ทำไมผู้คนสนใจยึดอาชีพคนประจำเรือ?

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

why-become-seafarer
Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    มีหลายคนถามผมว่า ทำไมถึงเลือกไปทำงานเป็นคนประจำเรือ?

    สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่ศูนย์ฝึกพาณิชยนาวี ผมก็ไม่ทราบหรอกครับว่าด้วยเหตุผลอะไร รู้แต่ว่า ได้มีที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนคล้าย ๆ โรงเรียนทหารที่ผมชอบ แถมได้แต่แต่งเครื่องแบบเท่ ๆ และจบมามีงานทำเลย

    ตอนนั้นผมคิดแบบนั้นจริง ๆ ครับ จนเรียนจบมา แล้วได้ลงไปทำงานบนเรือบรรทุกสินค้าสักระยะหนึ่งนั่นแหละ ผมถึงได้เริ่มหลงรักและผูกพันกับงานนี้ จนยึดมันเป็นอาชีพต่อมาอีกเกือบ 20 ปี

    เหตุผลที่หลายคนเลือกไปทำงานเป็นคนประจำเรือก็มีด้วยกันหลายประการ สำหรับบางคนอาจมีความรู้สึกของการได้ผจญภัย เป็นเรื่องท้าทายของชีวิต ได้ออกไปเผชิญโลก ในขณะที่บางคนต้องการรายได้ที่ดี บางคนเบื่องานที่วุ่นวายบนบกที่ต้องเจอสภาพรถติด สภาพมลภาวะโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ และบางคนก็ไม่อยากอยู่บ้าน

    ในความเป็นจริง งานคนประจำเรือจำต้องจากครอบครัวไปเป็นเวลานาน แล้วอะไรคือเหตุผลหลัก ๆ ที่น่าสนใจ จนดึงดูดให้ยังมีคนเลือกอาชีพคนประจำเรือ

    ในสมัยโบราณ มีคนจำนวนมากที่หนีไปทำงานบนเรือกลางทะเล เพราะต้องการหนีปัญหาของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นหนี้ อาชญากรรม หรือผู้หญิง มีบ้างบางคนที่อาจหลงไหลในความลึกลับของท้องทะเลและชอบชีวิตอิสระเสรีแบบกัปตันแจ็ก สแปร์โรว์ ในหนังดัง Pirates of the Caribbean และสำหรับหลาย ๆ คนแล้ว ทะเลหมายถึง อิสรภาพจากการกดขี่ และโอกาสที่จะสร้างความร่ำรวยที่มีมากกว่างานบนบก ซึ่งในสมัยก่อน มันเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการทำงานในโรงงานที่สกปรกหรืองานเกษตรกรรมที่ดูยากลำบากกว่าจริง ๆ

    แต่ทุกวันนี้ นักเดินเรือหน้าใหม่ส่วนใหญ่ พวกเขาใช้เวลาเรียนเพียงช่วงสั้น ๆ ที่โรงเรียน ก่อนจะถูกส่งไปทำงานบนเรือให้ได้สัมผัสดูว่าชีวิตในทะเลนั้นเป็นไปอย่างที่คิดหรือไม่ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจว่าจะไปต่อดีหรือเปล่า

    ในบางประเทศ มีนักเรียนหลายคนที่จบในสาขาวิชาที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเดินเรือจากมหาวิทยาลัยเลือกที่จะไปลองทำงานในทะเล มีบ้างบางคนที่ทำงานแล้วก็ลาออกจากงานเพื่อที่จะได้ไปทำงานบนเรือบรรทุกสินค้า

    แต่เมื่อไปเจอสภาพการทำงานบนเรือจริง ๆ กลับพบว่ามีอัตราค่อนข้างสูงเลยทีเดียวที่ยอมแพ้ไป ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีอีกหลาย ๆ คนเลือกมุ่งมั่นเดินตามความฝันและเป้าหมายให้สำเร็จ นั่นคือการได้เริ่มต้นทำงานในทะเล

     

    Photo by Guy Kawasaki from Pexels

     

    10 เหตุผลที่ดึงดูดให้ผู้คนมุ่งสู่อาชีพคนประจำเรือ

    ทำไมผู้คนในยุคสมัยนี้ยังเลือกประกอบอาชีพคนประจำเรือ? มีเหตุผลอะไรแตกต่างไปจากเมื่อวันวานหรือไม่? และพวกเขาชอบสิ่งที่พวกเขาต้องเจอเมื่อลงไปทำงานในเรือหรือไม่? ผมขอเล่าผ่านเหตุผล 10 ประการดังนี้ครับ

    1. รายได้ดี – โดยปกติแล้วค่าจ้างคนประจำเรือมักจะสูงกว่าอาชีพที่คล้าย ๆ กันบนฝั่ง จากข้อมูลในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ คนประจำเรือที่ทำงานบนเรือบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศอยู่ในกลุ่มที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุดในประเทศของตน มีโอกาสในการเก็บเงินตั้งตัว แม้ยังอายุน้อยก็สามารถเก็บเงินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะส่วนใหญ่จะได้รับการยกเว้นภาษี
    2. ได้ฝึกรับผิดชอบเรื่องสำคัญตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพ – คนประจำเรือส่วนใหญ่จะถูกมอบหมายให้มีความรับผิดชอบอย่างมากตัังแต่เริ่มต้นอาชีพ พวกเขาต้องดูแลความปลอดภัยของเรือ, สินค้า, ชีวิตของคนอื่น ๆ บนเรือ รวมถึงปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล และภายใน 10 ปี มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะมีคุณสมบัติครบและเพียงพอที่จะได้เป็นกัปตันหรือต้นกล ผู้ซึ่งสามารถดูแลและรับผิดชอบการปฏิบัติงานทั้งหมดบนเรือได้
    3. โอกาสในการเดินทาง – แม้ว่าเรือสมัยใหม่จะใช้เวลาน้อยลงในการอยู่ในเมืองท่า แต่อาชีพนี้ก็ยังคงทำให้มีโอกาสเดินทางไปทั่วโลกได้อยู่ดี สิ่งนี้ทำให้คนประจำเรือมีโอกาสได้สัมผัสกับสถานที่ที่น่าสนใจและแปลกหูแปลกตามากกว่าที่จะประจำอยู่เพียงแค่สถานที่ทำงานทั่วไป
    4. อนาคตที่ดี – คนประจำเรือจะถูกบังคับให้ต้องพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้นตามกฎระเบียบต่าง ๆ และตอบสนองกับทักษะที่จำเป็นสำหรับบริษัทเรือในการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดการขาดแคลนคนประจำเรือจำนวนมาก ดังนั้น ความต้องการคนดีมีความสามารถก็จะเพิ่มขึ้น
    5. เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก – คนประจำเรือได้ร่วมสร้างงานที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกับเรือที่ตัวเองทำงานอยู่เท่านั้น แต่ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในโลกด้วย เพราะจากข้อมูลขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ระบุว่าการขนส่งทางเรือมีส่วนสำคัญต่อขับเคลื่อนการค้าของโลกกว่าร้อยละ 90 จะเห็นได้ว่างานของคนประจำเรือเป็นงานปิดทองหลังพระ ซึ่งเป็นเหตุให้คนทั่ว ๆ ไปอาจจะมองไม่เห็นคุณค่าของการเป็นคนประจำเรือ
    6. ความยืดหยุ่นในการทำงานและความมั่นคงของอาชีพ – การขนส่งสินค้าอาจนับได้ว่าเป็นอาชีพในอุดมคติสำหรับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ๆ ที่กำลังมองหาสิ่งที่น่าตื่นเต้นและแตกต่างไปจากการทำงานในสำนักงานในที่เดิม ๆ ซึ่งในระยะยาวจะนำไปสู่การทำงานที่ไม่จำเจและได้รับค่าตอบแทนที่ดีในอุตสาหกรรมระหว่างประเทศที่มีสำคัญนี้
    7. การยอมรับในระดับสากล – คนประจำเรือต้องมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานสากล ซึ่งคนเหล่านั้นล้วนเป็นที่ต้องการของบริษัทเรือระหว่างประเทศ ซึ่งมีมากมายหลายพันแห่งอยู่ทั่วโลก ถ้าเลิกจากงานบนเรือ ก็สามารถขึ้นไปทำงานบนฝั่งกับบริษัทฯ เรือต่อได้
    8. มีวันหยุดยาว – ถ้าเป็นงานทั่ว ๆ ไป อย่างมากก็จะได้วันหยุดสูงสุด 2-3 สัปดาห์สำหรับการลาพักร้อน แต่คนประจำเรือมักเพลิดเพลินกับช่วงวันหยุดยาวเวลาพัก leave เพราะคนประจำเรือส่วนใหญ่ทำงานเป็นสัญญาจ้าง ดังนั้นในขณะที่คนประจำเรือต้องอยู่ห่างไกลบ้านเป็นระยะเวลานาน แต่พวกเขาก็จะได้พักยาว ๆ เมื่อกลับถึงบ้าน
    9. อาชีพเฉพาะทางทักษะสูง – เรือมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมือนใคร และผู้ที่ทำงานบนเรือมักจะพัฒนามิตรภาพที่ยั่งยืนกับเพื่อนร่วมงานและมีชีวิตที่เร้าใจ ซึ่งแตกต่างจากประสบการณ์ของคนจำนวนมากที่ทำงานบนฝั่ง และที่สำคัญมันเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถบวกด้วยประสบการณ์ที่คนทั่ว ๆ ไปทำไม่ได้ ต้องผ่านทั้งการฝึกอบรม, การสอบประกาศนียบัตรให้ตรงตามตำแหน่งงานที่จะทำหรือพูดได้ว่ามีตัวเลือกน้อยที่จะมาแย่งงานเราก็ว่าได้
    10. สายอาชีพเปิดกว้าง – คุณสมบัติและประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานในทะเลสามารถถ่ายโอนหรือไปปรับใช้กับอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่นนอกการขนส่งสินค้าทางทะเลได้อย่างง่ายดาย โอกาสในการทำงานขยายไปสู่งานการจัดการตามชายฝั่งอีกกว่าหลายพันตำแหน่งงาน ซึ่งต้องการผู้ที่มีประสบการณ์ในการเดินเรือ

     

    คุณสมบัติคนประจำเรือมืออาชีพ

    ถ้าผมถามคนประจำเรือว่ามีความสุขกับอาชีพการงานในทะเลหรือไม่? จากเหตุผล 10 ประการด้านบน ผมอาจจะเล่าแต่เรื่องดี ๆ เพื่อให้คนนึกอยากไปทำงานในทะเล แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอครับ มันมีอะไรมากกว่านั้นครับ ที่ส่งผลให้ความสุขของคนประจำเรือลดลง ไม่ว่าจะเป็น อาการเมาคลื่น, การไม่ได้รับโอกาสในการขึ้นบก โดยเฉพาะช่วงโควิด, ความเหนื่อยล้า, โจรสลัด และการละทิ้งคนประจำเรือ ซึ่งไม่ค่อยมีข่าวคราวพูดถึงอย่างชัดเจน

    ถึงแม้จะมีปัญหาเหล่านี้ หลายคนก็ยังอยากไปทำงานกลางทะเล ยิ่งถ้าพวกเราเกิดได้มีโอกาสไปดูงานบนเรือสำราญหรือเรือ Superyacht ที่ดูน่าเย้ายวนใจมาก ๆ ดึงให้เราอยากไปเป็นคนประจำเรือและเริ่มต้นอาชีพการงานในทะเล

