ต้นกลเรือ มือฉมังด้านงานซ่อมที่จดจำผังระบบและแปลนเรือได้แม่นยำทุกรายละเอียด

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

ChiefEngineer
Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor blog ทุกท่าน

    ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมาในทุก ๆ เดือน ผมพาทุกท่านไปทำความรู้จักตำแหน่งต่าง ๆ ของฝ่ายเดินเรือจนครบหมดทุกตำแหน่งแล้ว ถ้าแฟนคลับท่านไหนที่อยากไปทำงานเป็นคนประจำเรือ อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจครับถ้ายังไม่ได้อ่านบทความนี้ให้จบ

    ยังมีงานของแผนกช่างกลเรือที่น่าสนใจอีก

    สำหรับคนที่ชอบเรื่องเครื่องยนต์กลไก ลองติดตาม Seamoor Blog นับจากเดือนนี้เป็นต้นไปดูครับ แล้วผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับตำแหน่งต่าง ๆ ของแผนกช่างกลเรืออย่างทะลุปรุโปร่ง จากนั้นค่อยตัดสินใจอีกทีก็ได้ครับ

    ตำแหน่งแรกที่อยากพาทุกท่านไปทำความรู้จักคือหัวหน้าของแผนกช่างกลเรือครับ เราเรียกบุคคลที่ทำงานในตำแหน่งนี้ว่า ‘ต้นกลเรือ (Chief Engineer)’
     

    เรื่องทั่วไปของต้นกลเรือ

    สมัยผมลงเรือใหม่ ๆ ผมเข้าใจว่าศักดิ์ศรีและเงินเดือนของต้นกลเรือน่าจะน้อยกว่ากัปตันเรือ แต่จริง ๆ แล้ว ศักดิ์และสิทธิ์ ตลอดจนอัตราเงินเดือนของต้นกลนั้นอยู่ในระดับเดียวกับกัปตันเรือเลยทีเดียวครับ เพียงแต่มีความรับผิดชอบแต่ในเพียงแผนกช่างกลเรือเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบทุก ๆ อย่างบนเรืออย่างกัปตัน บางทีเราอาจเรียกผู้ที่ทำงานฝ่ายช่างกลเรือแบบเท่ ๆ ด้วยภาษาอังกฤษว่า ‘Marine Engineer’ ครับ

    ต้นกลเรือต้องเป็นคนประจำเรือที่มีวุฒิบัตรรับรองตาม STCW กำหนด และรับผิดชอบงานทางด้านวิศวกรรมบนเรือทั้งหมด ทั้งการใช้งานและการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมทั้งหมดบนเรือ นอกจากนี้ต้นกลเรือยังมีหน้าที่ในการพิจารณาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นตลอดจนวัสดุสิ้นเปลืองอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการเดินทาง ดูแลอะไหล่ต่าง ๆ ที่จำเป็นให้มีอยู่บนเรือ ดูแลการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น เตรียมพร้อมเครื่องจักรใหญ่และเครื่องจักรช่วยให้พร้อมสำหรับการตรวจสอบ ดูแลการบำรุงรักษาส่วนสำคัญระหว่างการเดินทาง และรับผิดชอบห้องเครื่องในสถานการณ์ฉุกเฉิน
     

    เรือรบและเรือสินค้าใช้ชื่อเรียกต้นกลแตกต่างกัน

    ในกองทัพเรือ เขาเรียกทหารซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกลภายในเรือว่า ‘พรรคกลิน’ ครับ คำว่ากลินตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายถึง ผู้มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องกลครับ

    ชื่อของพรรคกลินเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับคำว่าพรรคนาวิกโยธินและพรรคนาวิน ตามข้อบังคับทหารเรือว่าด้วยการจำแนกพรรคเหล่า พรรคกลินถูกแบ่งออกเป็น 3 เหล่าและมีหน้าที่ดังนี้คือ

    1. เหล่าเครื่องไอน้ำ: มีหน้าที่ในการดูแลเครื่องจักรไอน้ำในเรือ
    2. เหล่าเครื่องยนต์: มีหน้าที่ในการดูแลเครื่องจักรต่าง ๆ ระบบน้ำมันและและอากาศในเรือ
    3. เหล่าเครื่องไฟฟ้า: มีหน้าที่ในการดูแลเครื่องไฟฟ้าในเรือ

     

    แต่ถ้าเป็นต้นกลเรือในเรือบรรทุกสินค้า ความรับผิดชอบทั้ง 3 เหล่าของพรรคกลิน อยู่ภายใต้คน ๆ เดียวครับ พูดได้ว่า น๊อต วาวล์ ท่อทางต่าง ๆ บนเรือต้องอยู่ในหัวของต้นกลเรือเลยครับ

    ผมรู้จักตำแหน่งนี้ครั้งแรกตอนสอบเข้าศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีในรอบการออกทะเล คือเขาจะพาผู้ผ่านการสอบข้อเขียนและการทดสอบร่างกายทั้งหมดออกทะเลไปกับเรือฝึกของโรงเรียน จำได้ว่า เขาพาไปแถว ๆ เกาะล้านและเกาะเสม็ดเพื่อให้นักเรียนได้รู้จักทะเลจริง ๆ แล้วจะได้ประเมินตัวเองว่าไหวไหมกับการเมาคลื่น มีอยู่ช่วงหนึ่ง เขาพานักเรียนลงไปดูในห้องเครื่องและแนะนำให้รู้จักกับต้นกลเรือ ตอนนั้นผมทึ่งมาก เพราะสุภาพบุรุษท่านนั้นสามารถดูแลเครื่องจักรขนาดใหญ่กว่าตัวเองได้แบบสบาย ๆ

    ตำแหน่งนี้ดูชักน่าสนใจมากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ?

    ผมก็มีอิจฉาบ้างนะ เพราะเวลารถผมเสียทีไร กัปตันเรืออย่างผมซ่อมรถตัวเองไม่เป็น เวลาปั๊มน้ำที่บ้านเสียก็ต้องเรียกช่างทุกที ผิดกับเพื่อน ๆ ที่จบมาแล้วเป็นต้นกลเรือ สามารถแก้ไขเรื่องพวกนี้ได้สบาย ๆ แถมเวลาเลิกงานบนเรือแล้วอยากขึ้นไปทำงานบนบก คนที่เป็นต้นกลเรือ ก็มีตำแหน่งงานรองรับมากกว่า เช่น คนที่ต้องการจะเป็น Surveyor ของสถาบันจัดชั้นเรือ ส่วนมากเขาก็จะรับคนที่มีประสบการณ์เป็นต้นกลเรือมาก่อน

    แต่อยู่ดี ๆ จะมาเป็นต้นกลเรือ ก็ไม่ได้นะครับ ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ สั่งสมบารมีมาพอสมควรกว่าทางเจ้าของเรือเขาจะไว้วางใจให้ไปดูแลเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ บนเรือของเขา
     

    ลำดับขั้นการก้าวขึ้นมาเป็นต้นกลเรือ

    ต้นกลเรือ ถ้าดูจากที่กำหนดไว้ใน STCW จะถือว่าอยู่ในระดับบริหาร (Management level) เช่นเดียวกับนายเรือหรือกัปตันครับ โดยก่อนจะเป็นต้นกลเรือได้ ต้องผ่านตำแหน่งต่าง ๆ ในฝ่ายช่างกลเรือมาก่อน

    ตามข้อบังคับกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับการสอบความรู้ผู้ทำการในเรือเดินทะเลใกล้ฝั่งและเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดชั้นประกาศนียบัตรผู้ทำการในเรือฝ่ายช่างกลเรือไว้ดังนี้ครับ

    1. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถต้นกลของเรือกลเดินทะเลขนาดกำลังขับเคลื่อน 3000 กิโลวัตต์หรือมากกว่า (Chief engineer officer on ships powered by main propulsion machinery of 3,000 kW propulsion power or more)

    2. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถต้นกลของเรือกลเดินทะเลขนาดกำลังขับเคลื่อน 750-3000 กิโลวัตต์ (Chief engineer officer on ships powered by main propulsion machinery of between 750-3,000 kW propulsion power)

    3. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถรองต้นกลของเรือกลเดินทะเลขนาดกำลังขับเคลื่อน 3000 กิโลวัตต์หรือมากกว่า (Second engineer officer on ships powered by main propulsion machinery of 3,000 kW propulsion power or more)

    4. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถรองต้นกลของเรือกลเดินทะเลขนาดกำลังขับเคลื่อน 750-3000 กิโลวัตต์ (Second engineer officer on ships powered by main propulsion machinery of between 750-3,000 kW propulsion power)

    5. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถนายประจำเรือฝ่ายช่างกลของเรือกลเดินทะเลขนาดกำลังขับเคลื่อน 750 กิโลวัตต์หรือมากกว่า (Officer in charge of an engineering watch on ships powered by main propulsion machinery of 750 kW propulsion power or more)

    6. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญลูกเรือชำนาญงานฝ่ายช่างกล (Rating as able seafarer engine)

    7. ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญลูกเรือเข้ายามฝ่ายช่างกล (Rating forming part of engineering watch)

    คือถ้าจะเริ่มชีวิตการเป็นคนประจำเรือแบบไม่รู้อะไรเลยมาก่อน ก็ต้องเริ่มทีประกาศนียบัตรในระดับที่ 7 แล้วค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่ 1 ความสำเร็จไม่ได้มีไว้สำหรับคนที่เดินเร็วเสมอไป แต่มีไว้สำหรับคนที่เดินไม่หยุด นั่นเป็นวิธีการที่จะเป็นต้นกลเรือได้ครับ

    แล้วถ้าได้เป็นต้นกลเรือแล้ว ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบภายใต้ STCW อะไรบ้าง มาดูกันครับ
     

    หน้าที่และความรับผิดชอบของต้นกลเรือประจำเรือสินค้า

    อย่างที่อธิบายให้พวกเราทราบไปแล้วครับว่า ต้นกลเรือคือหัวหน้าฝ่ายช่างกลเรือ ซึ่งต้องดูแลเครื่องจักรในห้องเครื่องให้ทำงานอย่างเหมาะสมเพื่อการเดินทางที่ราบรื่น ซึ่งตามอนุสัญญา STCW กำหนดความรับผิดชอบของต้นกลไว้อย่างชัดเจนในส่วน A-III/2 โดย STCW โดยมีระบุไว้ว่าการทำงานของเรือและอุปกรณ์ควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมโดยต้นกลเรือ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยขั้นต่ำทั้งหมด ซึ่งหน้าที่ของต้นกลเรือทั้งในสภาวะทั่วไปและภาวะฉุกเฉินบนเรือคือ

    1. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งหมดของเรือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเดินเรืออย่างปลอดภัย โดยรวมถึงการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

    2. ปฏิบัติตามกฎและระเบียบที่กำหนดโดยการรัฐเจ้าของธง IMO และหน่วยงานของรัฐชายฝั่ง

    3. ตรวจสอบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรือและความปลอดภัยส่วนบุคคลเป็นประจำ ซึ่งต้นกลต้องลงไปตรวจสอบด้วยตัวเองให้เกิดความแน่ใจ

    4. อุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้สำหรับการป้องกันมลภาวะทางทะเล ควรได้รับการตรวจสอบและมีการทดสอบการใช้งานเป็นประจำเพื่อให้อยู่ในสภาพการทำงานที่เหมาะสม

    5. ออกคำสั่งและนโยบายในการปฏิบัติงานให้กับคนประจำเรือฝ่ายช่างกลเรือ

    6. คำสั่งดังกล่าวในการปฏิบัติงานควรเป็นไปตามกำหนดการบำรุงรักษาตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน Planned Maintenance System (PMS) ซึ่งกำหนดโดยผู้ผลิต

    7. ดูแลการลงบันทึกในสมุดปูมห้องเครื่องเกี่ยวกับรายละเอียดในการทำงาน การซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรทุกอย่าง

    8. ตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยชีวิตและอุปกรณ์การป้องกันและดับไฟอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้พร้อมใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉิน

    9. เพื่อเป็นการลดโอกาสการเกิดไฟไหม้ ต้นกลเรือต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการดำเนินการและบำรุงรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นอย่างเหมาะสม โดยต้องไม่มีการรั่วซึม และในกรณีที่มีการรั่วไหลควรแก้ไขโดยเร็วที่สุด

    10. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าปริมาณน้ำมันเสียจากท้องเรือควรมีน้อยที่สุด น้ำมันที่เก็บรวบรวมได้ควรนำไปเผาในเตาเผาขยะหรือส่งขึ้นไปทำลายบนฝั่ง

    11. ดูแลเตาเผาขยะให้ใช้งานได้ตามข้อบังคับ

    12. มั่นใจว่าการปั๊มน้ำผสมน้ำมันออกนอกตัวเรือควรผ่านเครื่องแยกน้ำที่มีน้ำมันเท่านั้นและต้องมีส่วนผสมของน้ำมันไม่เกิน 15 PPM

    13. เพื่อให้แน่ใจว่าขั้นตอนการบำรุงรักษาและการซ่อมแซมเครื่องจักรต่าง ๆ สามารถทำได้อย่างเหมาะสม ควรมีการจัดหาอะไหล่ต่าง ๆ ที่จำเป็นไว้บนเรือและขอเบิกไปที่สำนักงานในเวลาที่เหมาะสม

    14. เป็นหน้าที่ของต้นกลเรือที่จะต้องจูงใจลูกเรือให้พัฒนาทัศนคติ ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ ในการทำงาน

    15. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกเรือของเขาเข้าร่วมการฝึกซ้อมฉุกเฉินบนเรือและการประชุมด้านความปลอดภัยทั้งหมด

    16. ลูกเรือทุกคนควรรู้วิธีจัดการกับทุกสถานการณ์บนเรือ ต้นกลเรือต้องให้คำแนะนำแก่ลูกเรือในระหว่างการฝึกซ้อม เพื่อที่พวกเขาจะได้รู้วิธีการจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างปลอดภัยในเวลาที่น้อยที่สุด

    17. ขณะจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้นกลเรือต้องปฏิบัติตามแนวทางและขั้นตอนของบริษัทในการจัดการกับเหตุฉุกเฉิน

    18. เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เวลาตอบสนองมีความสำคัญมาก ดังนั้นต้นกลเรือจะต้องสามารถแนะนำลูกเรือของเขาได้ในเวลาขั้นต่ำเพื่อเข้าร่วมและแก้ไขสถานการณ์

    19. ต้นกลเรือต้องมีความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ เช่น การติดตั้งการดับเพลิงแบบติดตั้งประจำที่การทำงานของวาล์วตัดระบบน้ำมันและอากาศ เป็นต้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่รุนแรง

    20.ต้องมีความรู้เกี่ยวกับแผงเครื่องจักรตอบสนองอุปกรณ์ฉุกเฉินของเรือพร้อมกับเครื่องจักรฉุกเฉินที่สำคัญอื่น ๆ

    21. ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้นกลเรือต้องรักษาการสื่อสารที่เหมาะสมกับนายเรือเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากนายเรืออาจต้องติดต่อกับหน่วยงานท้องถิ่นและสำนักงานบนฝั่ง

    22. ต้องร่วมมือกับนายประจำเรือทั้งหมดทั้งฝ่ายเดินเรือและช่างกลเรือเพื่อให้สถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ภายใต้การควบคุมในเวลาที่เร็วที่สุด

    23. เก็บรักษาอุปกรณ์ คู่มือ และคำแนะนำต่าง ๆ ทางด้านช่างทั้งหมด รวมไปถึงแบบร่างพิมพ์เขียวไว้ให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยและพร้อมใช้งาน

    24. ทำรายงานเสนอนายเรือเป็นประจำตามกำหนด และเอาใจใส่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการสิ้นเปลืองและจำนวนคงเหลือในเรือของน้ำมันเชื้อเพลิง, น้ำมันหล่อลื่น, น้ำจืด และชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ

    25.ต้องแน่ใจว่ารายการทั้งหมดเกี่ยวกับการตรวจสอบของสถาบันจัดชั้นเรือ หรือของหน่วยงานของทางการอื่น ๆ จะต้องได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย พร้อมที่จะได้รับการตรวจสอบ ถ้ามีการตรวจพบข้อบกพร่องที่สำคัญ ต้นกลเรือจะต้องดำเนินการรายงานให้บริษัทฯ ได้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไข

    26. ต้นกลเรือต้องเตรียมบัญชีรายการซ่อมทำใหญ่ระหว่างเรือเข้าอู่ โดยจัดส่งให้บริษัทฯ เพื่อวางแผนในการดำเนินงาน รวมถึงงานซ่อมทำของคนประจำเรือ

    27. ต้นกลต้องกำกับดูแลการฝึกอบรม และมีการประเมินผลสำหรับคนประจำเรือแผนกช่างกล และทำรายงานส่งผลการฝึก การประเมินผลให้แก่นายเรือและบริษัทฯ ต่อไป

    28. สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ต้นกลเรือควรรักษาความประพฤติที่เหมาะสมกับลูกเรือของเขา และจัดการกับข้อสงสัยและข้อกำหนดของพวกเขาอย่างสุดความสามารถ

     

    คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะเป็นต้นกลเรือ

    ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นต้นกลเรือได้ ต้องมีดังต่อไปนี้ครับ

    1. ถือประกาศณียบัตรถูกต้องตามขนาดและประเภทของเรือตามที่กรมเจ้าท่ากำหนด

    2. มี sea service อย่างน้อย 24 เดือนในตำแหน่งรองต้นกล

    3. ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ตาม STCW กำหนด

    4. มีความสามารถรอบด้านเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ ของบนเรือ โดยเน้นในเรื่องระบบเครื่องจักรและระบบเทคนิคทั้งหมด

    5. มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดและเอกสารเกี่ยวกับความรู้ความสามารถจากรัฐเจ้าของธง

    6. พูดภาษาอังกฤษได้คล่อง ถ้าอยากไปอยู่ทำงานบนเรือที่มีต่างชาติและเงินเดือนสูง

    เป็นไงบ้างครับ อ่านแล้วเป็นอาชีพที่น่าสนใจอาชีพหนึ่งเลยทีเดียวนะครับ หนทางพันลี้เริ่มต้นที่ก้าวแรกครับ เริ่มต้นก่อนแล้วไม่หยุดเดินก็ไปถึงที่หมายก่อน

    ผมรอดูความสำเร็จของนักล่าฝันทุกท่านในแผนกช่างกลเรืออยู่นะครับ

    แล้วผมกันใหม่ใน Seamoor blog ฉบับหน้าในอาชีพในฝ่ายช่างกลเรือต่อไปครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: ตุลาคม ค.ศ. 2022

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *