำแหน่งต้นเรือของเรือพาณิชย์และเรือบรรทุกสินค้าได้ โดยเฉพาะเรือที่ขนาดเกิน 500 GRT และจดทะเบียนวิ่งระหว่างประเทศ ต้องเป็นผู้มีประกาศนียบัตรหรือใบรับรองความรู้ความสามารถของผู้กระทำการในเรือ (Certificate of Competency, COC) เป็นไปตามข้อบังคับของรัฐเจ้าของธงเรือที่ออกประกาศนียบัตร หรือถูกต้องตามที่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรม การรับรองคุณสมบัติคนประจำเรือ และการเข้ายามของคนประจำเรือ (STCW) กำหนด ในบางครั้งเราสามารถใช้ตั๋วที่สูงกว่าลงทำการในตำแหน่งที่ต่ำกว่าได้ เช่น ใครที่ถือตั๋วนายเรือก็สามารถไปลงทำการในตำแหน่งต้นเรือได้ด้วย

    ตำแหน่งต้นเรือถือเป็นผู้บริหารระดับสูง (Senior Officer) บนเรือ โดยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดินเรือระดับบริหารตาม STCW Regulation II/3 การจะถือประกาศนียบัตรของต้นเรือได้ต้องผ่านหลักสูตรอบรมตามมาตรฐานที่ STCW กำหนดดังนี้ครับ (นี่ไม่นับการอบรมพิเศษต่าง ๆ กรณีไปลงเรือแบบต่าง ๆ เช่น เรือบรรทุกน้ำมัน เรือบรรทุกแก๊ส เป็นต้น)

    1. หลักสูตร Elementary First Aid (IMO Model Course 1.13)
    2. หลักสูตร Personal Survival Techniques (IMO Model Course 1.19)
    3. หลักสูตร Fire Prevention and Fire Fighting (IMO Model Course 120)
    4. หลักสูตร Personal Safety and Social Responsibilities (IMO Model Course 1.21)
    5. หลักสูตร Proficiency in Survival Craft and Rescue Boats (other than Fast Rescue Boats) (IMO Model Course 1.23)
    6. หลักสูตร Advanced Training in Fire Fighting (IMO Model Course 2,03)
    7. หลักสูตร Medical First Aid (IMO Model Course 1.14)
    8. หลักสูตร Medical Care (IMO Model Course 1.15)
    9. หลักสูตร Ship Security Officer (IMO Model Course 3.19)
    10. หลักสูตร Bridge Resource Management
    11. หลักสูตร Leadership and Teamwork (IMO Model Course 1.29)
    12. หลักสูตร Operational Use of Electronic Chart Display and Information Systems (ECDIS) (IMO Model Course 1.27)

     

    เห็นไหมครับว่าไม่ง่ายเลยกว่าจะได้เป็นต้นเรือ
     

    Photo by Z on Unsplash

     

    หน้าที่ความรับผิดชอบของต้นเรือ

    ต่อไป ผมมีหน้าที่และความรับผิดชอบของต้นเรือมาเล่าสู่กันฟัง เกิดมีน้อง ๆ คนประจำเรือที่ตั้งใจว่า สักวันหนึ่งจะต้องขึ้นเป็นต้นเรือ จะได้เตรียมพร้อมตัวเอง มาดูกันครับว่า ต้นเรือเขาทำอะไรกันบ้าง

    1. ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกเดินเรือ ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานและภาระหน้าที่ของนายประจำเรือฝ่ายเดินเรือ คนประจำเรือฝ่ายเดินเรือ และนักเรียนฝึกฝ่ายเดินเรือ

    2. ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมด้านความปลอดภัยหรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (Safety Officer) ทำหน้าที่ส่งเสริม ดูแลความปลอดภัยของคนประจำเรือในเรือ ตรวจสอบและพัฒนาเรื่องความปลอดภัยบนเรือให้เป็นไปตามมาตรฐานของอนุสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ

    3. ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมด้านความมั่นคงของเรือหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (Ship Security Officer) ในการตรวจสอบดูแลและจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยของเรือตามแผนความมั่นคงปลอดภัยเรือ (Ship security plan) ให้สอดคล้องกับประมวลข้อบังคับว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือระหว่างประเทศ (ISPS Code)

    4. ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายยามเรือเดินในการควบคุมและดูแลการเดินเรือของเรือให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัยตามแผนการเดินเรือและข้อบังคับต่าง ๆ รวมถึงการปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนกันของเรือและการปฏิบัติเท่าที่จำเป็นในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่เรือและชีวิตคนประจำเรือ โดยต้นเรือจะเข้ายามเรือเดินช่วง 0400-0800 และ 1600-2000

    5. ตรวจสอบและดูแลในเรื่องของการจัดวาง เคลื่อนย้าย และจัดเก็บสินค้าอันตราย รวมถึงการดูแลรักษาสินค้าอันตรายในระหว่างที่เรือเดินทะเลและการทำเอกสารบันทึกให้เป็นไปตามคำแนะนำของ IMDG Code

    6. เตรียมรายงานและบันทึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของตนอย่างเหมาะสมและตรงเวลา ตลอดจนช่วยเหลือในการบริหารงานเรือ กำกับดูแลความปลอดภัย และการทำงานในแผนกปากเรือให้เป็นไปอย่างประหยัด

    7. เตรียมงานสินค้าทั้งหมด รวมทั้งการเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือยกขนสินค้า, แผนผังการจัดระวาง, การแต่งทริม และการคำนวณการทรงตัวของเรือ ตลอดจนการทำความสะอาดระวางสินค้า, ถังน้ำอับเฉาการรับบรรทุกสินค้าลง แล้วเตรียมรายงานต่าง ๆ ให้พร้อมไว้เป็นหลักฐาน

    8. รับผิดชอบในเรื่องการบำรุงรักษาอุปกรณ์เครื่องทำงานสินค้าทั้งหมด, ฝาระวาง, เครื่องกว้านหัว-ท้าย, เครื่องกว้านมอเตอร์สินค้า, เครน, ระบบระบายอากาศของสินค้าในระวาง, ระบบการเปิด-ปิดระวางและถังน้ำอับเฉาให้อยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมใช้งานได้

    9. รับผิดชอบในการดำเนินการฝึกประจำสถานีเกี่ยวกับความปลอดภัยและเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ

    10. ดูแลและควบคุมการใช้และความสิ้นเปลืองของพัสดุ, อะไหล่ และอุปกรณ์แผนกเดินเรือทั้งหมด

    11. ประสานงานกับต้นกลเพื่อให้มั่นใจว่าเรือจะได้รับการบำรุงรักษาที่ถูกต้องก่อนการเข้าอู่ตามแผนหรือมีการซ่อมทำในช่วงระยะหนึ่ง ต้องเตรียมบัญชีรายการซ่อมทำแผนกเดินเรือแล้วส่งมอบให้แก่นายเรือเพื่อให้บริษัทฯ ได้พิจารณาต่อไป

    12. กำกับดูแลในการฝึกอบรมของคนแผนกเดินเรือ

    13. เป็นหัวหน้าสถานีประจำการที่หัวเรือเพื่อใช้เครื่องกว้านเชือกและกว้านสมอ ขณะที่เรือกำลังจะออกจากหรือเข้าเทียบท่าเรือ, เข้าผูกทุ่นจอดเรือหรือทิ้งสมอ/ฮะเบสสมอ

    14. เป็นแม่บ้านของเรือ ดูแลสารทุกข์สุกดิบของคนประจำเรือ รับผิดชอบการสั่งเสบียงอาหารและน้ำจืด ตลอดจนออกเมนูอาหารต่าง ๆ ร่วมกับพ่อครัวของเรือ

    สำหรับผม ตอนที่เป็นต้นเรือ ผมจะเสริมเรื่องการตรวจสุขภาพประจำเดือนเบื้องต้นให้คนประจำเรือด้วย เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง หาค่า BMI วัดความดันโลหิต ตลอดจนพาลูกเรือออกกำลังกายเมื่อมีโอกาส ช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ ก็จะพาลูกเรือนิมนต์พระพุทธรูปบนสะพานเดินเรือไปสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคลกัน เรียกว่า พยายามทำทุกอย่างให้ทุกคนบนเรือรู้สึกเหมือนอยู่บ้านตัวเอง เพราะเมื่อทุกคนบนเรือมีความสุข เขาก็จะตั้งใจทำงานและทำให้เรือปลอดภัยและไม่เกิดปัญหาครับ ใครที่เตรียมตัวจะเป็นต้นเรือ ลองเอาไปใช้ได้นะครับ ไม่สงวนลิขสิทธิ์

    ครั้งหน้า ผมจะมาเล่าให้ฟังครับว่าตำแหน่งสุดท้ายของ Junior Officer ในตำแหน่งต้นหน ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นต้นเรือ เขาทำหน้าที่อะไรกันบ้าง แล้วเจอกันครับ

    ขอให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิดครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: มีนาคม ค.ศ. 2022