ต้นหน คุณหมอประจำเรือผู้มีไม้บรรทัดขนานและดิไวเดอร์เป็นอาวุธ

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor Blog ทุกท่าน

    หลังจากเราได้รู้จักตำแหน่งฝ่ายเดินเรือมาสองตำแหน่งแล้ว นั่นคือกัปตันกับต้นเรือ วันนี้ผมจะพาพวกเราไปรู้จักกับสุภาพบุรุษฝ่ายเดินเรืออีกคนหนึ่งที่งานของเขามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และในสายตาของผม ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งในดวงใจหลังจากจบการศึกษาจากศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีของผมเลย ขอพาพวกเราไปทำความรู้จักกับ ‘ต้นหน’ หรือ ‘Second Officer’ กันครับ

    ต้นหนเป็นคำโบราณครับ มีความหมายว่าคนนำทาง หน้าที่ของเขาเบื้องต้นก่อนจะไปทำความรู้จักเขาจริง ๆ คือ เป็นคนรับผิดชอบเรื่องการเดินเรือทั้งหมด ขีดเข็มบนแผนที่ วางแผนการเดินทาง ดูแลแก้ไขแผนที่ บรรณสารการเดินเรือ อุปกรณ์การเดินเรือ รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ทางอุตุนิยมวิทยาเพื่อรับข่าวอากาศและอุปกรณ์การสื่อสารทั้งหมด และแน่นอนครับ เขาเป็นผู้ที่ช่ำชองการใช้ไม้บรรทัดขนานและดิไวเดอร์แบบหาตัวจับยาก

    คนใหม่ ๆ ที่เพิ่งเข้ามาเป็นแฟนคลับของ Seamoor Blog อาจจะงง ๆ ว่า แล้วเจ้าไม้บรรทัดขนานกับดิไวเดอร์นี้ ต้นหนเขาเอาไว้ทำอะไร ผมขอเล่าสั้น ๆ แต่ได้ใจความครับ
     

    2 อาวุธคู่กายของต้นหน

    ไม้บรรทัดขนานเป็นเครื่องมือสำหรับนักเดินเรือเพื่อวาดเส้นคู่ขนานบนแผนที่ ใช้ในการขีดเข็ม เครื่องมือนี้ประกอบด้วยขอบตรงสองอันที่เชื่อมเข้าด้วยกันด้วยแขนสองข้าง ซึ่งช่วยให้พวกมันเคลื่อนเข้าใกล้หรือห่างออกไปโดยที่ยังคงขนานกันอยู่เสมอ ที่ขอบบนของไม้บรรทัดมีมาตราส่วนแบบไม้โปรแทรกเตอร์ที่สามารถหาทิศทางของเส้นทางการเดินเรือบนแผนที่ได้ หากนับจนถึงปีนี้ตั้งแต่ที่มันถูกประดิษฐ์ขึ้นมา ไม้บรรทัดขนานมีอายุ 438 ปี เข้าไปแล้วครับ ไม่ว่าวิวัฒนาการของอุปกรณ์เดินเรือจะพัฒนาไปอย่างไร เรือทุกลำก็จะมีไม้บรรทัดขนานอยู่บนโต๊ะแผนที่เสมอ

    ปากคีบหรือดิไวเดอร์ใช้ในการวัดระยะทางบนแผนที่ ถ้ามีระยะจุด 2 จุด แล้วเราต้องการทราบว่ามีระยะห่างกันกี่ไมล์ทะเล เราก็กางดิไวเดอร์ออกและเอาปลายแหลมของดิไวเดอร์ไปจิ้มที่จุด 2 จุดนี้ จากนั้นก็เอาระยะที่ได้ไปจดที่ขอบแผนที่ โดยใช้ขอบละติจูด เราก็จะได้ระยะทางเป็นไมล์ทะเลครับ

    อุปกรณ์ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่ต้นหนต้องใช้ให้ได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อใช้ในการขีดเข็มเดินเรือครับ
     

    คุณสมบัติเบื้องต้นของต้นหน

    ก่อนอื่น ผมมีความลับมาบอกครับ เป็นความลับที่ผมไม่เคยแพร่งพรายที่ไหนมาก่อน ตำแหน่งต้นหนเป็นตำแหน่งที่ผมชอบมากที่สุดบนเรือเลยครับ

    เหตุผลแรกคือมันเป็นตำแหน่งที่ตรงตามประกาศนียบัตรที่ผมเรียนจบมา คือถ้าเมื่อก่อน ใครจบจากศูนย์ฝึกพาณิชยนาวีฝ่ายเดินเรือแล้วได้ทำงานเป็นต้นหนเลยทันที มันจะดูเทพมาก ๆ ครับ ตัวผมเองจบมาก็ต้องเป็นผู้ช่วยต้นเรืออยู่เกือบปีถึงได้รับการโปรโมตขึ้นเป็นต้นหน เพราะตำแหน่งไม่ค่อยว่าง ส่วนเหตุผลต่อมาคือผมชอบแผนที่ หลงใหลในบรรณสารการเดินเรือ และชอบการคำนวณที่เกี่ยวกับการเดินเรือ โดยเฉพาะเรื่องดาราศาสตร์ ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำงานอยู่กับโต๊ะแผนที่ ได้แก้ไขแผนที่ที่มีอยู่บนเรือตาม Notice to Mariner ที่ได้รับมา แถมต้นหนยังต้องรับหน้าที่เป็นคุณหมอประจำเรือ คอยดูแลห้องพยาบาล และยาต่าง ๆ บนเรือ ต้องมีความรู้ในการดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เวลามีคนประจำเรือเจ็บป่วย ต้นหนจะเป็นคนคอยจ่ายยาให้ สำหรับผมแล้ว จะดีใจทุกครั้งที่สามารถจ่ายยารักษาให้คนประจำเรือหายจากอาการเจ็บป่วยได้

    นอกจากนี้ ต้นหนจะต้องรับผิดชอบเรื่องอุปกรณ์ดับเพลิงบนเรือทั้งหมด และต้องสามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการดับเพลิงบนเรือให้คนประจำเรือฟังได้ ส่วนงานต้นหนที่ผมไม่ค่อยชอบเอาเลยคือการต้องเข้ายามเรือเดินช่วง 0000-0400 มันง่วงมากครับ สำหรับผม (555)

    ตำแหน่งต้นหนถือเป็นฝ่ายเดินเรือระดับปฏิบัติการ (Junior Officer) บนเรือตาม STCW Regulation II/1 ครับ การจะถือประกาศนียบัตร Deck Officer ในตำแหน่งต้นหนได้ต้องผ่านหลักสูตรอบรมตามมาตรฐานที่ STCW กำหนดดังนี้ครับ (นี่ไม่นับรวมการอบรมพิเศษต่าง ๆ กรณีไปลงเรือแบบต่าง ๆ เช่น เรือบรรทุกน้ำมัน เรือบรรทุกแก๊ส เป็นต้น)

    1. หลักสูตร Elementary First Aid (IMO Model Course 1.13)
    2. หลักสูตร Personal Survival Techniques (IMO Model Course 1.19)
    3. หลักสูตร Fire Prevention and Fire Fighting (IMO Model Course 120)
    4. หลักสูตร Personal Safety and Social Responsibilities (IMO Model Course 1.21)
    5. หลักสูตร Proficiency in Survival Craft and Rescue Boats (other than Fast Rescue Boats) (IMO Model Course 1.23)
    6. หลักสูตร Advanced Training in Fire Fighting (IMO Model Course 2,03)
    7. หลักสูตร Medical First Aid (IMO Model Course 1.14)
    8. หลักสูตร Ship Security Officer (IMO Model Course 3.19)
    9. หลักสูตร Bridge Resource Management
    10. หลักสูตร Leadership and Teamwork (IMO Model Course 1.29)
    11. หลักสูตร Operational Use of Electronic Chart Display and Information Systems (ECDIS) (IMO Model Course 1.27)

     

    ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของต้นหน

    เอาละครับ มาถึงตรงนี้ผมจะเล่าให้ฟังว่าต้นหนต้องทำอะไรบ้างบนเรือ

    1. เข้ายามเรือเดินในทะเลช่วง 0000-0400 และ 1200-1600 ช่วงบ่ายของทุกวันจะเจอต้นหนอยู่บนสะพานเดินเรือครับ หลังจากออกยาม ก็จะไปทำ OT ดูแลพวกอุปกรณ์ดับเพลิง แก้แผนที่ พอหลังจากทานอาหารเย็น ก็ต้องนอนแล้ว เพราะเดี๋ยวต้องขึ้นไปรับยามตอนเที่ยงคืน ตอนผมเป็นต้นหนแรก ๆ ก็ปรับตัวอยู่พอสมควร เพราะช่วงเย็นมันจะนอนไม่ค่อยหลับ พอตอนเที่ยงคืนที่กำลังหลับสนิท ๆ จะถูกปลุกให้ขึ้นไปเข้ายาม กว่าจะปรับตัวเข้าที่เข้าทางได้ ก็สักพักหนึ่งเลยทีเดียว
    2.  

    3. เข้ายามเฝ้างานสินค้าหรือนายยามปากเรือขณะเรือจอดในเมืองท่า 0000-0600, 1200-1800 คือนอกจากเข้ายามตอนเรือเดินแล้ว ช่วงเรือจอดเทียบท่าทำสินค้า ต้นหนก็ต้องเข้ายามเรือจอดดูแลสินค้าเวลา Load และ Discharge ด้วยครับ
    4.  

    5. ทำการขีดเข็มเส้นทางเดินเรือลงบนแผนที่ และเตรียมทำแผนเส้นทางเดินเรือตามที่นายเรือได้สั่งการและรับรองว่าถูกต้อง อันนี้เป็นหน้าที่หลักเลย ไม่ได้แค่ขีดเข็มนะครับ ต้นหนต้องคำนวณระยะทางและเวลาการเดินทางอีกด้วย เรียกว่าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางต้องเตรียมการทั้งหมด จะใช้ List of Light เล่มไหน Sailing Direction เล่มที่เท่าไหร่ List of Radio อะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเส้นทางที่เรือวิ่งไป แม้กระทั่งการคำนวณระยะทางก็ต้องดูให้ดีว่าแบบไหนจะสั้นที่สุด เพื่อให้ถึงเร็วที่สุดและประหยัดน้ำมันในการเดินทาง นอกจากนี้ ยังต้องป้อนข้อมูลลงใน GPS และกำหนดจุดเปลี่ยนเข็มต่าง ๆ ให้ถูกต้อง
    6.  

    7. ต้องให้แน่ใจว่าแผนที่และบรรณสารเดินเรือที่มีอยู่ได้รับการแก้ไขถูกต้อง และต้องคอยดูแลแก้ไขให้ทันสมัยตามประกาศชาวเรือฉบับล่าสุด อันนี้สำคัญมาก ลองนึกภาพตามนะครับ เกิดมีเรือจมแล้วเขาลงในประกาศชาวเรือ แต่ต้นหนไม่รู้ ขีดเข็มไป อาจไปผ่ากลางจุดเรือจมและเกิดอันตรายได้
    8.  

    9. คำนวณหาตำบลที่เรือเวลาเที่ยงทุกวัน และเตรียมรายงานที่เรือเวลาเที่ยงส่งให้กับแผนกต่าง ๆ และรายงานให้กัปตันทราบเพื่อนำส่งสำนักงาน
    10.  

    11. ดูแลรักษาอุปกรณ์และเครื่องมือช่วยการเดินเรือทั้งหมดให้ใช้งานได้ เรียกว่าอุปกรณ์บนสะพานเดินเรือทุกตัว นอกจากใช้เป็นแล้ว ต้องดูแลรักษาได้ด้วย
    12.  

    13. ทำรายงานเบิกยารักษาโรคเพื่อเก็บรักษาไว้ในที่ที่เหมาะสม และพร้อมให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและจ่ายยาให้คนประจำเรือเมื่อเกิดการเจ็บป่วยบนเรือ ต้นหนต้องพอเย็บแผล ฉีดยาได้นะครับ ไม่ใช่เห็นเลือดแล้วจะเป็นลม
    14.  

    15. เป็นหัวหน้าสถานีประจำที่ภาคท้ายเรือเพื่อใช้เครื่องกว้านขณะที่เรือกำลังจะออกจากหรือเข้าเทียบท่าเรือ, เข้าผูกทุ่นจอดเรือ
    16.  

    17. ดูแลอุปกรณ์ดับเพลิงทั้งหมดบนเรือ อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ตายตัวครับ บางบริษัทฯ อาจให้ผู้ช่วยต้นเรือเป็นคนดูแลก็มี

     

    ไม่ใช่งานง่าย ๆ เลยใช่ไหมครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่ทำหน้าที่ต้นหนบนเรือที่วิ่งไม่ประจำเส้นทาง หรือ Tramp เพราะบางทีกำลังวิ่ง ๆ อยู่ อาจโดนสำนักงานสั่งให้เปลี่ยนเมืองท่าไปอีกท่าหนึ่งที่ไม่เคยไปมาก่อนโดยไม่ทราบล่วงหน้า คือต้องขีดเข็มและคำนวณการเดินทางกันสด ๆ เลย ซึ่งท้าทายเอามาก ๆ เพราะไม่รู้ว่าจะไปเจออะไรข้างหน้าบ้าง ปกติช่วงที่เป็นต้นหน จะต้องใช้เวลาการทำงานบนเรือ 2 ปีถึงจะมีสิทธิ์ไปสอบเลื่อนประกาศนียบัตรเป็นต้นเรือ ดังนั้น ช่วงปลายทางของการเป็นต้นหนก็ต้องพยายามเรียนรู้งานของต้นเรือให้ได้เยอะ ๆ จะได้สบายเวลาได้ไปทำหน้าที่ต้นเรือ

    ปัจจุบัน มีอุปกรณ์เดินเรือรุ่นใหม่มากมายที่ต้นหนต้องเรียนรู้ ซึ่งล้วนเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทั้งนั้น ถ้าต้นหนยุคนี้เป็นคนไม่ชอบเทคโนโลยี อาจเป็นยาขมของอาชีพนี้เลยทีเดียว

    ผมเอาใจช่วยคนที่ทำหน้าที่ต้นหนอยู่ทุกคนนะครับ

    แล้วผมจะพาไปรู้จักกับตำแหน่งผู่ช่วยต้นเรือ น้องคนสุดท้องในตำแหน่งนายประจำเรือฝ่ายเดินเรือกันในคราวหน้า

    ขอให้ทุกคนมีความสุขและสวัสดีครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: เมษายน ค.ศ. 2022