ออยเลอร์ (Oiler) สุภาพบุรุษช่างกลเรือผู้เข้มแข็ง

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Oiler
Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor Blog ทุกท่าน

    ผมพาทุกท่านไปทำความรู้จักตำแหน่งงานต่าง ๆ บนเรือบรรทุกสินค้ามาจนเกือบจะครบแล้ว เหลืออีกไม่กี่ตำแหน่งเท่านั้น ก็เท่ากับว่าทุกท่านจะได้รู้จักงานบนเรือกันจนหมดเปลือก หลายท่านที่ไม่ได้เป็นคนประจำเรือแล้วอยากจะไปทำงานเป็นคนประจำเรือแต่ยังตัดสินใจไม่ถูกว่า อยากไปทำงานแบบไหนดี ก็จะได้มีแนวทางประกอบการตัดสินใจและพัฒนาตัวเองให้เหมาะสมกับตำแหน่งนั้น ๆ ต่อไป

    ในบทความนี้ ผมจะพาพวกเราไปทำความรู้จักกับตำแหน่ง ‘ช่างน้ำมัน’ หรือ ‘Oiler’ กันครับ
     

    ที่มาของตำแหน่งออยเลอร์

    การเดินเรือในสมัยก่อนที่ยังใช้ลมเป็นพลังงานในการเดินเรือ เช่น เรือสำเภา คนประจำเรือฝ่ายช่างกลเรือยังไม่มีนะครับ พอมีการพัฒนาใช้เครื่องยนต์บนเรือเดินทะเลสำหรับการขับเคลื่อนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 แผนกช่างกลเรือบนเรือพาณิชย์จึงถือว่ามีความสำคัญพอ ๆ กับแผนกปากเรือ พอมีการใช้เครื่องจักรก็ต้องมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง แล้วเทคโนโลยีสมัยก่อนก็ยังแบบบ้าน ๆ น้ำมันจะหมดก็ต้องมีคนเติม เลยต้องมีการมอบหมายให้คนประจำเรือหนึ่งคนรับผิดชอบหน้าที่ตรงนี้ไป ทีนี้น้ำมันในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Oil คนที่ต้องคอยเติมน้ำมันบนเรือก็เลยถูกเรียกว่า Oiler (ออยเลอร์) นั่นเองครับ

    ปัจจุบันตำแหน่งออยเลอร์ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญ และถูกระบุไว้ใน Minimum Safe Manning Certificate ของเรือแต่ละลำ ผู้ที่จะลงไปทำงานในตำแหน่งนี้ได้จะต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ตามที่ STCW กำหนด เพราะถึงแม้จะไม่ได้ถูกมอบหมายหน้าที่หลักในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เรือแล้ว ก็ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบให้แน่ใจว่าเครื่องจักรใหญ่และเครื่องจักรช่วยต่าง ๆ มีน้ำมันหล่อลื่นอย่างเพียงพอ ตลอดจนทำงานที่ได้รับมอบหมายจากนายยามฝ่ายช่างกลเรือ เช่น ทำความสะอาดในห้องเครื่อง ล้างถังน้ำมัน เป็นต้น

    สมัยผมเป็นกัปตันเรือ โดยปกติจะมีออยเลอร์ 3 คนทำงานบนเรือ เข้ายามคู่กับนายยามฝ่ายช่างกลเรือตลอดเวลาที่เรือเดินทาง โดยจะเข้ายามคนละ 8 ช.ม. ต่อวัน แต่พอเวลาผ่านไปที่เริ่มมีระบบ UMS หรือ Unattended Machinery Spaces ที่เป็นระบบอัตโนมัติบนเรือสำหรับฝ่ายช่างกลเรือ ซึ่งแตกต่างจากระบบการเข้ายามเรือเดินบนเรือบรรทุกสินค้าทั่วไปคือพอหลัง 1700 จนถึง 0700 ของอีกวัน ฝ่ายช่างกลเรือก็จะโอนระบบต่าง ๆ ในห้องเครื่องไปที่สะพานเดินเรือ และจะไม่มีคนเข้ายามอยู่ในห้องเครื่อง พอมีปัญหาอะไรในห้องเครื่องก็จะมีสัญญาณเตือนไปดังที่บนสะพานเดินเรือ นายประจำเรือฝ่ายช่างกลเรือก็จะถูกโทรเรียกให้ลงไปแก้ไขปัญหาเป็นครั้งคราวไป ทำให้เรือบางลำก็จะมีออยเลอร์ แค่ 2 คน แต่ผมจำได้ว่าช่วงที่เราเปลี่ยนมาใช้ระบบ UMS ใหม่ ๆ ก็ไม่ค่อยกล้าทิ้งห้องเครื่องในเวลากลางคืนโดยไม่มีคนเฝ้า ผมจะกำหนดให้มีออยเลอร์ 1 คนไปนอน Stand by อยู่ในห้อง ECR อยู่เสมอ ๆ ถ้าเรือลำนั้นใช้ระบบ UMS
     

    หน้าที่และความรับผิดชอบของออยเลอร์

    ออยเลอร์มีหน้าที่รับผิดชอบดังต่อไปนี้ครับ

    1. เข้ายามในห้องเครื่องระหว่างเรือเดินและเรือจอดเทียบท่า โดยปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายยามฝ่ายช่างกลตามที่ได้รับมอบหมาย

    2. ทำความรู้จักคุ้นเคยกับเครื่องจักรใหญ่และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ และคอยช่วยเหลือนายช่างกลผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานซ่อมบำรุงรักษา

    3. ปฏิบัติหน้าที่ เช่น งานบำรุงรักษาหรืองานทำความสะอาดตามที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล หรือรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา

    4. ศึกษาและทำความรู้จักคุ้นเคยกับหน้าที่ของตนเมื่อมีการประจำสถานีเหตุฉุกเฉิน

     

    คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะเป็นออยเลอร์

    ประกาศนียบัตรตาม STCW ที่คนประจำเรือในตำแหน่งออยเลอร์ต้องมีคือประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญลูกเรือชำนาญงานฝ่ายช่างกล (Rating as able seafarer engine) หรือ ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญลูกเรือเข้ายามฝ่ายช่างกล (Rating forming part of engineering watch)

    เงินเดือนของออยเลอร์ ถ้าดูจาก ITF ILO Minimum Wage Scale ที่ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2023 ก็จะอยู่ที่ 1,156.00 USD หรือประมาณ 39,000 บาท ถือว่าน่าสนใจเลยทีเดียว

    แต่ทุกวันนี้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระบบอัตโนมัติบนเรือเดินทะเลและการเพิ่มขึ้นของระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ (UMS) บนเรือ จำนวนคนประจำเรือฝ่ายช่างกลเรือบนเรือเดินทะเลจึงลดลงอย่างมากบนเรือพาณิชย์ แต่นั่นก็เป็นเรือสมัยใหม่ที่วิ่งระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่บนเรือที่ชักธงไทยที่ยังใช้การเข้ายามในห้องเครื่องตลอด 24 ช.ม. ที่เดินเรือในทะเล ตำแหน่งออยเลอร์ยังเป็นตำแหน่งที่มีความต้องการบนเรือเป็นอย่างมากครับ และที่สำคัญคุณสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเป็นออยเลอร์พัฒนาตัวเองขึ้นไปเป็นนายประจำเรือฝ่ายช่างกลเรือได้ในอนาคต

    เป็นกำลังในให้นักล่าฝันทุกท่านนะครับ แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้าครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: มีนาคม ค.ศ. 2023

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *