‘กะลาสี’ ก้าวเล็ก ๆ ก้าวแรกสู่ฝ่ายปากเรือ

Picture of Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนครับ Seamoor blog ที่รักและคิดถึงทุกท่าน

    ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนตก ยังไงก็รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ ยิ่งช่วงนี้ โควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ซึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังมาแรง และทำท่าว่าการระบาดจะกลับมาอีกครั้ง ดังนั้น ผมจึงอยากฝากความห่วงใยมายังแฟนคลับทุกท่านนะครับ ผมว่าการฉีดวัคซีนรวมถึงการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรครุนแรง หรือมีอาการปอดอักเสบได้หากเกิดการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยนี้ ส่วนการป้องกันตนเอง ก็ยังสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ โดยการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่แออัด หรือสถานที่อับอากาศ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หลังสัมผัสสิ่งของหรือจุดสัมผัสสาธารณะ หรือเมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่ามือของตนเองสกปรก

    ด้วยความห่วงใยจากใจจริงครับ

    ใน Seamoor blog นี้ ผมจะพาพวกเราไปทำความรู้จักกับตำแหน่งลูกเรือฝ่ายเดินเรืออีกตำแหน่งครับ เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักตำแหน่งนี้อย่างแน่นอน ผมกำลังจะพูดถึง ‘กะลาสี’ หรือ Ordinary Seaman (OS) ครับ
     

    เริ่มนับหนึ่งเก็บประสบการณ์กันที่ตำแหน่งกะลาสีเรือ

    กะลาสีเรียกว่าเป็นตำแหน่งการฝึกงานของฝ่ายเดินเรือให้มีความรู้ความสามารถกันมานานหลายศตวรรษแล้ว โดย OS จะต้องทำงานบนเรือในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่า ‘ระยะเวลาทำการในทะเล (Sea Service)’ และเมื่อพวกเขามีประสบการณ์ในทะเลประมาณ 1-2 ปีแล้ว กัปตันเรือก็จะพิจารณาความรู้ความสามารถของพวกเขา ถ้าใครมีแววดี ก็จะสนับสนุนให้ขึ้นเป็นนายท้ายต่อไป

    ในอดีต ถ้า OS คนไหน มีประสบการณ์น้อยหรืออยู่บนเรือมานานแล้วไม่พัฒนาตัวเองสักที ก็จะมีคำแสลงเรียกเขาเหล่านั้นให้เจ็บช้ำน้ำใจว่า ‘Landsman’ ครับ ซึ่งหมายถึงประมาณว่าคุณน่าจะเป็นผู้อาศัยหรือทำงานอยู่บนบกมากกว่าอยู่บนเรือครับ (โห! ใครโดนเรียกแบบนี้เจ็บจี๊ดแน่ ๆ)

    การทำงานโดยทั่วไปของ OS ไม่ต้องขึ้นไปทำหน้าที่เข้ายามระวังเหตุ (Lookout) บนสะพานเดินเรือขณะเรือเดินครับ แต่พวกเขาต้องผ่านการสอบการเข้ายามบนสะพานเดินเรือร่วมกับนายยามและต้องถือท้ายให้เป็นก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายท้าย ดังนั้น OS ที่รักความก้าวหน้าทุกคนก็จะขึ้นไปศึกษาหาความรู้บนสะพานเดินเรือหลังจากเสร็จจากงานประจำวันเพื่อจะได้คุ้นเคยกับการถือท้ายและอุปกรณ์เครื่องช่วยการเดินเรือต่าง ๆ สมัยช่วงผมเป็นกัปตันเรือ ผมจะสั่งให้น้อง OS ขึ้นไปเรียนหนังสือฝึกถือท้ายกับต้นเรือบนสะพานเดินเรือ จนปัจุบันทราบข่าวว่า เขาเหล่านั้นได้เป็นกัปตันเรือ เป็นต้นเรือกันหลายคนแล้ว

    การฝึกงานในตำแหน่งของ OS ก็จะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน, การดูแลรักษาพื้นที่และอุปกรณ์ของแผนกเดินเรือ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามประเภทของเรือ ประเภทของการเดินทาง จำนวนลูกเรือ สภาพอากาศ ผู้บังคับบัญชาบนเรือ และปัจจัยอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม เราก็คาดหวังว่า OS ส่วนใหญ่ จะดูแลเรื่องการทำความสะอาด การดูแลรักษาอุปกรณ์บนปากระวาง ภายใต้การกำกับดูแลของคนประจำเรือฝ่ายเดินเรือรุ่นพี่ได้เป็นอย่างดี
     

    แจงหน้าที่กันเป็นข้อ ๆ ต้องฝึกปฏิบัติให้ดีจนชำนาญ

    โดยหน้าที่หลัก ของ OS จะประกอบไปด้วย

    1. เคาะสนิม ทาสี ดาดฟ้าและบริเวณที่พักอาศัย เนื่องจากตัวเรือเป็นเหล็ก ดังนั้นเมื่อโดนกับน้ำทะเล ก็จะทำให้เกิดคราบสนิมได้ง่าย ดังนั้นงานพวกนี้เป็นหน้าที่หลักของ OS เลยครับ

    2. กวาดและล้างดาดฟ้า น้ำทะเลและเกลือที่มากเกินไปบนดาดฟ้า อาจนำไปสู่อันตรายจากการลื่นไถล ตลอดจนการเกิดสนิมอย่างรวดเร็วของดาดฟ้าและอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ ดังนั้น OS มักจะแบกรับภาระอันหนักหน่วงในการทำหน้าที่กวาดและล้างเรือด้วยน้ำจืด

    3. การแทงเชือกและลวด เป็นคุณสมบัติที่ OS ที่ดีจะต้องมี ในสมัยก่อนความเชี่ยวชาญสำหรับงานประเภทนี้คือข้อกำหนดสำหรับการรับรองว่า OS คนนั้นจะเป็นคนประจำเรือที่มีความสามารถ แต่ปัจจุบัน ผมไม่แน่ใจว่า OS ยังผูกเชือก ผูกเงื่อนต่าง ๆ กันได้อยู่ไหม

    4. การใช้อุปกรณ์ในการยกถ่ายสินค้า เช่น ปั้นจั่น เครน ประจำเรือ ตลอดจนอุปกรณ์ในการรัดตรึงสินค้าต่าง ๆ OS ก็ต้องสามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่วและช่วยเหลือสรั่งปากเรือได้

    5. การปล่อยและเก็บเรือช่วยชีวิต ถือว่าเป็นความชำนาญอย่างหนึ่งที่ OS ต้องมีและต้องแสดงให้เห็น จึงจะผ่านการทดสอบว่ามีความสามารถด้านความปลอดภัยเป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยในทะเลครับ
     

    คุณสมบัติเบื้องต้นของกะลาสีเรือ

    สำหรับผู้ที่สนใจจะลงไปทำงานบนเรือ ตำแหน่ง OS ถือว่าเป็นบันไดขั้นแรกของการทำงานบนเรือฝ่ายเดินเรือเลยก็ว่าได้ ตามข้อกำหนดของ STCW ยังไม่ได้บังคับให้ OS ต้องมีประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถ (Certificate of Competency) อะไร เพียงแค่ท่านไปผ่านการฝึกอบรมกับสถาบันที่กรมเจ้าท่ารับรอง และมีเอกสารต่อไปนี้ ท่านก็สามารถไปเริ่มต้นชีวิตการเป็นคนประจำเรือในตำแหน่ง OS ได้แล้ว

    1. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชํานาญพื้นฐานความปลอดภัย (COP, Basic training)
    2. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชํานาญพื้นฐานการรักษาความปลอดภัยในเรือ (COP, Security Awareness)
    3. ประกาศนียบัตรสุขภาพ (Medical Fitness Certificate)
    4. หนังสือคนประจำเรือ (Seaman Book)
    5. หนังสือเดินทาง (Passport)

     

    สุดท้ายแล้ว ใครที่อยากเป็นกัปตันเรือแล้วไม่มีโอกาสไปเรียนในโรงเรียนเดินเรือทั้งหลาย ก็สามารถเริ่มต้นการเป็นคนประจำเรือจากตำแหน่ง OS แล้วค่อย ๆ เก็บระยะเวลาทำการบนเรือ จากนั้นค่อยไปสอบขอ ประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถ (Certificate of Competency) ในตำแหน่งที่สูงขึ้นไป
    เรื่อย ๆ ท่านก็สามารถประสบความสำเร็จได้เป็นกัปตันเรือเข้าสักวันครับ

    แล้วพบกันใหม่ใน Seamoor blog ฉบับหน้าครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: สิงหาคม ค.ศ. 2022

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *