ความปลอดภัยที่คนประจำเรือควรใส่ใจก่อนออกเรือ

Picture of Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor Blog ทุกท่าน

    ในการทำงานบนเรือบรรทุกสินค้ากลางทะเล ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดครับ เพราะการทำงานที่ห่างไกลจากความช่วยเหลือทางการแพทย์ เกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินรุนแรงขึ้นมา จะค่อนข้างอันตรายต่อผู้ประสบภัยเป็นอย่างมาก ดังนั้นคนประจำเรือที่จะลงไปทำงานบนเรือต้องตระหนักในเรื่องนี้ และหาความรู้เพื่อการทำงานที่ปลอดภัยเอาไว้เยอะ ๆ ครับ
     

    ย้ำชัด ‘ความปลอดภัย’ เป็นเรื่องไม่ควรมองข้าม

    องค์การทางทะเลระหว่างประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญในข้อนี้ จึงได้กำหนดเนื้อหาเกี่ยวกับความปลอดภัยเบื้องต้นที่คนประจำเรือควรทราบเอาไว้ในวันที่ไปลงเรือและก่อนที่เรือจะออกจากเมืองท่า ซึ่งตามอนุสัญญา STCW หรือ International Convention on Standards of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers ในบทที่ 6 หัวข้อที่ A-6/1 ได้กำหนดเอาไว้เพื่อเป็นแนวทางให้คนประจำเรือไปศึกษาครับ เพราะถ้าบอกให้เราต้องไปหาความรู้เรื่องความปลอดภัยบนเรือก่อนเรือออกจากเมืองท่าเอาเองนะ มันเยอะแยะไปหมด คนประจำเรือก็จะไม่รู้ว่าต้องไปศึกษาเรื่องอะไรบ้างก่อนเรือจะออก เวลาก็น้อยในการรับงานจากคนเรือคนก่อน เหนื่อยก็เหนื่อยจากการเดินทางมาลงเรือ ยิ่งคนประจำเรือหน้าใหม่ ยิ่งไปกันใหญ่ ถ้าไม่มีอะไรแนะนำเขาเป็นแนวทาง รับรองไม่มีใครสนใจเรื่องพวกนี้แน่นอนครับ

    ตลอดระยะเวลาการทำงานบนเรือ 20 ปีของผม ผมแปลกใจมาก ๆ เลยว่า คนประจำเรือไทยรู้เรื่องพวกนี้น้อยมาก บางคนไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่มีเขียนไว้ใน STCW แล้ว ก็คงเป็นเพราะคนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือแหละครับ ชอบที่จะให้เขาเล่า บอกต่อมากกว่า ยิ่งเป็นหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษ ยิ่งไปกันใหญ่เลย วันนี้ผมเลยอยากให้แฟน ๆ Seamoor blog ทุกท่าน โดยเฉพาะคนประจำเรือได้อ่านเรื่องนี้ให้เข้าใจและนำไปใช้กันนะครับ เป็นการประหยัดเวลาในการไปอ่าน STCW ที่อยู่บนสะพานเดินเรือและเอาไปใช้ได้เลย

    ผมจะดีใจมาก ถ้าคุณจะแชร์เรื่องราวในฉบับนี้ไปให้คนอื่น ๆ โดยเฉพาะคนประจำเรือเพื่อยกระดับการทำงานให้เกิดความปลอดภัยของคนประจำเรือไทยกันครับ

    ใน STCW บทที่ 6 ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน, ความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ, การรักษาพยาบาลและการเอาตัวรอดในทะเล ในมาตราที่ A-6/1 บอกไว้เกี่ยวกับการฝึกอบรมเพื่อสร้างความคุ้นเคยเกี่ยวกับความปลอดภัยเอาไว้ว่า ‘ก่อนที่จะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่บนเรือ บุคคลทุกคนที่ทำงานหรือมีส่วนร่วมในการออกทะเลไปกับเรือที่ไม่ใช่ผู้โดยสารจะต้องได้รับการฝึกอบรมสร้างความคุ้นเคยที่ได้กำหนดไว้ในเรื่องเทคนิคการเอาตัวรอดในทะเล หรือได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่เพียงพอในการทำงานบนเรือ’ โดย STCW กำหนดไว้ 7 เรื่องด้วยกัน ดังต่อไปนี้ ไปดูกันครับว่ามีเรื่องอะไรบ้าง
     

    1. การสื่อสารกับบุคคลอื่นบนเรือในเรื่องความปลอดภัยเบื้องต้น และทำความเข้าใจข้อมูลด้านความปลอดภัย ป้าย และสัญญาณเตือนภัย

    ลองนึกภาพตามนะครับ เวลาเราไปลงเรือวันแรกก็ต้องมีคนมาคุยให้เราฟังว่า ความปลอดภัยเบื้องต้นที่สำคัญบนเรือคือเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งก็แล้วแต่ประเภทของเรือ เช่น เรือบรรทุกน้ำมันก็ต้องระวังเรื่องไอระเหยของน้ำมัน การเกิดประกายไฟ เรือคอนเทนเนอร์ ก็ต้องรู้ว่าตรงบริเวณไหนเป็นสินค้าอันตราย การทำงานบนปากระวางในขณะที่มีตู้คอนเทนเนอร์ถูกยกผ่านไปผ่านมาบนหัวเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก พวกป้ายสัญลักษณ์ที่ติดไว้ตามบริเวณต่าง ๆ ก็เช่นกัน ก็ต้องทำความเข้าใจว่ามันหมายความว่าอย่างไร ไม่รู้ก็ถาม อย่าไปเก็บความสงสัยหรือไม่เข้าใจเอาไว้
     

    2. รู้ว่าต้องทำอะไรในเรื่องต่อไปนี้

    • มีคนพลัดตกน้ำ
    • ตรวจพบเพลิงไหม้หรือควันหรือ
    • สัญญาณเตือนไฟไหม้หรือสละเรือใหญ่

     

    ในข้อ 2 นี้ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องย่อย

    เรื่องแรกเวลาเราไปเจอคนตกน้ำ เราต้องทำอย่างไร เช่นโยนห่วงชูชีพและอะไรที่มันลอยน้ำได้ไปให้คนตกน้ำเกาะก่อน แล้วตะโกนให้คนอื่นทราบว่ามีคนตกน้ำบริเวณไหนของเรือ เช่น หัวเรือขวา, ท้ายเรือซ้าย เป็นต้น จากนั้นรีบแจ้งให้ทีมงานบนสะพานเดินเรือทราบถ้าอยู่ในช่วงเรือเดิน หรือนายยามปากเรือทราบถ้าเรือจอดเทียบท่าอยู่ และที่สำคัญเราต้องคอยเฝ้ามองคนตกน้ำไว้ตลอดเวลาว่าลอยไปไหนแล้ว เพราะเราเป็นคนพบเขาคนแรก เวลาทีมช่วยเหลือเขามาจะได้แจ้งสถานการณ์ของคนตกน้ำถูก ถ้าอยู่กลางทะเลมันจะมีวิธีการค้นหาและช่วยเหลือด้วยนะครับ ว่าจะไช้วิธีไหนในการไปวนเรือไปหาและเก็บคนตกน้ำ ซึ่งจะถูกระบุไว้ใน Search and Rescue Manual

    ส่วนเมื่อไปเจอควันไฟหรือไฟไหม้บนเรือ ก็ต้องรีบแจ้งให้คนอื่นทราบก่อน โดยการตะโกนว่า ‘ไฟไหม้ ๆ’ หรือกดสัญญาณไฟไหม้บนเรือก็ได้ อย่ารีบไปดับไฟก่อน เพราะการเข้าไปดับไฟคนเดียวอันตรายมาก ๆ เราอาจจะสำลักควันจนสลบ แล้วเสียชีวิตโดยไม่มีใครรู้ก็ได้ หรือใช้ถังดับเพลิงผิดประเภทในการดับไฟ ก็จะเป็นอันตรายต่อคนใช้ได้

    สุดท้ายเรื่องสัญญาณเตือนไฟไหม้หรือสละเรือใหญ่ เราต้องทราบว่ามีเสียงเป็นอย่างไรจะได้ปฏิบัติได้ถูก ไม่ใช่ทางเรือกดสัญญาณสละเรือใหญ่ พอได้ยินแล้วยังนอนหลับปุ๋ย เพราะคิดว่าไม่มีอะไร แบบนี้ก็อันตรายครับ
     

    3. ทราบว่าจุดรวมพลและจุดลงเรือช่วยชีวิตและเส้นทางหลบหนีฉุกเฉินอยู่ตรงไหน

    ข้อนี้ก็สำคัญมากครับ โดยเฉพาะเรือลำใหญ่ ๆ เกิดทางเรือเขากดสัญญาณประจำสถานีสละเรือใหญ่ขึ้นมา ตื่นมางัวเงีย ๆ เดินไปเดินมา ไม่รู้จะไปรวมพลกับเขาจุดไหนก็จะลำบาก เขาคงไม่ทิ้งเราหรอก เพราะต้องรอตรวจสอบคนให้ครบก่อนจะเอาเรือช่วยชีวิตลงน้ำ แต่เราก็จะเป็นภาระกับทีมค้นหาและช่วยเหลือต้องมาออกตามหาเราอีก หรือถ้าเกิดมันฉุกเฉินและจำเป็นจริง ๆ เรือจะจมแล้ว เรายังไม่ไปถึงสักที เขาอาจจะไม่รอก็ได้ เขามีกันตั้งหลายชีวิต เราชีวิตเดียว ผมไม่ต้องบอกนะครับ ว่าเขาจะเลือกอย่างไร ดังนั้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่าทำตัวเป็นภาระคนอื่นครับ ส่วนเรื่องทางหนีฉุกเฉินก็ต้องทราบครับ เรือบางลำมีบันไดหนีไฟติดไว้ตรงบริเวณหน้าต่างกระจกตามชั้นต่าง ๆ เปิดหน้าต่างออกไปก็ปีนหนีได้ หรือช่องทางหนีฉุกเฉินภายในห้องเครื่อง ลองนึกภาพตาม ถ้าเรากำลังทำงานอยู่ชั้นล่างสุดของห้องเครื่อง แล้วไฟไหม้ด้านบนแถว ๆ ประตูทางออกจากห้องเครื่อง ไฟดับมองอะไรไม่เห็น ถ้าเราไม่รู้ว่าทางหนีฉุกเฉินอยู่ตรงไหน ผมว่าเราจะเอาชีวิตไปทิ้งเสียเปล่า ๆ ครับ
     

    4. ตำแหน่งที่เก็บเสื้อชูชีพและวิธีสวมเสื้อชูชีพ

    บนเรือกำหนดให้คนประจำเรือทุกคนต้องมีเสื้อชูชีพที่พร้อมในสภาพใช้งานเป็นของตัวเองนะครับ โดยปกติก็จะเก็บไว้ในห้องพัก ในกรณีไฟดับ ก็จะมีป้ายสะท้อนแสงติดไว้ตรงที่ใช้เก็บเสื้อชูชีพเพื่อให้คนประจำเรือทราบว่าเก็บเสื้อไว้ตรงนี้นะ นอกจากนี้ในบริเวณที่ทำงานร่วมกัน เช่น บนสะพานเดินเรือ ในห้องเครื่องจักร หรือหัวเรือ เป็นต้น จะมีการจัดหาและเก็บเสื้อชูชีพพิเศษไว้เพิ่มเติม เกิดในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินแล้ววิ่งกลับไปเอาที่ห้องไม่ทันก็คว้าเสื้อชูชีพที่เก็บไว้แถวนั้นใช้ได้เลย เสื้อชูชีพแต่ละรุ่นมีวิธีการใช้ไม่เหมือนกันนะครับ ก่อนออกเรือให้ลองเอามาใส่ดูบ้าง ลองหลับตาแล้วสวมเสื้อชูชีพ คุณควรสวมมันได้ถูกต้องภายใน 1 นาทีหรือไม่ อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ของเสื้อชูชีพก็ต้องให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เช่น นกหวีด ไฟกระพริบ และแถบสะท้อนแสงที่ติดที่เสื้อ
     

    5. การกดสัญญาณแจ้งเหตุและมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้ถังดับเพลิงแบบพกพา

    เมื่อเกิดไฟไหม้ แล้วเราต้องการแจ้งให้คนอื่นทราบ นอกจากการตะโกนแล้ว ถ้าเรือความยาวสัก 400 ม. การใช้การตะโกนให้ได้ยินไปทั่ว คออาจจะแตกซะก่อน บนเรือมีปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉินครับ เราเรียกกันว่า Manual Call Point พอไปดัน กด หรือกระแทกให้แตก สัญญาณก็จะดังรอบ ๆ ลำ ดังนั้นเราจึงต้องทราบว่ามันทำงานอย่างไร บางรุ่นเป็นกระจกด้านหน้า ถ้าเกิดเอามือไปกระแทกกระจก อาจจะบาดมือได้ ก็ควรหาอุปกรณ์อื่นไปทุบให้มันแตกแทนมือ เรื่องแบบนี้ต้องสอนกันครับ เวลาฉุกเฉินคนที่ไม่มีความรู้หรือไม่เคยฝึกมา มักนึกไม่ออกหรอก

    ยิ่งเรื่องการใช้ถังดับเพลิงเบื้องต้นยิ่งหนักเลย เราต้องต้องทราบก่อนว่า โดยทั่วไปไฟมันมีทั้งหมด 5 ประเภทนะ แล้วแต่ละประเภทมันก็ใช้ถังดับเพลิงไม่เหมือนกัน จริง ๆ ไฟบางประเภทมันก็สามารถใช้ถังดับเพลิงดับแทนกันได้ เช่น ไฟที่เกิดจากน้ำมัน ถ้าไปใช้ Dry Powder ดับ มันก็สามารถดับได้ แต้ถ้าเกิดมีประกายไฟที่เชื้อเพลิง มันก็จะสามารถติดไฟขึ้นมาได้อีก แต่ถ้าใช้โฟมไปดับ มันจะมีประสิทธิภาพดีกว่า เพราะทำให้มันอับอากาศและไม่ติดไฟอีกครั้ง แบบนี้เป็นต้น แต่ไฟบางประเภท ก็ใช้ถังดับเพลิงแทนกันไม่ได้ เช่น ไฟประเภท K ที่ไหม้น้ำมันปรุงอาหารในกระทะ ถ้าเอาถังดับเพลิงที่เป็นน้ำไปดับ ก็จะทำให้ไฟลุกท่วมหนักขึ้นไปอีก แบบนี้ก็ควรทราบนะครับ ก่อนที่เรือจะออกจากเมืองท่า
     

    6. การปฏิบัติเมื่อประสบอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์อื่น ๆ ก่อนขอความช่วยเหลือทางการแพทย์เพิ่มเติมบนเรือ

    ขณะเดินไปบนเรือ เกิดไปเจอเพื่อนคนประจำเรือด้วยกันหมดสติไม่หายใจขึ้นมา เราต้องรู้ว่าต้องทำอย่างไรในการปฐมพยาบาล เพราะมัวแต่จะไปร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เพื่อนอาจตายก่อนพอดี เรื่องการทำ CPR หรือการปั๊มหัวใจต้องทำทันทีภายใน 4 นาทีหลังจากผู้ป่วยไม่หายใจ มิฉะนั้นเลือดจะไปเลี้ยงสมองไม่พอ เมื่อสมองขาดเลือด ถึงแม้จะช่วยเขากลับมาให้ฟื้นคืนชีพได้ เขาก็อาจจะกลายเป็นมนุษย์ผักนอนติดเตียงไปตลอดชีวิต การปั๊มหัวใจที่ถูกต้อง ต้องกดถูกตำแหน่งที่กลางหน้าอก ลึกประมาณ 2 นิ้ว แล้วให้ได้ความเร็ว 100 ครั้งต่อนาทีถึงจะได้ผล ไม่จำเป็นต้องเป่าปากก็ได้ ถ้าไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัยของผู้ประสบภัย การปั๊มหัวใจที่ถูกต้องก็เพียงพอแล้วครับ ไหนจะเรื่องการห้ามเลือด การเข้าเฝือกเบื้องต้น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งมีของติดหลอดลมขึ้นมาจะเอาออกอย่างไร สถานการณ์เหล่านี้ล้วนต้องลงมือทำทันที และต้องทำให้ถูกด้วยครับ ผู้ประสบภัยถึงจะรอด หรือมองในมุมกลับกัน ถ้าเป็นเราเป็นผู้ประสบภัยแต่เพื่อนไม่รู้เรื่องการปฐมพยาบาลเรื่องเหล่านี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเราครับ ลองคิดคูแล้วกัน ทั้งหมดที่เล่าให้ฟังนี้ต้องหาเวลาฝึกครับถึงจะทำได้ถูกต้อง อ่านเฉย ๆ อาจนึกภาพไม่ออก
     

    7. การปิดและเปิดประตูกันไฟ ประตูผนึกน้ำ และประตูกันน้ำที่ติดตั้งอยู่ในเรือ นอกเหนือจากประตูอื่น ๆ ที่ใช้บนเรือ

    หลายคนคิดว่า มันจะยากตรงไหนกับแค่การเปิดปิดประตู แต่รู้ไหมครับ ปิดผิดชีวิตเปลี่ยน ผมเคยไปเจอพายุกลางทะเล หัวเรือกระแทกน้ำกระจายขึ้นมาที่หัวเรือตลอด แล้วลูกเรือปิดประตูผนึกน้ำไม่ดี น้ำลงไปท่วมที่ห้องสโตร์จนลงไปว่ายน้ำได้เลย ยิ่งคนประจำเรือใหม่ ๆ อาจไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่าต้องทำอย่างไร เรื่องแบบนี้ต้องสอนกันครับ เพราะมันอาจหมายถึงผลกระทบในการทรงตัวหรือการลอยตัวของเรือตามมาถ้าเกิดมีน้ำเข้าเรือ มาดูข้อกำหนดแต่ละประตูกันครับ

    ประตูกันไฟ ปกติจะปิดไว้ตลอดเพื่อกันไฟลุกลามจากห้องหนึ่งไปห้องหนึ่งเวลาเกิดไฟไหม้ มันจะมี Self-Closing ติดไว้ที่ด้านบนประตู พอเวลาเปิด มันก็จะปิดให้อัตโนมัติ คนประจำเรือบางคนชอบไปเปิดทิ้งไว้ เพราะสะดวกในการยกของผ่านไปมา หรือเปิดใช้บ่อย ๆ ก็ขี้เกียจเปิดหลายครั้ง แบบนี้ไม่ถูกต้องนะครับและอันตรายด้วย

    ประตูผนึกน้ำ (Weathertight Door) จะตั้งอยู่เหนือแนวน้ำ ออกแบบมาเพื่อป้องกันน้ำเข้าจากภายนอกสู่ภายใน ประตูส่วนใหญ่บนดาดฟ้าหรือประตูเข้าที่พักบนเรือบรรทุกน้ำมันจะเป็นประตูแบบ Weathertight Door ครับ ประตูเหล่านี้ได้รับการออกแบบให้เปิดออกไปด้านนอก เพื่อให้ภายในมีแรงดันเป็นบวกและช่วยกันน้ำหรืออากาศที่จะเข้ามาภายในที่พัก

    ส่วนประตูกันน้ำ (Watertight Door) ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าจากทั้งสองด้าน ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า น้ำจะไม่ไหลจากห้องหนึ่งไปยังห้องข้างเคียง ประตูกันน้ำจะอยู่ต่ำกว่าระดับดาดฟ้าและได้รับการออกแบบมาเพื่อเปิดและปิดขึ้นด้านบนหรือด้านข้าง เช่น ประตูส่วนใหญ่บนเรือบรรทุกรถยนต์จะเป็นประตู Watertight Door และสามารถเปิดปิดโดยรีโมทครับ

    นั่นก็เป็นทั้ง 7 เรื่องที่คนประจำเรือควรทราบเมื่อไปลงเรือและก่อนที่เรือจะออก เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและเพื่อนร่วมงานตามที่ STCW กำหนด

    ลองถามตัวเองดูนะครับ ว่าเรารู้เรื่องพวกนี้กระจ่างหรือยัง

    ถ้ายัง ถึงเวลาแล้วครับที่ต้องศึกษาหาความรู้และฝึกปฏิบัติให้คุ้นเคยกัน เดี๋ยวฉบับหน้าจะมาเล่าให้ฟังต่อครับว่า เมื่อลงเรือไปแล้ว 2 สัปดาห์ เราต้องรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมบ้าง

    สำหรับตอนนี้ขอ สวัสดีครับ
     
     

    บทความโดย: Old captain never die
    อัปเดต: มิถุนายน ค.ศ. 2024

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *