‘กุ๊ก’ บุคคลเบื้องหลังความขยันขันแข็งของคนประจำเรือ

Picture of Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับ แฟนคลับ Seamoor Blog ที่รักทุกท่าน

    มีคำเปรียบเปรยว่า กองทัพต้องเดินด้วยท้อง นั่นก็แปลว่าการทำงานบนเรือก็ต้องเดินด้วยอาหารอร่อย ๆ และถูกหลักโภชนาการเช่นกัน ความสุขจากการได้ทานอาหารดี ๆ มักจะทำให้คนประจำเรืออารมณ์ดีขึ้น นี่เป็นความจริงชั่วนิรันดร์ครับ

    อาหารการกินบนเรือบรรทุกสินค้า (ไม่นับบนเรือสำราญใหญ่ ๆ) ในแต่ละมื้อจะมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าเลยครับว่าจะออกเป็นเมนูอะไร เพราะต้องมีการสั่งเสบียงทั้งของสดของแห้ง ตอนเรือเข้าเมืองท่า เตรียมไว้ในการประกอบอาหารเมนูนั้น ๆ บนเรือ จะมาต่างคนต่างสั่ง อยากทานในแบบของตัวเองไม่ได้ เพราะจะยุ่งยากในการจัดเตรียมวัตถุดิบเป็นอย่างมาก และผู้ที่อยู่เบื้องหลังการกินอิ่ม นอนอุ่นของบรรดาคนประจำเรือก็คือ ‘กุ๊ก’ (Ship’s Cook) นั่นเองครับ
     

    เล่าเรื่องกุ๊กที่ผมเคยเจอ

    สมัยผมลงเรือเป็นนักเรียนฝึกช่วงแรก ๆ ของการเป็นคนประจำเรือก็รู้จักกับกุ๊กหลายคน (ขออนุญาตเรียกตำแหน่งนี้ว่ากุ๊กละกันนะครับ) สมัยก่อนการจะลงไปทำงานเป็นกุ๊กบนเรือก็ไม่มีเรื่องอะไรวุ่นวายมาก แค่มี Passport และ Seaman Book ก็สามารถลงเรือได้แล้ว หลาย ๆ บริษัทฯ ก็ไปจีบพ่อครัวตามร้านขายอาหารตามสั่งไปลงเรือกันเยอะแยะ ลำไหนเจอกุ๊กดี ๆ นี่สวรรค์เลยนะครับ ได้กินอาหารอร่อย ๆ ยิ้มแป้นกันทั้งลำ แต่ถ้าซวยไปเจอกุ๊กแบบไม่เอาอ่าว ทำอาหารออกมาแบบลูกเรือยังงง ตกลงนี่มันผัดหรือต้มกันแน่ เพราะดูทั้งแฉะทั้งเปียก ก็เป็นเวรเป็นกรรม ต้องทนกิน ๆ กันไปจนกว่าจะมีกุ๊กใหม่ลงไปเปลี่ยนคนเดิม

    ผมเคยเจอกุ๊กคนหนึ่ง แกตั้งใจมากในการทำอาหารแต่ละมื้อ อย่างเมนูข้าวผัดสับปะรด แกลงทุนคว้านสับปะรดเอาเนื้อออกและผัดข้าวลงไปใส่ในลูกสับปะรด ก่อนจะยกมาเสิร์ฟ คือถ้ามีลูกเรือสัก 30 คน แกก็ต้องคว้านสับปะรดถึง 30 ลูกในอาหาร 1 มื้อ ยังประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อก่อนคนประจำเรือจะพูดกันขำ ๆ ว่า ถ้าอยากได้กุ๊กทำกับข้าวเก่ง ๆ ต้องหากุ๊กขี้เมาหน่อย เพราะจะทำกับแกล้มอร่อย 555 … ก็รวมถึงกับข้าวด้วยครับ

    จริง ๆ อาชีพกุ๊กบนเรืออเป็นอาชีพที่มีความต้องการในอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีเป็นอย่างมากเลยครับ คือเรือทุกลำขาดตำแหน่งนี้ไม่ได้ และรายได้ก็ดีพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเรือสินค้าขนาดใหญ่หรือเรือสำราญ
     

    คุณสมบัติเบื้องต้นของกุ๊กประจำเรือ

    ปัจจุบัน การจะลงไปทำงานเป็นกุ๊กบนเรือที่จดทะเบียนวิ่งระหว่างประเทศ เราจะไปหาพ่อครัวขายอาหารตามสั่งหน้าปากซอยให้ไปลงเรือเลยไม่ได้แล้ว เพราะตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ว่า กุ๊กหรือคนครัวบนเรือต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ จากหน่วยงานที่ได้รับการรับรอง เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือสถาบันอื่น ๆ ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงาน

    ผู้ที่เข้ารับการฝึกจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นอุปสรรคต่อการฝึกอบรม จบการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) หรือเทียบเท่า หรือมีประสบการณ์การทำงานบนเรือเดินทะเลไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยมีระยะเวลาการฝึกทั้งหมด42 ชั่วโมง เป็นหลักสูตรฝึกอบรมที่มีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยมีเนื้อหาที่ต้องเรียนดังนี้

    • ความรู้พื้นฐานของคนครัวบนเรือ
    • ความปลอดภัยและสุขภาพในการปฏิบัติงาน
    • สุขลักษณะส่วนบุคคลและอาหาร
    • ทักษะการประกอบอาหาร
    • การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ
    • การจัดการและการควบคุมดูแลครัว
    • การจัดการของเสียในครัว
    • มุมมองด้านศาสนาและวัฒนธรรม

     

    หลักสูตรการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ นอกจะช่วยให้กุ๊กบนเรือทํางานถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยังมีส่วนสําคัญในการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ เสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีในการปฏิบัติงานบนเรือเดินทะเล และใช้อุปกรณ์เครื่องมือในการปฏิบัติงานและบํารุงรักษาได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ และท้ายที่สุดก็จะมีส่วนสําคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจการเดินเรือของไทยและเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วยครับ

    เงินเดือนของกุ๊กบนเรือบรรทุกสินค้าที่วิ่งระหว่างประเทศก็จะได้รับประมาณเดือนละ 28,000-34,000 บาท รายได้อาจจะดูไม่มากเท่าเรือสำราญ แต่หากเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างบนเรือกับตอนทำงานบนบกในประเทศนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง จึงทำให้มีเงินเก็บมากกว่าทำงานในร้านอาหารบนบกครับ

    ผู้ที่จะลงไปทำงานบนเรือเป็นกุ๊กได้ต้องมี Certificate of Proficiency (COP) ที่ออกโดยกรมเจ้าท่าครับ โดยกุ๊กต้องมีคุณสมบัติดังนี้

    1. ผ่านการอบรม 4 หลักสูตรพื้นฐานความปลอดภัย และได้รับ COP จากกรมเจ้าท่า

    1.1 Personal Survival Techniques
    1.2 Personal Safety & Social Responsibility
    1.3 Fire Fighting & Fire Prevention
    1.4 Elementary First Aid

    2. ผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย (Security Awareness, SA)และได้รับ COP จากกรมเจ้าท่า

    3. ประกาศนียบัตรสุขภาพ (คร.5) ที่ยังไม่หมดอายุ

    4. ผ่านการอบรมหลักสูตรการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

    5. มีระยะเวลาปฏิบัติงานในทะเลในเรือเดินทะเลขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 6 เดือนในช่วงระยะเวลา 5 ปีก่อนหน้าวันยื่นคําร้องต่อกรมเจ้าท่า

     

    หน้าที่และความรับผิดชอบของกุ๊ก

    เมื่อไปลงเรือแล้ว กุ๊กจะมีหน้าที่ที่ต้องทำบนเรือดังต่อไปนี้ครับ

    1. เตรียมจัดทำรายการเสบียงอาหารแล้วส่งมอบให้แก่ต้นเรือ เพื่อเตรียมสั่งผ่านทางบริษัทตัวแทนจัดหาบนบกเมื่อเรือเดินทางเข้าเมืองท่า

    2. เตรียมอาหารแต่ละมื้อและถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยติดรายการอาหารประจำวันแสดงแก่คนประจำเรือ

    3. ควบคุมและใช้วัสดุประกอบอาหารกับเสบียงที่จ่ายมาด้วยวิธีการที่เหมาะสม และเป็นไปอย่างประหยัด

    4. รักษาความสะอาดภายในห้องครัว ห้องเก็บเสบียง และห้องเย็นแช่แข็งให้ได้มาตรฐานสูงสุด และป้องกันการแพร่กระจายของแมลงสาบและหนูอย่างสม่ำเสมอ

    5. รักษาสุขอนามัยภายในบริเวณต่าง ๆ ที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบให้อยู่ในสภาพที่ดีต่อสุขภาพของคนประจาเรือ

    6. ให้ระมัดระวังอันตรายจากการใช้เตาไฟฟ้า หรือเตาแก๊ส หลังจากที่ได้ประกอบอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรจะตรวจเช็กและสับสวิตช์ไฟออกหรือปิดลิ้นนิรภัยสาหรับถังก๊าซหุงต้ม

    7. ศึกษาและทำความรู้จักคุ้นเคยกับหน้าที่ของตนเมื่อจะมีการประจำสถานีเหตุฉุกเฉิน

    ตำแหน่งกุ๊กบนเรือโดยเฉพาะกุ๊กคนไทยทักษะฝีมือด้านอาหารไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่ต้องปรับตัวคือเรื่องของภาษาครับ เพราะบางทีต้องไปลงเรือที่มีต่างชาติเยอะ ๆ ก็ต้องสื่อสารกับคนอื่นให้ได้ และบางที่ต้องสั่งเสบียงที่เมืองท่าต่างประเทศ ก็ต้องทราบคำศัพท์ต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ ไม่งั้นอาจสั่งอย่าง ได้อีกอย่างก็เป็นได้

    เป็นยังไงครับ อ่านกันแล้ว พอมองภาพกันออกไหมครับว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ถึงจะไปทำงานเป็นกุ๊กบนเรือกับเขาได้ ลักษณะการทำงานของกุ๊กก็ไม่ต้องออกไปตากแดดตากฝนเหมือนคนอื่น เพราะอยู่แต่ในห้องครัว อาจต้องตื่นเช้าหน่อย เพราะต้องมาเตรียมอาหารเช้าให้ทัน พอหลัง 6 โมงเย็นก็หมดหน้าที่ พักผ่อนตามอัธยาศัยได้เลย

    นับเป็นอาชีพที่น่าสนใจอีกอาชีพหนึ่งเลยทีเดียว ถ้าสนใจก็สามารถติดต่อที่ Seamoor ได้เลยครับ เพราะเขาก็มีบริษัทที่ดูแลการส่งคนไปทำงานบนเรือเช่นกัน

    แล้วพบกันใหม่ใน Seamoor Blog เดือนหน้านะครับผมจะพาพวกเราไปดูอาชีพฝั่งของช่างกลเรือบ้าง ว่าเขาทำหน้าที่อะไรกัน แล้วเจอกันครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: กันยายน ค.ศ. 2022