คนประจำเรือ VS โจรสลัด-การเผชิญหน้าที่ไม่เคยหายไปจากสมรภูมิท้องทะเล

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

seafarere vs pirate
Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

     

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor blog ที่รักทุกท่าน

    ถ้าถามถึงภัยคุกคามในการขนส่งสินค้าทางทะเล คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ภัยจากโจรสลัด’ ต้องเป็นหนึ่งในนั้นอย่างแน่นอน และเมื่อคุณได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับโจรสลัด ผมว่าสิ่งแรก ๆ ที่คนทั่วไปนึกถึงต้องมีหน้าของกัปตันแจ็กสแปร์โรว์แห่งThe Pirates of the Caribbean ลอยเข้ามาแน่นอน หรืออาจจะนึกไปถึงภาพยุคอดีตอันยาวนานที่มีพวกหัวขโมยหัวดื้อรั้นเดินทางไปกับเรือสำเภาท่องไปทั่วทะเลทั้งเจ็ดเพื่อค้นหาขุมทรัพย์ แนว ๆ ว่าใครมีลายแทงขุมทรัพย์ก็มีโอกาสได้ครอบครองมันไป ซึ่งก็น้อยครั้งที่โจรสลัดในสมัยโบราณจะออกปล้นเรือ แต่ในปัจจุบันภารกิจของโจรสลัดมีรูปแบบที่แตกต่างออกไป

    สำนักการเดินเรือระหว่างประเทศ (International Maritime Bureau-IMB) รายงานว่าตัวเลขจำนวนการโจมตีของโจรสลัดมีแนวโน้มลดลง ถึงอย่างนั้นก็ยังบันทึกเหตุโจมตีของโจรสลัดไว้ได้หลายร้อยครั้งในแต่ละปี โดยมีแค่เพียงในปี 2018 ที่เกิดเหตุเพียง 76 ครั้งเท่านั้น

    ถึงแม้ตอนนี้โลกได้เปลี่ยนเป็นยุคดิจิทัลและกำลังจะเข้าสู่ Metaverse เรือกำลังข้ามผ่านสู่ยุค Autonomous Ship แต่เชื่อเหลือเกินว่าภัยจากโจรสลัดจะยังคงอยู่คู่กับท้องทะเลต่อไป ตราบเท่าที่ความยากจนและความหิวโหยยังไม่หมดไป

     

    สาเหตุของการกระทำอันเป็นโจรสลัด

    การโจมตีของโจรสลัดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในจุดสำคัญ ๆ เพียงไม่กี่แห่งบนโลก ซึ่งการก่อเหตุได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่การทุจริต ความอ่อนแอทางการเมือง ไปจนถึงการขาดโอกาสในการทำมาหากิน

    การกระทำอันเป็นโจรสลัดยังอาจเกิดได้มากขึ้นหากมีปัญหาความรุนแรงทางการเมือง การก่อความไม่สงบ และการก่อการร้าย เช่น กรณีกลุ่มโบโกฮาราม (Boko Haram) ในไนจีเรีย (โบโกฮารามคือกลุ่มมุสลิมสุดโต่งที่ใช้ความรุนแรงเพื่อสถาปนารัฐอิสลาม (Islamic State)) หรือ อาจมีความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มความรุนแรงที่ไม่ใช่ของรัฐ กลุ่มกบฏ หรือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เช่น ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ดังนั้นสมาชิกของกลุ่มเหล่านั้นที่ต่อสู้กับรัฐก็มีส่วนร่วมด้วยกับการกระทำอันเป็นโจรสลัด

    ในรัฐที่มีปัญหาดังกล่าวจะพบปัญหาในการแก้ไขเรื่องโจรสลัดเนื่องจากมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและขาดทรัพยากรที่จำเป็นในการตอบโต้การโจมตีของโจรสลัดอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ และด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ประชากรจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานจากความยากจนและการว่างงาน ดังนั้น การออกไปปล้นเรือกลางทะเลดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของชายหนุ่มหลาย ๆ คน

    การกระทำอันเป็นโจรสลัดทางทะเลเป็นอาชญากรรมที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว คณะกรรมการและองค์กรด้านการเดินเรือระหว่างประเทศต่างต้องมีส่วนรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน

     

    Photo by Jakob Rosen on Unsplash

     