    อย่างไรก็ตาม การเป็นคนประจำเรือที่ดี บางทีก็ไม่ง่าย ผมว่ามันต้องมีสิ่งที่ผมจะเล่าต่อจากนี้ในตัวเอง และต้องมีทักษะที่จำเป็น ซึ่งจะสนับสนุนให้คุณเป็นมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จในทะเล ทั้งได้รับการยอมรับในระดับสากล เอาล่ะครับ มาเริ่มกันเลย

    1. ความอยาก (อย่างที่สุด) – เป็นองค์ประกอบสำคัญในการประสบความสำเร็จในอาชีพคนประจำเรือ ความอยากเป็นสิ่งที่ทำให้คนเราทุ่มสุดตัวเพื่อให้ได้มาและมุ่งมั่นกับงาน เป็นแรงผลักดันในการเรียนรู้ และพัฒนาคุณลักษณะของคนประจำเรือที่ดีต่อไป
    2. ความกล้าหาญ – งานคนประจำเรือไม่ได้มีไว้สำหรับคนขี้อาย หดหู่ และหวาดกลัว นักเดินเรือต้องมีความกล้าหาญ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องก้าวออกจากความสบายทั้งหลายทั้งปวง
    3. การปรับตัว – คนประจำเรือต้องทำงานกับวัฒนธรรมที่หลากหลายของผู้คน ต้องเต็มใจเปิดรับและปรับตัวในการอยู่ร่วมกันเพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพ
    4. ดูแลรับผิดชอบตัวเอง – คนประจำเรือควรมีความเป็นอิสระและสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
    5. ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี – ข้อนี้สำคัญเลยครับ คนประจำเรือที่ดีต้องมีความสามารถในการเขียนและพูดภาษาอังกฤษได้ดี อย่างน้อยก็ตาม The Standard Marine Communication Phrases (SMCP) ซึ่งเป็นชุดของวลีสำคัญในภาษาอังกฤษ ซึ่งสนับสนุนโดยประชาคมระหว่างประเทศและพัฒนาโดย IMO โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนประจำเรือนำไปใช้ เป็นวลีที่ใช้ในการติดต่อและสื่อสารภายนอกเรือ เช่น การสื่อสารระหว่างเรือกับเรือ หรือจากเรือกับฝั่ง และเป็นวลีที่ใช้สื่อสารระหว่างคนประจำเรือบนเรือ
    6. ภาวะผู้นำ – เป็นคุณลักษณะที่มีค่าอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากคนประจำเรือต้องเป็นผู้นำและแก้ปัญหา และการทำงานภายใต้ความกดดันได้ดีก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน
    7. ทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ – นอกเหนือจากความเป็นผู้นำ คนประจำเรือจะต้องเป็นผู้เล่นที่ดีในทีม จิตวิญญาณแห่งการทำงานร่วมกันมีความสำคัญอย่างมากเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพบนเรือที่ประกอบด้วยเพื่อนร่วมงานที่มีความรับผิดชอบและตำแหน่งแตกต่างกัน
    8. ความภักดี – เป็นสิ่งที่คนประจำเรือควรให้ความสำคัญต่อบริษัท ต่อเพื่อนร่วมทีม ต่อเรือ และต่อตัวคนประจำเรือเอง

    การจะเป็นคนประจำเรือที่ดีมีองค์ประกอบอะไรอีกมากมาย มีความท้าทายที่รออยู่ จริง ๆ มันก็ต้องใช้ความพยายามพอสมควรกว่าจะได้ก้าวเข้ามาเป็นคนประจำเรือ ถึงแม้ว่าผมจะบอกคุณไปมากมายถึงข้อดีของการไปทำงานเป็นคนประจำเรือ บางคนอาจจะยังกังขาอยู่และไม่ค่อยเชื่อ แต่อย่างหนึ่งที่ผมจะบอกคุณได้คือ คุณจะได้ความภูมิใจในการเป็นคนประจำเรือ และไม่มีอะไรมาพรากมันไปได้จากตัวเรา อย่างเช่นผมในทุกวันนี้

     

    บทความโดย: Old captain never die
    อัปเดต: 21 กรกฎาคม ค.. 2021

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *