ไวเปอร์ดี ๆ ทูเดย์ will be ออยเลอร์ดี ๆ ในวันหน้า

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor blog ทุกท่าน

    นับตั้งแต่เดือน ก.พ.2022 ที่ผมเริ่มต้นเขียนซีรีส์ยาวเกี่ยวกับอาชีพคนประจำเรือในตำแหน่งต่าง ๆ ให้ทุกท่านได้รู้จัก โดยเริ่มจากตำแหน่งกัปตันเรือมาจนถึงบทความนี้ นี่น่าจะเป็นเรื่องราวตำแหน่งสุดท้ายของอาชีพคนประจำเรือที่จะคุยให้พวกเราฟังแล้วล่ะครับ

    จริง ๆ แล้ว ตำแหน่งต่าง ๆ บนเรือ ยังมีอีกมากมายตามแต่ประเภทของเรือ เช่น บนเรือบรรทุกน้ำมันก็จะมี Pumpman หรือบนเรือบางลำอาจจะมี Electrician หรือช่างไฟฟ้า หรือบนเรือโดยสารลำใหญ่ ๆ จะมีตำแหน่ง Donkeyman ซึ่งเป็นคนที่คอยดูแลบำรุงรักษาพวกเครื่องกว้าน เครื่องสูบน้ำ และ Firemen’s Caterer ที่คอยดูแลเรื่องระบบดับเพลิงบนเรือทั้งหมด แต่ถ้าจะเอามาเล่าทั้งหมด พวกเราอาจเบื่อกันซะก่อน เอาเป็นว่า เอาแค่ตำแหน่งหลัก ๆ บนเรือบรรทุกสินค้าทั่วไปก็น่าจะพอทำให้ทุกท่านมองภาพการทำงานบนเรือได้ชัดเจนยิ่งขึ้นแล้วล่ะครับ

    ตำแหน่งสุดท้ายที่จะเล่าให้ฟังก็คือ ไวเปอร์ (Wiper) ซึ่งเป็นตำแหน่งต่ำสุดในแผนกช่างกลเรือนั่นเอง ‘wipe’ เป็นคำภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยคือ เช็ด ถู เรือบางลำมาแปลตำแหน่งนี้ว่า ‘ช่างเช็ด’ ผมว่าฟังแล้วดูแปลก ๆ ชอบกล ประมาณว่าทำอะไรหกเปื้อนในเรือก็ต้องเรียกเจ้าหมอนี้มาจัดการประมาณนั้น ทำให้ผมไม่ชอบเรียกพวกเขาว่าช่างเช็ด และเรียกว่าไวเปอร์ตลอดมา

    ไวเปอร์เป็นตำแหน่งที่รับผิดชอบทั้งการทำความสะอาดพื้นที่ห้องเครื่องและเครื่องจักรต่าง ๆ ของเรือ ช่วยเหลือนายประจำเรือฝ่ายช่างกลเรือตามคำสั่ง และอยู่ภายใต้การดูแลของนายประจำเรือฝ่ายช่างกลเรืออย่างใกล้ชิด เรื่องน่ารู้อีกเรื่องคือ พนักงานที่ทำหน้าที่บนรถไฟที่ต้องเช็ดถูโน่นนี่นั่น เราก็เรียกเขาเหล่านัั้นว่าไวเปอร์เช่นกันครับ

    การทำงานในตำแหน่งไวเปอร์ต้องเก็บเกี่ยวระยะเวลาการทำงานบนเรือหรือ Sea Service ให้ครบตามที่ STCW กำหนดเพื่อไปอบรมและสอบขอรับประกาศนียบัตรเลื่อนเป็นออยเลอร์ (Oiler) ต่อไปในอนาคตครับ
     

    หน้าที่และความรับผิดชอบของไวเปอร์

    หน้าที่ของไวเปอร์โดยทั่วไปก็จะทำงาน Daywork หรืองานประจำวัน โดยไม่สามารถเข้ายามเรือเดินในห้องเครื่องพร้อมกับนายประจำเรือฝ่ายช่างกลเรือได้ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ได้รับมอบหมายง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน หรือใช้ความรู้ทางวิศวกรรมไม่มากนัก เช่น การทำความสะอาดและขจัดคราบน้ำมันของอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในห้องเครื่อง การอัดจารบีของอุปกรณ์ต่าง ๆ การเคาะสนิม ทาสีพื้นที่ในห้องเครื่อง เป็นต้น แต่ถึงแม้จะเป็นตำแหน่งที่ต่ำที่สุดในฝ่ายห้องเครื่อง แต่ไวเปอร์ก็ต้องรู้จักเรือและมีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ บนเรือ โดยอาจสรุปหน้าที่เป็นข้อ ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้ครับ

    1. รับผิดชอบงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหรือรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา เช่น งานบำรุงรักษาหรืองานทำความสะอาดภายในห้องเครื่อง

    2. ทำความรู้จักคุ้นเคยกับเครื่องจักรกลและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ และคอยช่วยเหลือนายช่างกลเรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานซ่อมบำรุงรักษาตามที่ได้รับมอบหมาย