    10 พื้นที่ทางทะเลโจรสลัดสุดอันตรายในโลกยุคปัจจุบัน

    หลังจากทราบเหตุผลแล้วว่าอะไรเป็นแรงจูงใจให้หลายคนในประเทศที่อ่อนแออยากเป็นโจรสลัด คงไม่แปลกใจที่พบว่าภัยคุกคามจากโจรสลัดทางทะเลได้แพร่ระบาดอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถ้าเราตามข่าวทุกวันก็จะพบรายงานเหตุการณ์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโจรสลัดโจมตีลูกเรือและปล้นหรือจี้เรือไปเรียกค่าไถ่ หรือแม้กระทั่งทำอันตรายต่อลูกเรือเมื่อค่าไถ่ของพวกเขาไม่ได้รับการตอบรับจากเจ้าของเรือ

    การกระจายตัวของโจรสลัดในทะเลในยุคปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่หรือโซนทะเลแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่ได้กระจายไปแทบทุกส่วนของโลก

    แล้วมีที่ไหนบ้าง? มาครับ ผมจะเล่าให้ฟัง

    1. ช่องแคบมะละกา – ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำอันเป็นโจรสลัดทางทะเลเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่องแคบนี้เป็นช่องทางผ่านไปยังคลองสุเอซ อียิปต์ และยุโรป ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือทางทะเลที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่แถวนี้เกิดเหตุโจรสลัดโจมตีเรือพาณิชย์มากที่สุดแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทางการอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์กำลังร่วมมือกันเพื่อลด
      เหตุการณ์การกระทำอันเป็นโจรสลัด
    2. ทะเลจีนใต้ – โจรสลัดในทะเลจีนใต้ส่วนใหญ่เป็นคนมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ถือเป็นกลุ่มโจรสลัดที่อันตรายที่สุดที่กระทำต่อเรือและคนประจำเรือ เหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่น่านน้ำของมาเลเซีย สร้างความกังวลให้แก่เจ้าหน้าที่ของมาเลเซียเป็นอย่างมาก
    3. อ่าวเอเดน – ทางเข้าทะเลแดง เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโจรสลัด ด้วยเป็นพื้นที่อ่าวและเป็นเส้นทางผ่านไปสู่คลองสุเอซ แถมยังอยู่ใกล้ชายฝั่งของกลุ่มนอกรีตในโซมาเลีย โจรสลัดโซมาเลียสร้างความหายนะในเส้นทางเดินเรือนี้ ก่อปัญหามากมายให้ผู้เกี่ยวข้องในการขนส่งทางทะเล
    4. อ่าวกินี – พื้นที่เกิดใหม่ของโจรสลัด อ่าวกินีครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกาด้านตะวันตกเฉียงเหนือและใต้ (แองโกลา) ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญมากสำหรับเรือบรรทุกน้ำมันดิบไปยังทวีปยุโรปและอเมริกา ทำให้เป็นที่หมายตาของบรรดาโจรสลัดเป็นอย่างมาก ตามสถิติของสำนักงานการเดินเรือระหว่างประเทศ (IMB) บริเวณนี้มีการโจมตีของโจรสลัดค่อนข้างมาก และยังมีการสันนิษฐานว่าการโจมตีหลายครั้งอาจไม่ได้ถูกรายงาน
    5. เบนิน – ในแอฟริกาเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์อีกแห่งที่เต็มไปด้วยโจรสลัดทางทะเล พื้นที่ดังกล่าวได้รับการระบุว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในแง่ของการขนส่งทางทะเล IMO ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดในพื้นที่นี้ แต่ไม่ค่อยได้รับการดูแลเท่าที่ควร
    6. ไนจีเรีย – อยู่ทางตะวันตกของแอฟริกา ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงสุดสำหรับขนส่งสินค้าทางทะเล การดูแลด้านความปลอดภัยในทะเลของกองทัพเรือไนจีเรียยังไม่ค่อยมี นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของโจรสลัดในพื้นที่นี้ และด้วยภัยคุกคามจากโจรสลัดในแถบนี้มีความเสี่ยงสูง จึงส่งผลให้เบี้ยประกันภัยทางทะเลสำหรับการขนส่งสินค้าในบริเวณแอฟริกาตะวันตกสูงตามไปด้วย
    7. โซมาเลีย – สาเหตุหลักของโจรสลัดที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในโซมาเลียนั้นเป็นเพราะความยากจนอย่างสุดขั้วในภูมิภาคที่เกิดจากสงครามกลางเมือง ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล และขยะในทะเลจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นมลพิษในทะเลในน่านน้ำโซมาเลีย แน่นอนครับ เรือวิ่งไปแถวนั้นต้องจ่ายเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ความคุ้มครองจากประกันภัย โจรสลัดในโซมาเลียเป็นความกังวลระดับนานาชาติ เนื่องจากประชาชนในประเทศเชื่อว่าการเป็นโจรสลัดเป็นทางเลือกที่พวกเขาสามารถใช้ปัดเป่าความยากจนและข้อจำกัดอื่น ๆ ที่คุกคามพวกเขา
    8. อินโดนีเซีย – เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโจรสลัดเป็นอย่างมากของโลก พื้นที่ส่วนที่เป็นเป้าหมายของโจรสลัดในทะเล ได้แก่ หมู่เกาะอานัมบาส นาทูนา และหมู่เกาะเมอรันดุง โดยมีรายงานว่าโจรสลัดที่โจมตีเรือในบริเวณนี้มักเลือกเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน การลงโทษของทางการอินโดนีเซียต่อกลุ่มโจรสลัดที่ถูกจับในประเทศนั้นยังขาดความเด็ดขาด ทำให้ไม่มีใครยำเกรง
    9. ทะเลอาหรับ – อ่าวโอมานเป็นหนึ่งในพื้นที่ในทะเลอาหรับซึ่งตกเป็นเป้าหมายของโจรสลัดทางทะเลอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม องค์กรและหน่วยงานระหว่างประเทศได้มองข้ามความคุ้มครองด้านความปลอดภัยในพื้นที่นี้เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มีการกระทำอันเป็นโจรสลัดในบริเวณอื่น ๆ เช่น อ่าวเอเดนและชายฝั่งโซมาเลีย
    10. มหาสมุทรอินเดีย – น่านน้ำในมหาสมุทรอินเดียยังเป็นบริเวณที่โจรสลัดออกก่อการอีกด้วยเช่นกัน โดยโจรสลัดเหล่านี้มาจากประเทศที่ถูกทำลายอย่างโซมาเลีย ซึ่งมหาสมุทรอินเดียเป็นเส้นทางเดินเรือทางทะเลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ซะด้วย

     

    Photo by Roland Samuel on Unsplash

     

    การแก้ไขปัญหาโจรสลัด

    ผมจำได้ว่าสมัยผมเริ่มทำงานบนเรือใหม่ ๆ เรือก็ต้องหาทางป้องกันตัวเองตามเท่าที่มี เช่น จัดเวรยามพิเศษเวลาวิ่งเข้าเขตโจรสลัด บางครั้งผมต้องไปเข้ายามเอง ยังแอบนึกเล่น ๆ ว่าถ้าโจรสลัดขึ้นเรือมาจริง ๆ แล้วจะวิ่งหนีมันเข้าบริเวณที่ปลอดภัยทันไหมเนี่ย แต่ปัจจุบัน หลาย ๆ หน่วยงานมีการบูรณาการร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยผ่านเครื่องมือดังต่อไปนี้

     

    1. ความร่วมมือภายใต้กรอบขององค์การระหว่างประเทศ

    หน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศที่พวกเรารู้จักดีก็คือ ReCAAP ISC (Regional Cooperation Agreement on Combating Piracy and Armed Robbery against Ships in Asia Information Sharing Centre) เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธในเอเชีย ReCAAP ได้รับการยอมรับจาก International Maritime Organization (IMO) ว่าเป็นต้นแบบของกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จและต้องการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในลักษณะนี้ในภูมิภาคอื่น

    ReCAAP ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานข้อมูลเมื่อเกิดเหตุการณ์โจรสลัดและการปล้นเรือให้ประเทศสมาชิกทราบผ่าน National Focal Points (ของไทยคือกองทัพเรือ) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือเรือ ติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้อย่างทันท่วงที และจัดโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายของประเทศสมาชิกเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งรวบรวมข้อมูล จัดทำสถิติและวิเคราะห์เพื่อประเมินความเสี่ยงภัยให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก

    เมื่อแรกจัดตั้งมีประเทศจากเอเชียเข้าร่วม 14 ประเทศ และปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 20 ประเทศ โดยมีออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และประเทศจากยุโรปคือ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร เข้าร่วมเพิ่มเติม โดยสำนักงานของ ReCAAP ISC ตั้งอยู่ในที่ประเทศสิงคโปร์

    นับตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ขึ้นมาเมื่อตอนช่วงปลายปี 2006 ReCAAP ISC ได้รวบรวมสถิติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียของปี 2007-2020 มาวิเคราะห์และสรุปดังนี้

    ทวีปเอเชียเกิดเหตุขึ้นทั้งหมด 1740 ครั้ง แยกเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจริง 1534 ครั้ง และการพยายามก่อเหตุ 206 ครั้ง โดยพบว่าปีที่เกิดเหตุมากครั้งที่สุดคือปี 2015 (203 ครั้ง) แล้วปีที่เกิดเหตุน้อยครั้งที่สุดคือปี 2018 (76 ครั้ง)

    ในจำนวนทั้งหมดนี้พบลักษณะของเหตุการณ์ที่น่าสนใจ คือ

    • จำนวนกลุ่มผู้ก่อเหตุมักมีขนาดเล็ก: กลุ่ม 4-6 คน (33%), กลุ่ม 1-3 คน (25%)
    • ประเภทอาวุธที่ใช้ก่อเหตุ: ไม่ทราบประเภทอาวุธ 48%, ใช้มีดและมีขนาดใหญ่ 33%, ใช้มีดและปืน10%
    • รายงานการบาดเจ็บของลูกเรือ: ไม่พบลูกเรือบาดเจ็บ 54%, ไม่พบรายงานสถานะของลูกเรือ 25%
    • ทรัพย์สินที่ถูกปล้น: เสบียงเรือ 33%, เงินสด/ทรัพย์สินอื่น ๆ 13%, ชิ้นส่วนอะไหล่ 8% และพบว่ามีเหตุการณ์ที่ไม่มีสิ่งใดถูกปล้นเลยถึง 33%
    • ประเภทเรือที่เกิดเหตุ: เรือบรรทุกน้ำมัน 36%, เรือบรรทุกสินค้าเทกอง 27%, เรือลากจูง/เรือส่งเสบียง 14%, เรือคอนเทนเนอร์ 13%
    • ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ: แน่นอนว่าเป็นตอนกลางคืนที่สูงถึง 81%

     

    ส่วนในบริเวณอ่าวเดเดน มีการจัดตั้ง The Maritime Security Center – Horn of Africa (MSCHOA) เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการทำงานของ EU NAVFOR (The European Union Naval Force Somalia) เป็นปฏิบัติการโดยใช้กองทัพเรือต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด เพื่อปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือและการค้าผ่านพื้นที่เสี่ยงสูง และเนื่องจากมีการค้าที่ขนส่งทางทะเลจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมากถึง 95% (ตามปริมาณ) และจากการค้าโลก 20% ที่ใช้เส้นทางผ่านอ่าวเอเดน EU NAVFOR จึงมีความพยายามอย่างมากในการปกป้องการค้าในพื้นที่ยุทธศาสตร์นี้

    MSCHOA ได้จัดโครงการลงทะเบียนโดยสมัครใจให้เรือที่เดินทางผ่านพื้นที่นี้และจะส่งความช่วยเหลือที่จำเป็นเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินใด ๆ ผมแนะนำให้เจ้าของเรือทุกท่านที่มีเรือที่วิ่งผ่านไปแถวนั้นลงทะเบียนกับ MSCHOA ก่อนไปถึงพื้นที่ เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการโจมตีหรือการจี้เรือ

    นอกจากนี้ EU NAVFOR ยังสนับสนุนแนวทางการจัดการที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันการกระทำอันเป็นโจรสลัดโซมาเลีย หรือที่เรารู้จักกันในนาม BMP (Best Management Practices to Deter Piracy and Enhance Maritime Security in the Red Sea, Gulf of Aden, Indian Ocean and Arabian Sea)

     

    2. ปฏิบัติการทางทหาร

    เป็นความร่วมมือของกองกำลังทางเรือ สืบเนื่องจากข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกส่งกองเรือรบเข้าปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นได้ ประเทศสมาชิกจึงได้ร่วมส่งกองกำลังและการปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งเราเรียกว่า ‘กองกำลังผสมทางเรือ’ แต่การกระทำอย่างนี้มันก็ทำไม่ได้ตลอดเพราะใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ดำเนินการเป็นครั้งคราวและเป็นช่วง ๆ เท่านั้น

     

    3. การใช้ชุดคุ้มครองเรือติดอาวุธ

    ถึงแม้การลาดตระเวนของกองกำลังนานาชาติในพื้นที่เสี่ยงภัยจะถือว่าประสบความสำเร็จ แต่กองกำลังนานาชาติไม่สามารถจัดคุ้มครองย่อยให้กับเรือพาณิชย์ได้ทั้งหมด ทำให้ภาคเอกชนยังคงต้องหามาตรการในการปกป้องตัวเอง โดยหันมาใช้ชุดคุ้มครองเรือติดอาวุธเอกชน (Privately Contracted Armed Security Personnel) หรือเรารู้จักกันในนาม Arm Guard อย่างไรก็ตาม กฎหมายระหว่างประเทศยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนั้นการใช้ชุดคุ้มครองเรือติดอาวุธเป็นดุลยพินิจของรัฐเจ้าของธง โดยรัฐนั้นควรมีนโยบายที่ชัดเจนและมีกฎหมายภายในรองรับและจะต้องปฏิบัติตามฎหมายภายในของรัฐชายฝั่งที่เรือวิ่งผ่าน

     

    4. การปฏิบัติตามคู่มือป้องกันตนเองของเรือ

    IMO ได้แนะนำให้เรือที่จะผ่านพื้นที่เสี่ยงภัยดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันตนเองจากภัยโจรสลัด เช่น

    • ลงทะเบียนเรือที่จะเดินทางผ่านพื้นที่เสี่ยงกับ MSCHOA ตลอดจนรายงานตำแหน่งเรือของตนทั้งก่อนและระหว่างเดินทาง
    • ใช้เส้นทาง IRTC (The International Recommended Transit Corridor) ที่มีการจัดระเบียบและมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีเรือรบจากกองกำลังนานาชาติคุ้มกัน
    • ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันภัย อาทิ ลวดหนาม กระสอบทราย ระบบสื่อสารที่มีความรวดเร็วแม่นยำ สายฉีดน้ำแรงสูงและกล้องวงจรปิด (CCTV) เป็นต้น
    • ปฏิบัติตาม (Best Management Practices-BMP) เช่น การแล่นเรือด้วยความเร็วที่เหมาะสม การทาสีตัวเรือให้ดูเหมือนเรือรบ ติดตั้งห้องนิรภัย (safe room) สำหรับหลบภัยในเรือเวลาโจรสลัดขึ้นมาบนเรือ เป็นต้น

     

    ‘หลักการคือ เราต้องทำทุกวิถีทางที่ไม่ให้โจรสลัดขึ้นเรือของเราได้’

     

    แต่ถ้าโจรสลัดขึ้นมาบนเรือได้และเราไม่มีกองกำลังติดอาวุธประจำบนเรือ เราต้องทำอย่างไร ผมว่าก็มีอยู่ด้วยกันก็มี 2 กรณีครับ คือ

    1. ถ้าโจรสลัดยังจับตัวใครเป็นตัวประกันไม่ได้ ให้กดปุ่ม SSAS (Ship Security Alert System) เพื่อขอความช่วยเหลือแล้วหลังจากนั้นก็อาจอพยพเข้าห้องนิรภัย ซึ่งภายในมีระบบการติดต่อสื่อสารที่สามารถติดต่อกับภายนอกได้ และอาจมีระบบการควบคุมหางเสือฉุกเฉิน
    2. ถ้าโจรสลัดจับลูกเรือเป็นตัวประกันได้ ก็จบครับ อย่าไปเสี่ยงกับชีวิตคนประจำเรือเลย ยอม ๆ เขาไปเถอะครับ ถึงแม้บางทีบนเรือจะมีจำนวนคนประจำเรือมากกว่าโจรสลัด แต่โจรส่วนใหญ่มีอาวุธครับ ไม่คุ้มเสี่ยงเลย

     

    สำหรับบริเวณอื่น ๆ ของโลก ส่วนใหญ่โจรสลัดจะขึ้นมาปล้นเรือแล้วก็จากไป แต่ในกรณีแถว ๆ โซมาเลีย โจรสลัดจะขึ้นมายึดเรือเพื่อไปเรียกค่าไถ่เป็นหลักครับ คือยึดเรือได้เสร็จ เขาก็จะบังคับให้คนประจำเรือนำเรือเข้าไปทิ้งสมอในน่านน้ำโซมาเลีย จากนั้นก็จะต่อรองกับเจ้าของเรือผ่านตัวแทนจนตกลงกันได้ว่าจ่ายกันเท่าไหร่และที่ไหน ทางโจรสลัดก็จะให้คนประจำเรือนำเรือไปที่จุดนัดพบซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นในทะเล เจ้าของเรือต้องเอาเงินสดใส่ถุงกันน้ำอย่างดีใส่เครื่องบินไปทิ้ง พอโจรได้เงินก็จะปล่อยคนเรือพร้อมเรือ ซึ่งส่วนใหญ่โจรจะไม่เบี้ยว เพราะถ้าเบี้ยวต่อไปเจ้าของเรือก็ไม่ต่อรองด้วย พอเรือเป็นอิสระก็ต้องหนีให้สุดชีวิตจากน่านน้ำโซมาเลีย เพราะยังมีโจรกลุ่มอื่นรอปล้นอยู่อีกเช่นกัน พวกนี้โหดนะครับ เคยมีข่าวมันตัดแขนกัปตันเรือเวียดนาม เพราะเจ้าของเรือไม่ยอมจ่ายค่าไถ่มาแล้ว

    ดีนะครับที่บ้านเราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโจรสลัด แต่บ้านเราก็มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด พ.ศ. 2534 ประกาศใช้อยู่ด้วย ถือเป็นการป้องปราม

    แล้วสงสัยกันไหมครับว่า ถ้าเวลาเรือโดนโจรสลัดขึ้น จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากประกันภัยได้ไหม?

    ในกรณีทรัพย์สินของคนประจำเรือโดนโจรสลัดยึดไป ก็ตอบว่าได้ครับ ถ้าเจ้าของเรือได้ทำประกันภัยโดยมีเงื่อนไขเรื่องโจรสลัดเอาไว้กรมธรรม์

    ส่วนเมื่อเวลาเรือโดนโจรสลัดยึดไปแล้วคนประจำเรือยังจะได้รับค่าจ้างไหม? ตามการแก้ไขประมวลกฎหมายแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 ระบุว่าคนประจำเรือที่ถูกจับเป็นเชลยอันเป็นผลมาจากการกระทำของโจรสลัดหรือการปล้นอาวุธกับเรือจะยังคงได้รับค่าจ้างและสิทธิของตนต่าง ๆ ตามกฎหมายอยู่ ซึ่งเป็นหลักประกันว่า มีการคุ้มครองทางกฎหมายเพิ่มเติมที่มอบให้กับคนประจำเรือและครอบครัวที่จะได้รับการจ่ายค่าจ้างอย่างต่อเนื่องระหว่างการถูกจองจำ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความทุกข์ทางจิตใจที่คนประจำเรือได้รับและส่งผลกระทบต่อครอบครัวของพวกเขาในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือจะไม่หมดอายุในระหว่างช่วงการกักขังทั้งหมด และจนกว่าคนประจำเรือจะได้รับการปล่อยตัวและถูกส่งตัวกลับประเทศอย่างถูกต้อง

    ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวของคนประจำเรือกับโจรสลัดที่มีมาอย่างยาวนานและก็คงจะยังมีอยู่ต่อไป ถ้าตราบใดไม่ได้มีการปราบปรามอย่างจริงจัง ตลอดจนรัฐที่อ่อนแอทั้งหลายในบริเวณที่โจรสลัดชุกชุมยังไม่มีการบูรณาการและสร้างความเข้มแข็งตลอดจนดูแลคนในประเทศของตัวเอง ยังไงผมเอาใจช่วยให้คนประจำเรือทุกท่านปลอดภัยจากการกระทำอันเป็นโจรสลัดกันทุกคนครับ

     

     

    บทความโดย: Old Captain Never Die
    อัปเดต: 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *