การเอาตัวรอดในทะเลเมื่อต้องสละเรือใหญ่

Picture of Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor blog ทุกท่าน

    มีแฟนคลับหลายคน inbox มาคุยกับผมว่า ถ้าเราอยู่บนเรือกลางทะเลแล้วต้องสละเรือใหญ่ ต้องทำอะไรบ้าง

    อืม! นั่นสิ ทำไมผมไม่เขียนเรื่องแบบนี้ให้พวกเราอ่านกันบ้าง เพราะน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่ต้องเดินทางในทะเล โดยเฉพาะคนประจำเรือ ส่วนนักท่องเที่ยวที่ต้องนั่งเรือไปตามเกาะต่าง ๆ ก็สามารถประยุกต์ใช้บางข้อเพื่อเอาตัวรอดในทะเลได้ เมื่อประสบภัยในทะเล

    ดังนั้นในเดือนนี้ผมจะพาพวกเราไปทำความรู้จักเคล็ดลับวิชานี้ที่ไม่ค่อยมีคนรู้กันครับ เชื่อผมสิ! ถ้าคุณอ่านจบ มันมีประโยชน์กับชีวิตคุณแน่นอน ถ้าตราบใดคุณยังทำงานเป็นคนประจำเรืออยู่ หรือมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวทางทะเล เพราะเรื่องราวทั้งหมดถูกเขียนมาจากความรู้และประสบการณ์จากการทำงานตลอด 20 ปีบนเรือของผม และที่สำคัญ ส่วนหนึ่งมันมาจากประสบการณ์ตรงที่ผมเคยต้องสละเรือใหญ่มาแล้ว
     

    ข้อควรทำเมื่อเมื่อต้องสละเรือใหญ่

    1. แน่นอน! คุณจะไม่เคยเจอกับเหตุการณ์นี้มาก่อน (คงไม่น่ามีใครต้องสละเรือใหญ่เป็นประจำ) ชีพจรของคุณจะเต้นแรง ยิ่งถ้าคุณเป็นกัปตันเรือแล้วมีชีวิตลูกเรืออยู่ในมือคุณ ความตื่นเต้นน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ดังนั้นการควบคุมความตื่นตระหนก สงบสติอารมณ์และจัดระเบียบต่าง ๆ ของตัวคุณเองและทุก ๆ คนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณจะต้องทำอะไรด้วยความรวดเร็วและต้องปลอดภัย

    2. สวมเสื้อผ้ากันน้ำที่มีทั้งหมด รวมทั้งถุงมือ หมวก และเสื้อชูชีพ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนบนเรือมีเสื้อชูชีพที่เหมาะสมและสวมใส่อยู่ ถ้าพอมีเวลาหาผ้าห่มหรือเสื้อผ้ามาเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการดีมากถ้าคุณจะเตรียมมันไว้ในกระเป๋าเพื่อให้พร้อมหยิบใช้ในกรณีฉุกเฉิน ควรมีการเตรียมชุดยังชีพของคุณพวกอาหารและน้ำดื่มเพิ่มเติมจากที่มีเตรียมไว้ในเรือหรือแพช่วยชีวิต อุปกรณ์ GMDSS ในการสละเรือใหญ่ เช่น EPIRB, SART และ วิทยุ VHF two wayอย่าลืมเอาไปด้วย และที่สำคัญ ถามตัวเองสิว่า ใช้มันเป็นหรือยัง?

    3. สังเกตและจดจำตำบลที่เรือที่สละเรือใหญ่ ให้จด GPS ก็ได้ หรือหาแบริ่งกับระยะจากที่หมายใกล้ฝั่งแล้วจดไว้ วิธีนี้จะช่วยให้หน่วยค้นหาและช่วยเหลือทำงานง่ายขึ้นในการออกค้นหาและช่วยเหลือคุณ

    4. ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่านระบบ Inmarsat, MF/HF โดยกดปุ่ม Distress แต่อย่าลืมว่าการเรียก Mayday ควรถูกส่งในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น คือหมายความว่าคุณกำลังตกอยู่ในอันตรายที่คุกคามถึงชีวิตในทันที หน่วยยามฝั่งหลายประเทศจะพิจารณาสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง Mayday ที่เป็นเท็จถือเป็นความผิดทางอาญา คุณอาจจะถูกปรับหรือติดคุกได้ถ้าใช้มันผิด ศึกษาลำดับความสำคัญของการสื่อสารหน่อยว่ามี 3 ระดับ คือ Mayday (อันตรายร้ายแรง), Pan Pan (ความเร่งด่วน) และ Securite (ความปลอดภัย)

    5. ตรวจสอบวิทยุ VHF บนสะพานเดินเรือของคุณว่ามันเปิดอยู่ที่ช่อง 16 หรือ 70 ซึ่งเป็นช่องสัญญาณที่สงวนไว้สำหรับการสื่อสารในกรณีฉุกเฉินหรือเปล่า

    6. เมื่อสามารถติดต่อกับหน่วยยามฝั่งและหน่วยกู้ภัยได้แล้ว ให้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของอันตรายที่คุณกำลังประสบ, ประเภทและลักษณะของเรือเพื่อประโยชน์ในการค้นหาและช่วยเหลือ, จำนวนคนที่อยู่บนเรือ, จำนวนคนที่บาดเจ็บและอาการล่าสุด และความช่วยเหลือที่ต้องการ ยิ่งถ้าเรือกำลังจะจม ประมาณสถานการณ์ให้คนที่จะมาช่วยเหลือรู้หน่อยว่ามีเวลาอีกเท่าไหร่ที่เรือจะจมก่อนที่ความช่วยเหลือจะมาถึง

    7. หากเรียก Mayday ไปแล้ว ก็ต้องมีคนรอการตอบกลับจากหน่วยยามฝั่งและหน่วยกู้ภัยอยู่บนสะพานเดินเรือด้วยนะครับ เพราะ VHF two way ที่นำติดตัวลงไปในเรือหรือแพช่วยชีวิตอาจรับสัญญาณไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีใครได้ยินเสียง Mayday ของคุณ มันก็ไม่ดีแน่ ๆ เตรียมแผนช่วยเหลือตัวเองได้เลย

    8. หากไม่มีใครตอบกลับ Mayday คุณก็เตรียมตัวสละเรือใหญ่ครับ ใช้อุปกรณ์ Life Saving Appliance ที่มีอยู่ทุกอย่างให้เป็นประโยชน์ เวลาต้องสละเรือใหญ่คลื่นลมจะไม่ได้เรียบเหมือนตอนฝึกประจำสถานีในแต่ละเดือน คุณอาจเจอกับสภาพทะเลโหดสุด ๆ เท่าที่เคยเจอในชีวิต ถ้าเป็นแบบนั้น ทำยังไงกันต่อดี ซึ่งองค์กรทางทะเลระหว่างประเทศห่วงใยในจุดนี้ครับ ได้กำหนดความรู้ไว้ใน SOLAS Chapter ที่ 3 Life-saving appliance and arrangement ในส่วนของ Regulation ที่ 19 Emergency training and drill เรื่อง onboard training and instruction ว่าคนประจำเรือทุกคนต้องทราบการใช้อุปกรณ์ Life Saving Appliance ในสภาพอากาศเลวร้าย ไปศึกษากันบ้างนะครับ มันควรจะอยู่ใน SOLAS Training Manual บนเรือแต่ละลำที่จัดทำขึ้นมา เช่น การเอาเรือช่วยชีวิตที่อยู่ที่กราบซ้ายขวา ลงตอนเรือเอียง ๆ คุณต้องใช้ระบบ On-load Release Mechanism ได้เป็นต้น ไว้ในตอนต่อ ๆ ไป มาเล่าให้ฟังครับ

     

    เตรียมสละเรือใหญ่

    หลังจากส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปแล้ว ถ้าเรือจะจม ถึงเวลาที่คุณต้องอพยพออกจากเรือ มีหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของคนประจำเรือทุกคน

    1. ปลดเรือช่วยชีวิตและแพชูชีพลงน้ำ ขั้นตอนอย่างไรเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ผมไม่ขออธิบาย ลองไปศึกษากันบนเรือครับ ตอนปล่อยแพชูชีพก็อย่าลืมผูกเชือก Painter ไว้ด้วยล่ะ เรือจะได้ไม่ลอยไปไหนไกล แต่ช่วงจะตัดเชือก Painter ให้หลุดจากเรือใหญ่ ก็ไปตัดกันตอนอยู่ใกล้ ๆ กับเรือช่วยชีวิตหน่อย จะได้ผูกติดกันง่าย ๆ

    2. ถ้ามีโอกาสปล่อยเรือช่วยชีวิต ก็เอาแพชูชีพไปผูกไว้กับเรือครับ พอเรือลงน้ำแล้ว ให้รีบใช้เครื่องยนต์และออกไปให้พ้นจากเรือใหญ่มากที่สุดถ้าไม่อยากถูกดูดจมไปด้วย จากนั้นรอความช่วยเหลือ หยุดเครื่องและเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ใช้ในยามจำเป็น

    3. เปิดการทำงานของ EPIRB (สัญญาณวิทยุบอกตำแหน่งฉุกเฉินผ่านดาวเทียม) ที่เอามาด้วย ถ้าทำได้ EPIRB ควรเอามาเปิดตอนลงไปในแพหรือเรือแล้ว เพราะมันจะได้แจ้งตำบลที่ล่าสุดผ่านระบบดาวเทียมไปถึงหน่วยงานยามฝั่ง ให้ผูกยึด EPIRB ไว้กับเรือหรือแพช่วยชีวิตให้แน่น เวลาโดนคลื่นจะได้ไม่ร่วงน้ำ

    4. พยายามหาวิธีลงเรือหรือแพช่วยชีวิตโดยตรงเลยโดยไม่ต้องว่ายน้ำไป เพราะจะได้ไม่เปียกน้ำให้หนาวสั่น หากทำไม่ได้ ให้พยายามว่ายน้ำให้น้อยที่สุดเพื่อขึ้นเรือ เดี๋ยวเหนื่อยก่อนว่ายไม่ถึง ยุ่งอีก

    5. ตรวจสอบว่าทุกคนได้สละเรือใหญ่แล้ว เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

    6. เศษซากที่ลอยน้ำอยู่ คิดถึงการนำมาใช้ประโยชน์ และนำขึ้นมาไว้บนเรือ เลือกดูสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ในการเอาตัวรอดในทะเล แต่ต้องไม่แหลมคมถ้านำมาไว้บนแพชูชีพ

    7. พยายามทำร่างกายให้แห้งและอบอุ่นอยู่เสมอ ถ้าไม่อยากเกิดภาวะร่างกายสูญเสียอุณหภูมิ หรือ Hypothermia ถ้าหนาวมาก ๆ ไม่มีผ้าห่ม อนุญาตให้กอดกันก็ได้ ชั่วโมงนั้น ไม่ต้องกลัวฟ้าผ่าถ้าผู้ชายจะกอดกัน ถ้าด้านในแพหรือเรือเปียกน้ำ ให้ตักน้ำออกด้วยที่ตักหรือซับด้วยฟองน้ำที่มีอยู่ในเรือหรือแพ พยายามทำพื้นให้แห้งอยู่เสมอ ปิดช่องทางที่ลมจะเข้ามาได้ เพื่อให้ภายในอบอุ่น

    8. หย่อนสมอทะเลเพื่อให้เรือหรือแพไม่ลอยออกไปไกลจากตำบลที่ที่สัญญาณ EPIRB ได้ส่งไป

    9. จัดเวร Lookout เพื่อรอดูความช่วยเหลือ เปิด SART เมื่อเห็นเรือที่ขอบฟ้าหรือเห็นเครื่องบินเท่านั้น ไม่งั้นแบตเตอร์รี่จะหมดก่อน VHF Two way ก็เปิดใช้ตอนที่เรือเขามาช่วยเหลือเท่านั้น ไปเปิด standby ไว้แบตอาจหมดก่อน

    10. แจกจ่ายยาแก้เมาเรือให้ทุกคนทาน การไปลอยอยู่แบบนั้น เมาแน่ ๆ พยายามปัสสาวะให้ได้ เพราะจะได้เป็นการลดความเครียด ถ้ามีคนบาดเจ็บ ดูแลด้วยชุดปฐมพยาบาลในเรือหรือแพช่วยชีวิต ถ้าต้องการทำ CPR บนแพ ให้เอาคนป่วยวางไว้บนหน้าขาของเพื่อนคนอื่นแล้วค่อยปั้ม ตัวคนป่วยมันจะได้ไม่ยุบไปตามแพ

    11. ใช้พลุสัญญาณตามคำสั่งของกัปตันเมื่อเห็นเรือหรือเครื่องบินเข้ามาช่วยเหลือ อาจลองยิงไปก่อนชุดแรกตอนลงไปอยู่ในเรือหรือแพแล้ว แล้วลองเรียก Mayday ผ่าน VHF Two way ดู ถ้าไม่มีใครตอบรับ แสดงว่ายังไม่มีใครเห็นพลุสัญญาณของเรา พุลชุดที่เหลือเก็บไว้ก่อนดีกว่า

    12. พยายามหลีกเลี่ยงการกินหรือดื่มใน 24 ชั่วโมงแรกหากเป็นไปได้ คุณจะต้องจัดการสัดส่วนอาหาร (Food Ration) และน้ำของคุณ หากการช่วยเหลือไม่ได้มาในทันที การจับปลาหรือนกกินก็พอทำได้ แต่การกินโปรตีนจะทำให้คุณหิวน้ำมากขึ้น เพราะต้องใช้น้ำในร่างกายไปย่อย

    13. จัดให้มีการกักเก็บน้ำฝน ให้ดื่มน้ำในอัตราส่วนน้ำสูงสุด 0.56 ลิตรต่อคนต่อวัน และให้ดื่มทีละน้อย ห้ามดื่มน้ำทะเลเด็ดขาด หากไม่มีทางเลือก ปัสสาวะก็พอดื่มได้ ถ้าไม่อ้วกแตกซะก่อน

    14. ปลอบใจกันและทำให้ทุกคนสงบเป็นระเบียบและมีความหวัง โดยเฉพาะกัปตัน ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี และทำให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าจะพาทุกคนรอด

     

    ลอยคอในน้ำเมื่อไร้เรือหรือแพชูชีพแล้วต้องรอด

    เกิดต้องตกน้ำไปพร้อมกับเสื้อชูชีพ ไปลอยคอรอความช่วยเหลือในทะเลจะต้องทำอย่างไร? เอากรณีที่ไปพร้อมเสื้อชูชีพก่อนละกัน เพราะถ้าไม่มีมันก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการลอยตัวของคุณแล้วล่ะว่าจะรอดได้นานแค่ไหน หรือถ้าหาอะไรพอเกาะให้ลอยได้ก็หาทางผูกมันไว้กับตัวอย่าให้หลุดเชียว เพราะการที่คุณเกาะมันไว้เฉย ๆ โอกาสที่คุณจะหมดแรง หรือเหนื่อยจนเผลอหลับไป แล้วหลุดจากมันมีสูงมาก โดยเฉพาะในสภาพที่คลื่นลมแรง ไปดู 11 ข้อต่อไปนี้กันครับ ผมขอตัดภาพไปที่จุดที่เราลอยคออยู่คนเดียวเลยล่ะกันนะครับ ไปดู 11 ข้อควรปฏิบัติต่อไปนี้กันครับ

    1. มีสติ ไม่ตกใจ แล้วก็นึกถึงเรื่องราวที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟัง เอาไว้ไปช่วยตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองว่า เราต้องรอด มีคนที่เรารักรออยู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครองคนดี หรืออะไรก็ได้ที่คิดแล้วเราไม่ท้อแท้ หมดหวัง

    2. ใช้หลัก STOP ซึ่งย่อมาจาก “Stop, Think, Observation, Plan” หยุดสติแตกและหยุดเคลื่อนไหว คิดหาทางเอาตัวรอด คอยตรวจตราความช่วยเหลือรอบ ๆ ตัว และวางแผนว่าจะทำอะไรก่อนหลัง

    3. เสื้อชูชีพ เมื่อไปอยู่ในน้ำแล้ว สำรวจมันอีกทีว่า สายรัดบริเวณต่าง ๆ ผูกแน่นอยู่กับตัวหรือยัง รัดตัวล็อกทุกจุดเพื่อไม่ให้เสื้อชูชีพหลุดได้ จัดการซะเมื่อตอนสติยังไม่แตก เพราะคุณต้องอยู่กับมันอีกหลายวัน พยายามให้ศีรษะพ้นน้ำให้มากที่สุด เพราะคุณอาจโดนคลื่นตีจนสำลักน้ำได้ ถ้าทำได้หาเสื้อผ้ามาโพกหัวไว้กันร้อน

    4. อย่าว่ายน้ำ หมดแรงเปล่า ๆ ครับ ไม่ใช่เห็นเรืออยู่ลิบ ๆ ที่ขอบฟ้า ก็ว่ายไปหาเขา เก็บพลังงานไว้ใช้ในยามจำเป็นดีกว่า ยิ่งใช้แรงมาก ยิ่งหิวน้ำ หิวข้าว ให้ใช้การลอยตัวอยู่ในน้ำ เช่น การลอยตัวแบบนอนหงาย ขาแขนเหยียดตรงเหมือนนอนอยู่บนที่นอน เงยหน้ายกคางเพื่อใช้ปากหายใจพยายามเอาอากาศเข้าให้เต็มปอด และหายใจออกแบบค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจช้า ๆ เพื่อเพิ่มอากาศให้ร่างกายสามารถลอยบนผิวน้ำได้ หรือใช้เทคนิคการลอยตัวจากอากาศที่กักอยู่ใต้เสื้อผ้า

    5. ถ้าตกน้ำเย็น ๆ อาจต้องเปลี่ยนท่าลอยตัวเป็นท่าเก็บคอ ดึงเข่ามาไว้ที่หน้าอก เท้าชิด เพื่อเก็บความร้อนในร่างกายไว้ ปกติคนที่อยู่ในน้ำทะเลเย็น ๆ นาน ๆ จะเสียชีวิตได้ง่าย ๆ จากภาวะร่างกายสูญเสียอุณหภูมิ (Hypothermia) ถ้ามีเสื้อชูชีพแล้ว ห้ามถอดเสื้อผ้าออกเด็ดขาด เก็บเสื้อผ้าไว้ให้ความอบอุ่นดีกว่า อย่าถอดเสื้อผ้าใด ๆ ทิ้ง เสื้อผ้าหลาย ๆ ชั้น สามารถช่วยให้คุณอบอุ่นได้ในคืนอันหนาวเย็น หรือกลางแดดเปรี้ยงตอนกลางวัน ยังเอามาโพกหัวบังแดดได้

    6. สมบัติที่ติดตัวมา สร้อย แหวน กำไล รองเท้าหนัก ๆ ถอดทิ้งทะเลให้หมด มันเป็นตัวถ่วงให้เราจม ไว้รอดไปค่อยไปหาใหม่ เก็บนาฬิกาไว้สักอย่าง จะได้รู้เวลา และเกิดใช้มันสะท้อนแสงแดดขอความช่วยเหลือ หรือเปิดไฟนาฬิกายังได้

    7. ถึงหิวน้ำยังไง ห้ามดื่มน้ำทะเลเด็ดขาด มันเป็นผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก เพราะไตต้องทำงานหนักในขณะที่ร่างกายก็ยิ่งกระหายน้ำ ปกติไตไม่สามารถสร้างปัสสาวะจากความเข้มข้นของความเค็มที่มากกว่า 2% แต่ในน้ำทะเลมีความเค็มประมาณ 3% ดังนั้นหากเราดื่มน้ำทะเลเพื่อดับกระหาย ไตของเราจะใช้น้ำที่อยู่ในร่างกายในการทำให้ความเค็มของเกลือเจือจางลง ส่งผลให้เรารู้สึกกระหายน้ำมากขึ้น คนทั่วไปอดน้ำได้ 3-4 วันครับ รอหงายหน้าดื่มน้ำฝนดีกว่า (ถ้าพระเจ้าไม่แกล้งกันนัก) ถุงพลาสติกและรองเท้าเป็นภาชนะที่ดีเยี่ยมในการเก็บน้ำฝน แต่อย่าลืมล้างด้วยน้ำฝนก่อนเพื่อชะล้างเกลือจากละอองน้ำทะเล

    8. ถ้าหิวและเกิดฟลุ๊กพอจับปลาได้ บางทีการเอาเสื้อผ้ามากางกันแดดให้เป็นเงา มันจะล่อปลาให้เข้ามาได้ แต่อย่างที่บอก การกินปลาที่เป็นโปรตีน คุณก็จะหิวน้ำเพิ่มเช่นกัน แต่เขาบอกว่า คนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3 สัปดาห์โดยไม่กินอะไรเลย อดทนรอหน่อยก็ดีครับ

    9. ผ่อนคลาย สวดมนต์ หรือทำสมาธิง่าย ๆ หรือหารูปร่างที่คุ้นเคยในก้อนเมฆเพื่อจินตนาการลดความเบื่อหน่าย ไม่แนะนำให้ร้องเพลง คอยิ่งแห้งเร็ว

    10. คอยสังเกตเครื่องบินและเรือ หากคุณพบเห็น หาทางส่งสัญญาณให้เข้าทราบ เช่น โบกมือ ใช้อะไรสะท้อนแสงไปหาเครื่องบินและเรือ หรือถ้ามีเรือเข้ามาใกล้ ๆ ใช้นกหวีดที่ติดมากับเสื้อชูชีพ หรือถ้ามีไฟกระพริบติดที่เสื้อชูชีพ ก็แจ่มเลย นาฬิกาที่บอกในข้อ 6 ก็ได้

    11. ถ้าเกิดซวยซ้ำซ้อนเจอฉลามกลางทะเล อย่าพยายามตีน้ำเพราะจะยิ่งดึงดูดความสนใจของฉลาม ถ้าฉลามมันจะกินเรา มันจะลองงับดูก่อนว่ากินได้หรือเปล่า ดังนั้นการอยู่นิ่ง ๆ จะทำให้มันสงสัยและลังเลใจในการเข้ามาชิมเรา จากนั้นจ้องตามันเข้าไว้ โดยธรรมชาติฉลามมักจะเลือกจู่โจมเหยื่อที่ไม่ทันระวังตัว และพยายามเข้าทางข้างหลังมากกว่าพุ่งหาตรง ๆ ต่อมาทำตัวให้ใหญ่ ๆ โดยกางแขนขา เพื่อเป็นการข่มขวัญ แต่หากดูท่าทีแล้วมันแค่กำลังว่ายผ่านมาละก็ ให้หดตัวเก็บขาทำให้ดูเล็กที่สุด เพราะบางครั้งมันอาจเห็นว่าคุณเป็นตัวอะไรสักอย่างที่จะมาแย่งแหล่งอาหารของมัน การทำตัวให้เล็กก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เป็นคู่แข่งของมัน และอย่าแกล้งตาย เพราะฉลามไม่ใช่หมี ถ้ามันจะงับก็ถึงเวลาต้องสู้ป้องกันตนเอง ทั้งต่อย เตะ จุดที่บอบบางที่สุดของมันมีสองที่คือ จมูก ตา และเหงือก ให้เน้น ๆ ที่บริเวณนี้จะช่วยไล่มันได้

    ในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเฉพาะการต้องสละเรือใหญ่ ถ้าอยากมีชีวิตรอด เราต้องมีความพร้อม มีความรู้ และมีการเตรียมการที่ดี เพื่อให้พร้อมรับกับสถานการณ์ฉุกเฉิน การเตรียมพร้อมเป็นกุญแจสำคัญในการที่จะทำให้คุณรอดครับ ผมเน้นเลยนะครับว่า อุปกรณ์ Life Saving Appliance ทุกอย่างบนเรือ “คุณต้องใช้มันให้เป็นอย่างคล่องแคล่ว และมันจะใช้ได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน” พยายามทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการสละเรือใหญ่ เช่น EPIRB, SART, VHF Two way แพชูชีพและพลุสัญญาณ รู้วิธีใช้และตรวจสอบให้แน่ใจว่าคนประจำเรือทุกคนก็ใช้มันเป็นเช่นกัน

    ขอให้ทุกคนปลอดภัยเมื่อถึงคราวฉุกเฉินครับ แล้วพบกันใหม่ใน Seamoor blog ในตอนหน้าครับ สวัสดีครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: พฤษภาคม ค.ศ. 2024

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *