ผู้หญิงกับอาชีพนักเดินเรือ เป็นไปได้หรือไม่สำหรับในประเทศไทย

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับ แฟนคลับ Seamoor Blog ทุกท่าน

    มีสำนวนในภาษาไทยของเราที่พูดกันว่า ‘ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ’ เคยได้ยินกันไหมครับ ผู้ชายพายเรือยังพอเข้าใจได้นะ แต่ผู้หญิงยิงเรือนี่สิ มันคือยังไง? เมื่อก่อนผมนั่งนึกเล่น ๆ ว่าน่าจะมาจากการที่ผู้ชายไปทำให้ผู้หญิงโกรธ เลยต้องพายเรือหนี เพราะสมัยก่อนบ้านเราใช้การเดินทางตามแม่น้ำลำคลองกันเป็นหลัก ส่วนสาวเจ้า ด้วยความโกรธเลยไปคว้าปืนตามไปไล่ยิง แต่มาคิดอีกที มันจะดูเป็นมนต์รักลูกทุ่งมากไปหน่อย

    ผมเลยไปลองค้นหาความจริง เลยเจอกับบทความที่คุณครูลิลลี่เคยเล่าเกี่ยวกับที่มาที่ไปของสำนวนนี้ได้อย่างน่าสนใจ ได้ความตามนี้ครับ

    สํานวนผู้ชายพายเรือนี้ แต่ก่อนใช้กันว่า ‘ผู้ชายรายเหรื่อ’ ซึ่งคําว่า ‘เหรื่อ’ นี้ก็เป็นคําเดียวกับคําว่า ‘แขกเหรื่อ’ ที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีความหมายว่า คนแปลกหน้า ผู้ชายรายเหรื่อ จึงหมายถึง ผู้ชายแปลกหน้า เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่สอนลูกสาวว่า อย่าไปไว้ใจผู้ชายพายเรือ จึงไม่ได้หมายความว่าผู้ชายที่พายเรือมาหรือมาทางน้ำคบไม่ได้ แต่ท่านหมายถึง ผู้ชายแปลกหน้า

    ค่อยยังชั่วหน่อยครับ ที่สมัยก่อนผมเคยเป็นผู้ชายขับเรือ ไม่ใช่ผู้ชายพายเรือ!!

    ส่วนคําว่า ‘ผู้หญิงยิงเรือ’ ในอดีตเราไม่ได้พูดแบบนี้กันครับ แต่เราพูดว่า ‘ผู้หญิงริงเรือ’ ดังนั้น สํานวนที่ว่าผู้หญิงยิงเรือ จึงไม่เกี่ยวกับปืนผาหน้าไม้ หรือการยกปืนขึ้นจ่อยิงแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้หมายความถึง ผู้หญิงคอยดักยิงเรือของผู้ชายเลยครับ แต่พบว่าสํานวนนี้เป็นการเพี้ยนเสียงของคําว่า ‘ริง’ มาเป็น ‘ยิง’ ในปัจจุบันนั่นเอง

    งงกันสิครับ แล้วคำว่า ‘ริงเรือ’ หมายความว่าอย่างไร

    อย่าเพิ่งงงครับ เขาว่ากันว่า การที่หญิงชายแต่งงานกันหรือตกลงใช้ชีวิตร่วมกัน ก็เหมือนกับการลงเรือลําเดียวกัน สังเกตนะครับว่าเราใช้คําว่าเรืออีกแล้ว และเมื่อลงเรือลำเดียวกัน ทั้งหญิงและชายต่างก็ต้องมีหน้าที่ที่จะนําเรือชีวิตหรือเรือรักลำนี้ไปให้ถึงฝั่ง ผู้ชายซึ่งในสังคมโบราณถือเป็น ‘ช้างเท้าหน้า’ จึงต้องทําหน้าที่ ‘พายเรือ’ ส่วนผู้หญิง ซึ่งแต่โบราณก็ได้รับการสั่งสอนให้เป็นกุลสตรี เป็นแม่บ้านแม่เรือน ก็ย่อมต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาบ้านช่องให้ทุกคนในบ้านมีความสุข เมื่ออยู่ในเรือก็เช่นกัน ก็ต้องดูแลเรือลำนี้ให้ดีที่สุด และด้วยหน้าที่ดูแลเรือนี้เอง จึงเป็นที่มาของคําว่า ริงเรือ เนื่องจากในอดีต มีคําศัพท์ว่า ‘หลิง’ ซึ่งแปลว่า ดู ซึ่งเป็นภาษาโบราณนั่นเอง

    ผู้หญิงกับเรือเป็นของคู่กันครับ เราแทนสรรพนามในการเรียกเรือทุกลำว่าเธอหรือ ‘She’ ในภาษาอังกฤษ คำถามคือทำไมล่ะ? ก็ธรรมเนียมจากประเทศทางตะวันตกครับ โดยมีรากฐานมาจากกรีกคือ โพเซดอนถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งท้องทะเล ดังนั้นเรือต้องเป็นผู้หญิงหรือตั้งชื่อเป็นผู้หญิงเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองจากเทพโพไซดอนซึ่งเป็นเพศชาย ความลับมีอยู่ว่า เขาจะไม่นิยมตั้งชื่อเรือเป็นผู้ชายหรือสื่อถึงผู้ชาย เพราะเทพโพเซดอนจะไม่ปลื้ม ยกตัวอย่างเช่นเรือ Titanic มาจากคำว่า Titan ซึ่งเป็นชื่อศัตรูของเทพโอลิมปัส พอออกเรือครั้งแรกก็จมเลยทันที 555

    บางเรื่องราวก็บอกว่า ที่ตั้งชื่อเรือเป็นผู้หญิงเนื่องจากคนบนเรือสมัยก่อนส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและห่างบ้านไปนาน ๆ ก็เลยตั้งชื่อเรือเป็นผู้หญิงหรือเรียกเรือเป็นผู้หญิงเพื่อแทนความคิดถึงคนรัก เช่น แม่หรือภรรยา บ้างก็ว่ากะลาสีเรือมักจะเรียกเรือว่า ‘เธอ’ เพราะพวกเขาต้องการแสดงความเคารพต่อเรือเสมือนแม่บังเกิดเกล้า หรือบ้างก็ว่าการที่เรียกเรือว่าเธอนั้นเป็นเรื่องของการแสดงความเคารพต่อเทพธิดาที่สิงสถิตอยู่ในเรือ เพื่อให้ช่วยคุ้มครองจากภยันตรายต่าง ๆ จากทะเลเมื่อเวลาที่ต้องออกเรือ

    บางสมมติฐานกล่าวว่า น่าจะเป็นเพราะเพศหญิงเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องคุ้มครองภัยอันตราย คนจึงได้นำเอาชื่อเทพีต่าง ๆ มาตั้งเป็นชื่อเรือกัน เพื่อให้เทพีเหล่านั้นคุ้มครองพวกตน ซึ่งความเชื่อนี้ได้มีปรากฏอยู่ในหลายวัฒนธรรม อย่างเช่นในไทยก็นับถือแม่ย่านางเป็นผู้คุ้มครองเรือ ต่อมาจึงมีการนำชื่อผู้หญิงที่ตนรักหรือยกย่องมาตั้งเป็นชื่อเรือของตนเอง หรือแม้กระทั่งมีความเชื่อว่า เวลาเราปล่อยเรือลงน้ำ ตอนต่อเรือ เราจะให้กียรติสุภาพสตรีเป็นคนปล่อยเรือลงน้ำ แล้วพอเธอเสียชีวิตไป วิญญาญของเธอจะกลับมาสิงสถิตย์เป็นแม่ย่านางของเรือลำนั้นต่อไป

     

     

    ผู้หญิงลงทำงานในเรือเป็นสัดส่วนน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับผู้ชาย (โดยเฉพาะในประเทศไทย)

    สมัยผมเป็นกัปตันเรือ ผมได้เจอกับคนประจำเรือหญิงอยู่บ่อย ๆ แต่เป็นบนเรือสัญชาติอื่นนะครับ ไม่เคยได้มีโอกาสร่วมงานคนประจำเรือหญิงที่เป็นคนไทยเลย บางคนที่ผมเจอนี่หน้าตาจิ้มลิ้ม ทรวดทรงองค์เอวเป็นนางแบบได้เลย ผมยังนึกในใจเล่น ๆ ว่ามาทำงานบนเรือได้อย่างไรเนี่ย

    ทราบกันไหมครับว่า มีผู้หญิงประมาณ 2% เท่านั้นที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเลโลก คนประจำเรือผู้หญิงส่วนใหญ่ทำงานในภาคเรือสำราญและเรือข้ามฟาก โดยเรือที่ลงไปทำงานส่วนใหญ่จะจดทะเบียนเป็น Flags of Convenience (FOC) และพวกเธอเหล่านั้นยังมีอายุน้อย ๆ กัน จะมีไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้ทำงานในตำแหน่งนายประจำเรือ ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับนายประจำเรือที่เป็นผู้ชาย

    จำนวนที่น้อยอยู่แล้วของพวกเธอ หมายความว่าผู้หญิงอาจถูกเลือกปฏิบัติและถูกคุกคาม สหภาพแรงงานทางทะเลจึงตื่นตัวต่ออันตรายเหล่านี้และพยายามปกป้องผลประโยชน์ของคนประจำเรือที่เป็นผู้หญิง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 23,000 คนทั่วโลก

    ถึงแม้ว่าผู้ชายจะมีจำนวนมากกว่าในแรงงานทางทะเล แต่การจ้างงานของผู้หญิงในส่วนของคนประจำเรือก็ได้รับความสนใจมากขึ้น สาเหตุหลักสองประการคือ ปัจจัยทางการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการขาดแคลนคนประจำเรือ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเชิงกลยุทธ์ภายในตลาดแรงงาน IMO ได้เปิดตัวแคมเปญ ‘Go to Sea’ ในปี 2008 เพื่อกำหนดเป้าหมายเยาวชนเข้าสู่อาชีพการเดินเรือ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงพิจารณาเลือกทำงานเป็นคนเดินเรือมากขึ้น แต่ในเมืองไทย อาชีพคนประจำเรือยังคงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

     

    7 เหตุผลหลักที่ทำให้ไม่ค่อยมีคนประจำเรือหญิงในอุตสาหกรรมการเดินเรือ

    จะว่าไป การขนส่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีจำนวนแรงงานผู้หญิงน้อยมาก ก็ต้องโทษที่ความคิดดั้งเดิมของอุตสาหกรรมการขนส่งถูก ‘ครอบงำโดยผู้ชาย’ มีเหตุผลบางประการที่ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากไม่สนใจเข้าสู่อุตสาหกรรมการเดินเรือหรือมองหาทางเลือกทางอาชีพอื่น ๆ

    1. การขาดความตระหนักรู้และข้อมูล – อาชีพในอุตสาหกรรมการเดินเรือไม่เหมือนกับทางเลือกอาชีพอื่น ๆ ซึ่งหญิงสาวหลายคนไม่ค่อยรู้จักกัน นอกจากนี้ โรงเรียนที่สอนด้านการเดินเรือเองก็มีน้อยมากที่สนับสนุนผู้หญิงให้เรียนทางด้านนี้
    2. เป็นอุตสาหกรรมที่ถูกครอบงำโดยผู้ชาย – การเดินเรือในอดีตมีแต่ผู้ชายไปทำงานและยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างได้ง่าย ๆ จากการเรียกคนประจำเรือว่า ‘Seaman’ ถึงแม้ต่อมาจะมีความพยายามที่จะเปลี่ยนไปใช้คำว่า ‘Seafarer’ แทนก็ตาม เหตุผลหนึ่งที่ผู้หญิงไม่เลือกอาชีพนี้อย่างจริงจังก็คือ ไม่มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของผู้หญิงและกำลังใจที่จะเผชิญกับเส้นทางอาชีพที่มีการแข่งขันสูงของผู้ชาย หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผู้หญิงในสาขานี้คือ การต่อสู้กับการรับรู้ว่างานนี้มีไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงหลายคนกลัวที่จะเข้าสู่โลกของผู้ชายเพราะเชื่อว่าพวกเธออาจต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดทางร่างกายและความรุนแรง หรือการล่วงละเมิดทางวาจาอย่างรุนแรง รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานในระดับต่ำ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องจริงครับ บริษัทที่จ้างคนประจำเรือหญิงไปทำงานมีนโยบายที่เข้มงวดเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิและอัตลักษณ์ของพวกเธอ พวกเขามีข้อบังคับที่ออกมาดูแลผ้หญิงมากมาย
    3. ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน – โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ (ทั้งจากครอบครัวและสังคม) ในการเลือกเดินเรือเป็นอาชีพ การขาดการสนับสนุนนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงเหมือนถูกทอดทิ้ง ผิดหวัง และในที่สุดก็เลิกทำอาชีพเดินเรือ
    4. การยอมรับจากบริษัทเรือมีน้อย – ความยากในการเข้าถึงงานและการพัฒนาทางวิชาชีพในอุตสาหกรรมการเดินเรือก็เป็นเหตุผลให้นักเดินเรือที่เป็นผู้หญิงถอยห่างจากอาชีพนี้ การขาดการสนับสนุนจากสถานที่ทำงานทำให้ผู้หญิงไม่สามารถประกอบอาชีพนี้ได้ นักเดินเรือหญิงเองก็ต้องการมองเห็นโอกาส (แม้เพียงเล็กน้อย) ที่จะสามารถก้าวหน้าได้ในสาขาอาชีพของตน ผู้หญิงหลายคนรู้สึกว่าตนเองต้องเผชิญกับความยากลำบาก เช่น แรงกดดันด้านประสิทธิภาพหรือเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูง ๆ ในเรือ ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ ควรหาทางกำจัดช่องว่างทางเพศและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและโอกาสให้แก่ผู้หญิง
    5. อุปสรรคทางวัฒนธรรมและการปฏิบัติทางสังคม – ผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้รับอนุญาตให้เลือกเดินเรือเป็นอาชีพเพราะต้องอยู่กลางทะเลเป็นเวลานาน การหาสมดุลระหว่างความต้องการทำงานและครอบครัวเป็นปัญหาทั่วไปของทุกคน การอยู่ห่างจากครอบครัวและเพื่อนฝูงเป็นเวลานานไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย การอยู่ในเรือเป็นเวลาหลายเดือนอาจไม่สนองบทบาททางสังคมของผู้หญิงมากนัก จึงทำให้ไม่น่าสนใจสำหรับผู้หญิง
    6. ขาดการประชุมเชิงปฏิบัติการและการสัมมนา – การไม่มีองค์กรและเครือข่ายระดับภูมิภาคคอยสนับสนุนและส่งเสริมเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงเดินเรือน้อยลง องค์กรดังกล่าวควรจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและสัมมนาเพื่อช่วยให้หญิงสาวแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเดินเรือหญิงที่มีประสบการณ์ และช่วยให้พวกเธอพัฒนาสถานะที่แข็งแกร่งในภาคการเดินเรือ สิ่งนี้จะช่วยผลักดันให้มีนักเดินเรือหญิงในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น
    7. ความมั่นคงในอาชีพการทำงาน – บริษัทเจ้าของเรือส่วนใหญ่จ้างงานตามสัญญาจ้างและไม่มีสวัสดิการหลังเกษียณที่โดดเด่น สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาสำหรับคนประจำเรือที่เป็นผู้หญิงหลายคนที่มองหาความมั่นคงในการทำงานและผลประโยชน์เมื่อเกษียณอายุ เช่น เงินบำนาญ เป็นต้น ผู้หญิงส่วนใหญ่ชอบงานที่มีรายได้ที่มั่นคงและได้วางแผนชีวิตหลังเกษียณ นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมผู้หญิงถึงลังเลที่จะเข้าร่วมอุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเล

     

    การเลือกปฏิบัติที่คนประจำเรือหญิงต้องเผชิญ

    ผู้หญิงมีโอกาสที่จะเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ แม้กระทั่งการทำงานเป็นคนประจำเรือ ยกตัวอย่างเช่น ในบางประเทศ สถาบันการศึกษาและฝึกอบรมด้านการเดินเรือไม่ได้รับอนุญาตให้รับสมัครเพศหญิงเข้าร่วมหลักสูตรการเดินเรือ หรือถ้าในประเทศที่อนุญาตให้ผู้หญิงเรียน พวกเธอก็จะเลือกเรียนฝ่ายเดินเรือมากกว่าช่างกลเรือ แต่แม้จะจบการศึกษาไปแล้ว พวกเธออาจต้องเผชิญกับอคติจากเจ้าของเรือที่ไม่จ้างผู้หญิงลงทำงานในเรือ

    เมื่อได้งานทำแล้ว คนประจำเรือหญิงอาจได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย แม้ว่าพวกเธอสามารถทำงานได้เทียบเท่ากับเพื่อนร่วมงานชายก็ตาม ผู้หญิงอาจถูกปฏิเสธสิ่งอำนวยความสะดวกหรืออุปกรณ์ที่มีให้สำหรับคนประจำเรือชาย ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการเลือกปฏิบัติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องอนุสัญญาแรงงานทางทะเลระหว่างประเทศ แต่ผมก็ดีใจนะครับ ที่ปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องการสนับสนุนให้ผู้หญิงไปทำงานในทะเล

     

    คนประจำเรือหญืงควรมีวิธีการจัดการกับการกลั่นแกล้งหรือการล่วงละเมิดอย่างไร?

    การกลั่นแกล้งและการล่วงละเมิดเป็นปัญหาสำหรับคนประจำเรือทุกเพศไม่ว่าชายหรือหญิง พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ โดยอาจมาจากเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคัญบัญชา และเป็นสาเหตุของการเสียสุขภาพจิตตามมา สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาสำหรับคนประจำเรือจำนวนมากเพราะคุณต้องทำงานในทะเล ซึ่งต้องอยู่ห่างจากครอบครัวและเพื่อนฝูง และแหล่งความช่วยเหลืออื่น ๆ

    คนประจำเรือที่เป็นสุภาพสตรีอาจต้องรับมือกับการล่วงละเมิดทางเพศและการล่วงละเมิดอื่น ๆ ขณะอยู่บนเรือ สหภาพแรงงานทางทะเลหลายแห่งมีนโยบายครอบคลุมเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ดังนั้นคนประจำเรือที่เป็นสุภาพสตรีควรปรึกษาสหภาพแรงงานทางทะเลของคุณหากต้องการปรึกษาปัญหาเร่งด่วน ถ้าในประเทศไทยก็สามารถปรึกษากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ครับ

     

    คนประจำเรือหญิงมีสิทธิในการมีบุตรไหม?

    หากคนประจำเรือหญิงตั้งครรภ์และต้องการลาเพื่อคลอดบุตร สิทธิของการลาจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำงานที่ไหน

    หากคุณกำลังทำงานบนเรือภายใต้ธงของประเทศของคุณเอง คุณจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ และสิทธิใด ๆ ที่ได้รับก็จะอยู่ภายใต้สัญญาจ้างของคุณ สัญญาจ้างของคนประจำเรือมี 2 แบบนะครับ อันแรกคือ SEA (Seafarer Employment Agreement) ซึ่งทำกันระหว่างคนประจำเรือกับเจ้าของเรือ ในประเทศไทยใช้แบบนี้อยู่ครับ ส่วนอีกแบบ เรียกว่า CBA (Corrective Bargaining Agreement) ซึ่งจะใช้ในประเทศที่มีสหภาพแรงงานทางทะเล

    หากคุณทำงานบนเรือ Flag of Convenience คุณจะได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายของรัฐเจ้าของธง ซึ่งอาจไม่ได้ให้สิทธิในการคลอดบุตรเลย อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงที่ได้รับการอนุมัติจากสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ก็จะดูแลสิทธิขั้นต่ำให้

    ข้อตกลงที่ได้รับการอนุมัติจาก ITF สำหรับเรือเดินระหว่างทะเลว่าด้วยคนประจำเรือหญิงที่ตั้งครรภ์

    • การส่งตัวกลับประเทศต้องเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท
    • ต้องได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวนสองเดือน
    • ระยะเวลาของการส่งตัวกลับประเทศอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าคนประจำเรือหญิงนั้นทำงานที่ไหนและระยะการตั้งครรภ์เท่าไหร่แล้ว เรือวิ่งชายฝั่งใกล้ ๆ หรือเปล่า หรือมีแพทย์อยู่บนเรือหรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว น่าจะดีกว่าที่คนประจำเรือหญิงมีครรภ์จะลงไปทำงานบนเรือหลังจากคลอดแล้ว อย่างไรก็ตาม หากคนประจำเรือหณิงมีครรภ์ทำงานบนเรือเดินทะเลลึกหรือเรือที่มีความเร็วสูงมาก จะต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ
    • การตั้งครรภ์ไม่ควรถือเป็นความผิดทางวินัย การทดสอบการตั้งครรภ์ก่อนที่คุณจะได้รับการจ้างงานอาจละเมิดอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 183 ได้

    ประเด็นสำหรับคนประจำเรือหญิงที่เจ้าของเรือและสหภาพแรงงานจัดลำดับความสำคัญ

    • การความเลื่อมล้ำทางเพศในอุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเล
    • การจัดหาสุขภัณฑ์บนเรือสำหรับสุภาพสตรี
    • การเข้าถึงคำแนะนำทางการแพทย์ที่เป็นความลับและการคุมกำเนิด
    • แนวทางที่สอดคล้องกันและปรับปรุงสิทธิประโยชน์และสิทธิในการคลอดบุตร
    • การพัฒนานโยบายการล่วงละเมิดทางเพศและการฝึกอบรมที่เหมาะสม โดยบรรจุเป็นหลักสูตรในการศึกษาของนักเรียนเดินเรือผู้หญิง

     

     

    อยากเป็นคนประจำเรือหญิงต้องทำอย่างไร?

    ถ้าอยากไปทำงานบนเรือสำราญ ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่เปิดรับ เช่น ช่างภาพ พนักงานเสิร์ฟ หรือแผนกอาหาร พนักงานทำความสะอาดห้อง ต้องไปฝึกอบรมหลักสูตร Basic 4 วิชาของคนประจำเรือตามที่ STCW กำหนดและหลักสูตร Crowd Management จากนั้นก็ไปทำเอกสารส่วนตัวต่าง ๆ เช่น หนังสือเดินทาง หนังสือคนประจำเรือ ฯลฯ เมื่อทุกอย่างครบก็ไปสมัครงานตาม Crew Manning Agency ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงาน ที่สามารถส่งคนขึ้นไปทำงานบนเรือสำราญได้ แต่คุณจะต้องผ่านการทดสอบที่เข้มงวดพอสมควรจากบริษัทเจ้าของเรือถึงจะได้รับโอกาสให้ขึ้นไปทำงานบนเรือได้ครับ โดยเขาจะพิจารณาเรื่องต่อไปนี้เป็นหลัก

    • สุขภาพ: สิ่งที่บริษัทเรือสำราญให้ความสำคัญมาก ๆ เลยคือเรื่องสุขภาพและโรคประจำตัว เมื่อถูกตรวจพบว่ามีโรคประจำตัวก็จะถูกตัดสิทธิ์ทันที ดังนั้นต้องหมั่นตรวจสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ ไปรักษาตัวเองให้เรียบร้อยก่อนที่จะคิดไปทำงานบนเรือ
    • อายุครบตามเกณฑ์แล้วทำงานต่อได้ไหม?: ในแต่ละตำแหน่งจะมีเกณฑ์อายุการรับคนเข้าทำงานต่างกัน เช่น ตำแหน่ง Food Beverage หรือพนักงานบริการ จะอยู่ที่ 20- 35 ปี หลายคนอาจจะเข้าใจผิดในข้อนี้ ว่าถ้าตัวเองอายุ 34 แล้วจะเข้ามาทำงานบนเรือได้เพียงแค่ปีเดียว เพราะเมื่อปีหน้าอายุครบ 35 จะถูกปลด ถือเป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะอายุที่กำหนดเป็นเพียงคุณสมบัติการรับเข้าทำงานเท่านั้น ไม่ใช่อายุเพื่อการทำงานแต่อย่างใด เมื่อเข้าทำงานแล้ว ขึ้นอยู่กับเรามากกว่าว่ามีแรงพอที่จะทำหรืออยากจะทำงานบนเรือนานแค่ไหน
    • ภาษาอังกฤษต้องดี: กว่าเราจะขึ้นเรือไปทำงานได้นั้นต้องผ่านการทดสอบทางด้านภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานสำหรับการทำงาน ทั้งการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ หากเราทดสอบไม่ผ่านแค่หนึ่งด่านที่ว่ามา การจะได้ขึ้นเรือไปทำงานนั้นก็ลืมไปได้เลยครับ
    • จะขึ้นเรือได้ต้องมีประสบการณ์การทำงานก่อน: บริษัทของเรือสำราญทุกแห่งมักกำหนดไว้ว่าต้องมีประสบการณ์ทำงานในสายงานนั้น ๆ มาก่อนขึ้นมาทำงานบนเรือ ประสบการณ์การทำงานจึงสำคัญมาก และเป็นข้อเสียเปรียบสำหรับคนที่อยากทำแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน ทำให้ต้องไปลงเรียนเพิ่มในหลักสูตรสั้น ๆ และฝึกงานในโรงแรมตามที่โรงเรียนส่งฝึก และเมื่อขึ้นเรือไปแล้วมีประสบการณ์การทำงานหลายลำแล้ว ก็สามารถใช้ประสบการณ์นี้ย้ายไปทำงานยังบริษัทเรือที่ได้ค่าตอบแทนมากขึ้นได้

     

    แต่ถ้าไม่อยากเป็นแค่ลูกเรือในเรือสำราญ แต่อยากเป็นระดับนายประจำเรือบนเรือบรรทุกสินค้าหรือเรือสำราญเลย ก็สามารถไปเรียนตามสถาบันฝึกอบรมทางทะเลต่าง ๆ เช่น ที่ศูนย์ฝึกพาณิชยนาวีได้ครับ โดยจะเรียนเหมือนผู้ชายทุกอย่าง ซึ่งจะมี 2 หลักสูตรให้เลือกคือ

    1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเดินเรือ
    2. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลเรือ

     

    คุณสมบัติของผู้ที่จะได้เข้าไปเรียนต้อง

    • สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลาย สายวิทย์-คณิต (ม.6)
    • เพศ ชาย/หญิง อายุไม่เกิน 21 ปี (นับจากปี พ.ศ. เกิด)
    • ความสูงไม่ต่ำกว่า 160 ซม.
    • มีสายตาปกติ ไม่สั้น ไม่บอดสี และร่างกายไม่มีรอยสัก

     

    ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรในการเรียน 5 ปี รวมทั้งสิ้นประมาณ 200,000 บาท บอกได้เลยว่าไม่แพงและคุ้มค่าต่อการลงทุนครับ เพราะเมื่อคุณจบไปและได้ทำงานได้ไม่เกิน 1 ปีก็สามารถหาเงินได้มากกว่า 200,000 บาทแล้ว

    ปัจจุบัน (ปี 2021) ศูนย์ฝึกพาณิชยนาวี มีนักเรียนเดินเรือที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด 18 คน แบ่งเป็นชั้นปีที่ 1 ทั้งหมด 9 คน และชั้นปีที่ 2 อีก 9 คน โดยพวกเธอทั้งหมดเรียนฝ่ายเดินเรือครับ

    ในปัจจุบัน มีผู้หญิงไทยสนใจที่จะไปทำงานบนเรือมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรือสำราญหรือเรือบรรทุกสินค้า บริษัทเรือบางแห่งในประเทศไทยมีกัปตันเรือเป็นผู้หญิงแล้ว ในวัน World Maritime Day ปี 2019 องค์การทางทะเลระหว่างประเทศหรือ IMO ได้กำหนดธีมในการจัดงานว่า ‘Empowering Women in the Maritime Community’ และในวัน Seafarer day ในปีเดียวกัน IMO ก็ได้กำหนดธีมในการจัดงานว่า ‘I am on board with gender equality’ ซึ่งจะเห็นได้ว่า IMO ให้ความสำคัญและเน้นย้ำถึงโอกาสสำหรับผู้หญิง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของพวกเธอในอาชีพคนประจำเรือและอาชีพทางทะเลที่หลากหลาย ดังนั้นผมว่าถึงเวลาแล้วที่บรรดาสุภาพสตรีในประเทศไทยจะก้าวข้ามข้อจำกัดและความหวาดกลัวต่าง ๆ และพิสูจน์ให้รู้ว่า หญิงไทยก็ทำได้

     

    กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่คนประจำเรือหญิงใช้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางเพศบนเรือ

    ผมเข้าใจและเห็นใจนะครับว่า การที่ผู้หญิงจะไปทำงานบนเรือต้องปรับตัวเองพอสมควร รู้ไหมครับว่าคนประจำเรือหญิงสามารถที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของตนในการทำงานบนเรืออย่างมีกลยุทธ์ การที่ผู้หญิงต้องลงไปทำงานในเรือกับคนประจำเรือที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ผมว่ามันต้องมีเทคนิคกันบ้าง ผมมีแนวทางมาแนะนำ ลองเอาไปปรับใช้กันดูครับ

    1. ลดความเป็นผู้หญิง – คนประจำเรือหญิงในช่วงเริ่มต้นของอาชีพการงานมักจะเรียนรู้ความจำเป็นในการปรับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของตนเพื่อให้เข้ากับสถานที่ทำงาน เช่น เรื่องการแต่งกายที่มิดชิด กางเกงรัดรูป เสื้อแขนกุด ควรงด และเรียนรู้ที่จะอยู่แยกจากกันบนเรือ แต่ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมนอกเวลางานส่วนใหญ่บนเรือได้ แต่ควรยกเว้นกิจกรรมเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของผู้ชาย เช่น การดูหนังอีโรติกหรือลามกอนาจาร เป็นต้น
    2. ปลุกความแข็งแกร่งของความเป็นชายในตัวผู้หญิงให้มากขึ้น – บังคับตัวเองให้ประพฤติตัวเหมือนผู้ชาย แสดงออกว่าเราเข้มแข็ง สามารถทำงานทุกอย่างแบบผู้ชายได้ ควรควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกของความเป็นหญิงขณะอยู่บนเรือ เช่น ไม่ร้องไห้บ่อย ๆ บนเรือ บางคนก็นำพฤติกรรมผู้ชายมาใช้ในขณะอยู่ในทะเล เช่น ลอกเลียนแบบความหยาบคายของเพื่อนร่วมงานชายของเธอและสบถสาบานมากกว่าผู้ชาย เป็นต้น
    3. ให้ความเป็นผู้หญิงได้เบ่งบานบ้างก็ได้ – อย่างเช่น เวลาว่าง ๆ อยู่ในห้องคนเดียว ก็หาชุดสวย ๆ ของผู้หญิงมาใส่บ้าง จะได้ไม่เก๊กเป็นผู้ชายจนเครียดเกินไป
    4. การปลอมตัว – คือทำตัวให้เหมือนผู้ชายมากที่สุด ยิ่งในเวลาทำงานด้วยกัน ทำยังไงก็ได้ให้เพื่อนร่วมงานชายเลิกคิดว่าเราเป็นผู้หญิง แต่ไม่ต้องขนาดแบบในละครทัดดาวบุษยานะครับ อันนั้นพระเอกเขายังไม่รู้ว่าแป็นผู้หญิง
    5. คุณลักษณะประจำตัวที่เหมือนเป็นการคุ้มครองผู้หญิงกลาย ๆ – อย่างการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น ถ้าผู้หญิงมีตำแหน่งที่สูงกว่าผู้ชายบนเรือ ก็จะได้รับการยำเกรงครับ
    6. อายุ – แน่นอนเมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น ก็จะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนเรือชายอื่น ๆ บนเรือ
    7. แต่งงานกับคนประจำเรือที่เป็นชาย – ซึ่งเธอมักจะได้รับความเคารพจากเพื่อนร่วมงานชายคนอื่น ๆ เนื่องจากถือว่าเป็นสมบัติของคนประจำเรือชาย ปรากฏการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการประกอบอาชีพการเดินเรือ ซึ่งคนประจำเรือจะไม่แตะต้องทรัพย์สินของคนอื่น
    8. มุกเป็นคนประเรือหญิงที่เคร่งศาสนา – ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพระเจ้ากลายเป็นวิธีปกป้องเธอบนเรือได้ครับ แต่ก็ไม่ต้องถึงขนาดแม่ชีนะครับ
    9. ผู้ชายไม่ชอบให้ผู้หญิงมาสั่ง – ดังนั้นคนประจำเรือหญิง ต้องมีวิธีการพูดหรือสั่งงานกับคนประจำเรือชายด้วยความเข้าใจ
    10. ทำหมันก่อนลงทำงานในเรือหรือการคุมกำเนิด – นับเป็นการลดปัญหาการตั้งครรภ์บนเรือได้ในระดับหนึ่งครับ

     

    ทั้งหมดที่เล่ามาให้ฟัง ผมอยากจะบอกผู้หญิงทั้งหลายว่า โอกาสในการไปทำงานเป็นคนประจำเรือไม่ได้ถูกปิดกั้นซะทีเดียว หากคุณสนใจ เพียงแค่คุณเปิดใจ ปรับตัว และเตรียมพร้อม ผมว่าคุณจะไปได้สวยกับอาชีพคนประจำเรือเลยทีเดียว ผมอยากเห็นผู้หญิงไทยไปทำงานเป็นคนประจำเรือมากขึ้นครับ

    ใครจะไปรู้ว่าอีกหน่อย เราอาจจะเรียกสรรพนามของเรือเป็น He แทน She ก็เป็นได้ เพราะมีคนประจำเรือที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

    เป็นกำลังใจให้หญิงไทยใจแกร่งทุกท่านครับ

     

    บทความโดย: Old Captain Never Die

    อัปเดต: 4 สิงหาคม ค.ศ. 2021

     

    REF
    https://www.thairath.co.th/content/497505

    Tags :

    Related Articles