รองต้นกล คนพันธุ์แกร่งแห่งห้องเครื่อง

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

second engineer blog cover
Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor Blog ทุกท่าน

    หลังจากเล่าเรื่องต้นกลในเดือนที่แล้วให้พวกเราอ่านใน Blog มีหลายท่าน inbox หลังไมค์มาแซวว่า “ดีเลยครับ ผมรออ่านของฝ่ายห้องเครื่องมานานเลย นึกว่ากัปตันจะเขียนเฉพาะฝ่ายปากเรือซะอีก!!!” อยากจะบอกว่า ผมสนิทกับต้นกลทุกลำที่ทำงานด้วยกันทุกคนแหละครับ เพราะสมัยอยู่เรือก็ชอบชวนกันไปทานข้าว+ไปเที่ยวบนบกด้วยกันบ่อย ๆ 555

    ช่วงที่ผมเป็นกัปตันบนเรือบรรทุกสินค้า ถ้าพอมีโอกาส ผมจะหาเวลาวิ่งออกกำลังกายรอบเรือทุกเย็น และเส้นทางการวิ่งของผมก็คือลงไปผ่านในห้องเครื่องเพราะมันร้อนดี เหมือนได้อบซาวน่า ก็ถือโอกาสลงไปสำรวจความเรียบร้อยของฝ่ายห้องเครื่องและทักทายลูกเรือด้วย เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ บางทีกัปตันจะไม่เห็นหน้าเห็นตาช่างน้ำมันเลย ซึ่งแน่นอนครับ ผมจะแจ้งต้นกลให้ทราบก่อนเข้าพื้นที่ที่เขารับผิดชอบอยู่ บางครั้งลงไปเจอลูกเรือฝ่ายห้องเครื่องกำลังทำงานก็จะชวนเขาคุยและถามไถ่ถึงการทำงานของอุปกรณ์ที่เขากำลังบำรุงรักษาอยู่ ทำให้พอมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกติดตัวมาบ้างครับ
     

    รองต้นกลผู้คอยซัพพอร์ตงานของต้นกล

    การลงไปวิ่งในห้องเครื่องในช่วงเย็น ผมมักเจอสุภาพบุรุษท่านหนึ่งอยู่ในห้องเครื่องเสมอเพราะเป็นช่วงที่เขากำลังเข้ายามอยู่ เขาคนนั้นคือ ‘รองต้นกล’ ครับ

    ตำแหน่งนี้เป็นหนึ่งในตำแหน่งที่สำคัญในระดับบริหารของฝ่ายช่างกลเรือ งานของรองต้นกลไม่ได้จำกัดเพียงแค่การปฏิบัติหน้าที่ของตนเองตามที่ Safety Management System ของเรือกำหนดไว้แค่นั้น แต่ยังรวมถึงการดูแลการปฏิบัติงานทั้งหมดของฝ่ายห้องเครื่องและด้านเทคนิคอื่น ๆ ของเรือด้วย เรียกได้ว่าเป็นแม่บ้านของฝ่ายช่างกลเรือ เหมือนกับที่ต้นเรือเป็นแม่บ้านของฝ่ายเดินเรือเฉกเช่นเดียวกันครับ หรือบางทีรองต้นกลอาจต้องปฏิบัติหน้าที่แทนต้นกลเมื่อต้นกลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

    รองต้นกลจะต้องเป็นผู้ช่วยที่รู้ใจของต้นกลอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เรือเดินทางไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีปัญหาครับ นอกจากนี้รองต้นกลยังรับผิดชอบจัดการเรื่องทั้งหมดในฝ่ายห้องเครื่อง ตลอดจนดูแลคนประจำเรือฝ่ายห้องเครื่องทั้งหมดอีกด้วย โดยต้องแน่ใจว่าทุกคนในห้องเครื่องทำงานด้วยความปลอดภัย และต้องวางแผนการบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักรทั้งหมดในห้องเครื่องของเรือ
     

    หน้าที่และความรับผิดชอบโดยทั่วไปของรองต้นกล

    หน้าที่ของรองต้นกลเป็นหน้าที่ที่ค่อนข้างหนักพอสมควรเลยทีเดียวครับ ถ้าอะไรพังในเรือ ลองถ้าได้รองต้นกลเก่ง ๆ ไป ต้นกลก็เบาแรงไปได้มากเลยทีเดียว ผมจะลองไล่หน้าที่ของรองต้นกลออกเป็นส่วน ๆ ให้พวกเราทราบดังนี้ครับ
     

    ความปลอดภัย

    1. ความปลอดภัยของคนประจำเรือฝ่ายห้องเครื่องเป็นหน้าที่ของรองต้นกลที่ต้องรับผิดชอบในการประเมินความเสี่ยง บรรยายสรุปและให้การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยกับลูกเรือฝ่ายห้องเครื่องทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนประจำเรือที่เพิ่งมาลงเรือใหม่ ๆ
    2. ดูแลอุปกรณ์ช่วยชีวิต (LSA) และอุปกรณ์ดับเพลิง (FFA) ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรง แต่ถ้าอุปกรณ์เกิดชำรุดเสียหายขึ้นมาและจำเป็นต้องซ่อมทำกลางทะเล รองต้นกลก็ต้องช่วยหน่อยแหละครับ
    3. อุปกรณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องจักร และเครื่องจักรช่วยภายใต้ข้อกำหนดของ SOLAS ก็เป็นความรับผิดชอบของรองต้นกลครับ
    4. ชั่วโมงพักผ่อนของคนประจำเรือฝ่ายช่างกลเรือจะต้องได้รับการดูแลโดยรองต้นกลให้เป็นไปตามที่ STCW และ MLC กำหนดครับ

     

    การป้องกันมลภาวะทางทะเล

    1. เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดมลภาวะทางทะเล เช่น Oily Water Separator (OWS), Sewage Treatment Plan, เตาเผาขยะ ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของรองต้นกลครับ
    2. การปั๊มน้ำมันระหว่างถังภายในเรือ ตลอดจนการรับน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหน้าที่ของรองต้นกลโดยตรงเลยครับ
    3. แผนการป้องกันการเกิดมลภาวะทางทะเล รองต้นกลต้องรับผิดชอบให้เป็นไปตามที่ SOPEP กำหนด อุปกรณ์สำคัญต่าง ๆ ต้องพร้อมเพื่อรับกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
    4. กากตะกอนน้ำมันและน้ำท้องเรือ รองต้นกลต้องรักษาความสะอาดท้องเรือในห้องเครื่องไม่ให้มีน้ำมันและน้ำปนอยู่ ต้องบันทึกค่าต่าง ๆ ของถังทั้งหมดที่เกี่ยวกับระบบกากตะกอนและระบบน้ำท้องเรือ
    5. ติดตามและปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ MARPOL โดยรองต้นกลต้องแน่ใจว่าเรือได้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด

     

    การจัดการห้องเครื่อง

    1. มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการคนประจำเรือในฝ่ายห้องเครื่องและปฏิบัติหน้าที่ในห้องเครื่อง
    2. ช่วยเหลือต้นกลอย่างเต็มความสามารถ และรายงานทุกอย่างที่เกิดขึ้นในห้องเครื่องให้ต้นกลรับทราบ และต้องเป็นผู้รับผิดชอบแผนกห้องเครื่องในกรณีที่ต้นกลไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้
    3. แบ่งงาน แจกจ่าย และมอบหมายหน้าที่ให้กับลูกเรือฝ่ายช่างกลเรือทั้งหมดและทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชา
    4. รับผิดชอบดูแลทำความสะอาดภายในห้องเครื่องและจัดการขยะที่เกิดขึ้นในห้องเครื่อง
    5. รับผิดชอบในการจัดเก็บอะไหล่ทั้งหมดอย่างเหมาะสม เก็บรักษาและดูแลบันทึกสินค้าคงคลังของอะไหล่

     

    การใช้งานและบำรุงรักษาเครื่องจักร

    1. ห้องเครื่องและเครื่องจักรบนดาดฟ้าเป็นหน้าที่ของรองต้นกลที่ต้องรับผิดชอบในการบำรุงรักษาทั้งหมด
    2. รับผิดชอบในการตรวจสอบให้แน่ใจว่า เครื่องจักรและระบบความปลอดภัยทั้งหมดทำงานอย่างไม่บกพร่อง มีประสิทธิภาพ และอยู่ในระดับค่าต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้
    3. จัดทำระบบการบำรุงรักษาเครื่องจักรตามแผน (PMS) ถ้ามีอะไรเสียหาย ต้องได้รับการดูแลแก้ไขโดยทันที
    4. เตรียมบัญชีรายการซ่อมทำใหญ่เพื่อเตรียมการเข้าอู่

     

    งานเอกสาร

    1. การเก็บบันทึกต่าง ๆ ของห้องเครื่องต้องได้รับการดูแลและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ นี่เป็นความรับผิดชอบของรองต้นกล ตัวอย่างบันทึกสำคัญ เช่น สมุด Engine Room Logbook, Engine Movement Book เป็นต้น
    2. จำนวนอะไหล่ทั้งหมดสำหรับเครื่องจักรใหญ่และเครื่องจักรช่วย เช่น ปั๊ม เครื่องยนต์สำรอง ฯลฯ ต้องจัดเก็บและได้รับการบำรุงรักษา ตลอดจนอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ
    3. ปริมาณน้ำมันที่มีอยู่ในถังสำหรับการทำงานของเครื่องจักรใหญ่ เช่น น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันดีเซล เป็นต้น จะต้องบันทึกลงในสมุดบันทึกน้ำมัน (Oil Record Book) การวางแผนในการรับน้ำมันเชื้อเพลิงในครั้งต่อไปก็จำเป็นต้องได้รับดูแลเช่นกัน
    4. เอกสารเกี่ยวกับการบำรุงรักษาเครื่องจักรตามแผนที่วางไว้ เช่น การอัปเดตข้อมูลการบำรุงรักษาเครื่องจักรใหญ่ เป็นต้น

     

    การฝึกอบรมบนเรือ

    1. รองต้นกลมีหน้าที่แนะนำคนประจำเรือฝ่ายห้องเครื่องเกี่ยวกับการทำงานให้เกิดความปลอดภัยบนเรือ เช่น ทางหนีฉุกเฉิน เรือชูชีพ เรือกู้ภัย ฯลฯ
    2. ดูแลฝึกฝนให้คนประจำเรือใช้อปุกรณ์ป้องกันการเกิดมลภาวะทางทะเลให้คล่องแคล่ว
    3. ฝึกอบรมให้คนประจำเรือเข้าใจในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ โจรสลัดโจมตี สละเรือ เป็นต้น

     

    ทั้งหมดนี้คือภาพรวมหน้าที่โดยทั่วไปของรองต้นกล ผู้ต้องมีความรู้ ความสามารถ ซึ่งจะมีผลต่อการทำงานของแผนกห้องเครื่องเป็นอย่างมาก โดยต้องเป็นผู้นำที่ดีนอกเหนือจากมีความอดทนมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำงานครับ
     

    ช่วงเวลาการทำงานของรองต้นกล

    การทำงานของรองต้นกลบนเรือในแต่ละวัน จะเข้ายามเรือเดินในทะเล ระหว่างเวลา 0400-0800 น. และ 1600-2000 น. ของทุกวัน หรือเข้ายามเรือจอดในเมืองท่า ถ้าเห็นว่าจำเป็น ในทะเลหลังจากออกยามทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว เขาจะต้องลงไปห้องเครื่องเพื่อทำงานนอกเวลาในการดูแลการทำงานของทั้งหมดภายในห้องเครื่อง พอหลังจากทานอาหารกลางวันเรียบร้อย ถ้าไม่มีงานด่วนหรือจำเป็นจริง ๆ อาจจะไปนอนหลับพักผ่อน เพื่อจะได้สดชื่นและไปเข้ายามอีกทีในตอน 1600-2000 น. แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเข้ายามเรือเดิน รองต้นกลก็สามารถทำงานเกี่ยวกับการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ในช่วงที่อยู่ในห้องเครื่องได้ครับ
     

    วิธีก้าวขึ้นเป็นรองต้นกล

    แน่นอนครับ อยู่ดี ๆ คุณไม่สามารถไปลงเรือเป็นรองต้นกลได้เลยโดยไม่เคยผ่านงานการเป็นนายช่างกลเรือบนเรือมาก่อน มีทางลัดนิดหน่อยครับ คุณต้องจบการศึกษาจากสถาบันที่เปิดสอนในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลเรือ เช่น ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น หลังจากเรียนจบทั้งภาคทฤษฎีและฝึกภาคทะเลภายใน 5 ปีแล้ว คุณต้องไปเริ่มงานชีวิตชาวเรือเป็นนายช่างกลที่ 4 เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ตลอดจนระยะเวลาปฏิบัติงานในทะเลตามที่กรมเจ้าท่ากำหนด ไปอบรมเพิ่มเติม และสอบเลื่อนประกาศนียบัตร เมื่อทุกอย่างพร้อมและโอกาสมาถึง บริษัทฯ ที่คุณทำงานอยู่ก็จะถามคุณเองแหละครับ ว่าคุณพร้อมที่จะเป็นรองต้นกลเรือหรือยัง

    ตอนนี้งานรองต้นกลเรือยังมีความต้องการอีกมาก ส่วนชั้นประกาศนียบัตรของรองต้นกลเรือในเรือที่จดทะเบียนวิ่งระหว่างประเทศ ที่คุณจะต้องมีเพื่อลงไปทำงานในเรือมีดังต่อไปนี้ครับ

    1. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถรองต้นกลของเรือกลเดินทะเลขนาดกำลังขับเคลื่อน 3000 กิโลวัตต์หรือมากกว่า (Second engineer officer on ships powered by mainpropulsion machinery of 3,000 kW propulsion power or more)

    2. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถรองต้นกลของเรือกลเดินทะเลขนาดกำลังขับเคลื่อน 750-3000 กิโลวัตต์ (Second engineer officer on ships powered by mainpropulsion machinery of between 750 – 3,000 kW propulsion power)

    แต่ถ้าเป็นเรือขนาดเล็กที่วิ่งให้บริการเฉพาะในบ้านเรา ก็ว่ากันไปอีกเรื่องตามที่กรมเจ้าท่ากำหนด ว่าคุณจะสามารถไปทำงานบนเรือวิ่งไปไหน ขนาดไหนได้บ้าง แต่ถ้าคุณถือประกาศนียบัตรตามข้อ 1 นั่นก็หมายความว่าคุณสามารถลงเรือไปทำงานบนเรือไทยและเรือต่างประเทศอีก 20 สัญชาติได้

    ส่วนรายได้ก็แล้วแต่ประเภทเรือและบริษัทที่คุณไปทำงานด้วยครับ ในบ้านเราก็น่าจะหลักหลายหมื่น แต่ผมเคยเจอบริษัทเรือต่างชาติที่จ้างรองต้นกลเดือนละประมาณ 250,000 บาทมาแล้ว และที่สำคัญ เขายังประกาศรับสมัครอย่างต่อเนื่อง เพราะคนไม่พอ

    น่าสนใจไหมครับ โอกาสเป็นของคนที่พร้อมครับ ไม่ต้องอะไรมาก ถ้าคุณมีคุณสมบัติเพียงพอ ภาษาอังกฤษคุยกับเขารู้เรื่องและสนใจงานรองต้นกลในวันนี้ ติดต่อ Seamoor blog ได้เลยครับ บอกไปเลยครับว่าผมแนะนำมา 555

    คราวหน้า ผมจะพาไปรู้จักงานอีกงานที่ก่อนคุณจะเป็นรองต้นกลจะต้องผ่านงานนี้มาก่อน

    แล้วพบกันใหม่ครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: พฤศจิกายน ค.ศ. 2022