    3. ศึกษาและทำความรู้จักคุ้นเคยกับหน้าที่ของตนเมื่อมีการประจำสถานีในสถานการณ์ฉุกเฉิน

    ช่วงที่ผมทำงานเป็นกัปตันเรือ ตำแหน่งไวเปอร์มักจะเป็นคนที่จบมาจากโรงเรียนเดินเรือต่าง ๆ ในระดับลูกเรือฝ่ายช่างกลเรือ พอมาลงเรือครั้งแรกก็ต้องลงทำงานในตำแหน่งนี้แหละครับ บางคนอายุยังน้อยอยู่เลย เพราะโรงเรียนพวกนั้นส่วนใหญ่รับคนจบจาก ม.6 มาเรียนต่ออีก 1 ปี จากนั้นก็ส่งลงเรือ บางคนอายุเพิ่งจะพ้น 18 ปีมาหยก ๆ พอมาเจองานหนักบนเรือ เจอคลื่นลมจนเมาคลื่น ก็มีท้อแท้กันไป ได้ไปเรือเที่ยวเดียวบางคนจะลาออก ไม่อยู่แล้วเรือ จนผมต้องมานั่งให้กำลังใจให้สู้ต่อไป คนที่คิดได้แล้วสู้ต่อ ปัจจุบันก็เห็นเป็นต้นกลกันไปหลายคน ด้วยเป็นตำแหน่งที่อายุยังกำลังหนุ่มรุ่น ๆ และเริ่มจีบหญิง ตำแหน่งไวเปอร์จึงเป็นบททดสอบสำคัญของการจะไปต่อหรือพอแค่นี้เลยทีเดียว อาการเหนื่อยหน่าย คิดถึงแฟน ผสมกับความวิตกกังวลและความเครียดที่เพิ่มขึ้นจากการไม่เคยทำงานเรือ ทำให้ไวเปอร์หลายคนยอมโบกธงขาวไปซะก่อน ดังนั้น ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้ ผมเป็นกำลังใจให้ครับ
     

    คุณสมบัติเบื้องต้นของไวเปอร์

    ถึงแม้จะเป็นตำแหน่งขั้นต้นในการลงไปทำงานบนเรือในฝ่ายช่างกลเรือก็จำเป็นต้องมีเอกสารและคุณสมบัติตามที่ STCW กำหนดให้ครบครับ เช่น

    1. มีอายุอย่างน้อย 18 ปี

    2. ผ่านการประเมินทางการแพทย์และมีประกาศนียบัตรสุขภาพ

    3. ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร STCW Basic Safety Training จำนวน 5 หลักสูตรดังต่อไปนี้

    3.1 Personal Survival Techniques (A-VI/1-1)
    3.2 Fire Fighting and Fire Prevention (A-VI/1-2)
    3.3 Elementary First Aid (A-VI/1-3)
    3.4 Personal Safety and Social Responsibility (A-VI/1-4)
    3.5 Proficiency in Security Awareness (A-VI/6-1)

    4. หลังจากอบรมทุกครบวิชาแล้วก็ไปที่กรมเจ้าท่าเพื่อให้เขาออกประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ (Certificate of Proficiency-CoP) ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกให้แก่คนประจำเรือเพื่อรับรองว่าผู้ถือมีคุณสมบัติเกี่ยวกับการฝึกอบรม ความรู้ความสามารถ หรือการปฏิบัติงานในทะเลตามที่ STCW กำหนดไว้

    5. ถ้าสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ก็ยิ่งจะทำให้งานไวเปอร์ที่ทำมีเสน่ห์มากขึ้นเลยทีเดียว

     

    ค่าจ้างของไวเปอร์

    เงินเดือนของไวเปอร์ตาม ITF ILO Minimum Wage Scale ที่บังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2023 ที่ผ่านมาก็อยู่ที่ 860 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 28,000 บาท ก็ถือว่าไม่เลวทีเดียวกับการเริ่มต้นชีวิตเป็นคนประจำเรือครับ แต่นั่นคือบนเรือใหญ่ ๆ ที่วิ่งระหว่างประเทศนะครับ

    น่าจะมาถึงบทสุดท้ายของบทความอาชีพคนประจำเรือตำแหน่งต่าง ๆ แล้วครับ ใครสนใจในตำแหน่งไหนเพิ่มเติมก็ลองกลับไปอ่าน Seamoor Blog ก่อนหน้าได้นะครับ

    ผมว่าซีรีส์นี้น่าจะเป็นการเล่าเรื่องราวในตำแหน่งต่าง ๆ ของคนประจำเรือที่ครบถ้วนและสมบูรณ์มากที่สุดแล้วในประเทศนี้ ช่วงนี้อากาศร้อนระวังโรคฮีตสโตรก (Heat Stroke) กันหน่อยนะครับ

    แล้วเจอกันใหม่ใน Seamoor blog ในตอนหน้า ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรก็ต้องตามอ่านกันครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: เมษายน ค.ศ. 2023

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *