ปลายทางสุดท้ายของเรือเก่า

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor blog ทุกท่าน คิดถึงกันบ้างไหมครับ

    ผมล่ะคิดถึงแฟนคลับทุกท่านทุกลมหายใจ…ฮิ้ววววว

    เอาเป็นว่า ไม่ทุกลมหายใจก็ได้ แต่ก็คิดถึงจริง ๆ ครับ อยากจะเขียนและแชร์ความรู้ทางด้านการขนส่งทางทะเลในแง่มุมต่าง ๆ ให้ทุกท่านได้อ่านกันเป็นความรู้และเก็บเอาไว้เป็นบันทึกหน้าหนึ่งของความรู้ทางด้านนี้ ในวันข้างหน้าเกิดมีเด็กรุ่นใหม่สนใจและเข้าไปค้นหาในอินเตอร์เน็ต ผมจะดีใจมากที่บทความที่ผมเขียนลงใน Semoor blog ในทุก ๆ เดือนตลอด 2 ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา มันจะเป็นประโยชน์กับผู้เข้ามาค้นคว้าต่อไป

    พวกเราเคยสงสัยกันไหมครับว่า เรือที่วิ่ง ๆ ขนส่งสินค้าทางทะเล พอมันเก่ามาก ๆ จนไม่ไหวแล้ว ปลายทางของเรือเหล่านั้น ‘อยู่ที่ไหน’?
     

    The Hong Kong Convention และการรีไซเคิลเรือเก่า

    เมื่อเราใช้เรือไปนาน ๆ จนหมดสภาพ ถ้าคิดจะซ่อมมาใช้อีกครั้ง ค่าซ่อมอาจจะแพงกว่าซื้อเรือใหม่ทั้งลํา ทางเลือกของเจ้าของเรือมีไม่มากครับ ทางเลือกแรกก็คือขายเป็นเรือมือสองให้กับเจ้าของเรือคนอื่นนําไปปรับปรุงวิ่งให้บริการต่อ ส่วนอีกทางเลือกคือนําไปตัดเป็นเศษเหล็ก ถ้านําไปตัดขายเองก็อาจได้ราคาหน่อยแต่จะวุ่นวายในการบริหารจัดการค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่ก็จะเลือกขายให้กับคนที่รับซื้อเรือแล้วนําเรือไปตัดขายต่อ

    การนําเรือไปตัดเพื่อทําการรีไซเคิลเรือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทํากันมาอย่างยาวนานมาก ๆ แล้วครับ สำหรับจัดการกับเรือที่สิ้นอายุการใช้งานและได้รับการยอมรับว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดถ้าดําเนินการอย่างถูกต้องและเหมาะสม การรีไซเคิลเรือจะใช้แนวคิด ‘จากแหล่งกําเนิดสู่จุดจบ’ ซึ่งส่งผลให้วัสดุและอุปกรณ์เกือบทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตเรือถูกนํากลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ตอบสนองการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ตัวอย่างที่เห็นง่าย ๆ  คือ การใช้เหล็กรีไซเคิล ซึ่งเราใช้พลังงานเพียง 1/3 ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตเหล็กจากวัตถุดิบ

    แม้ว่าหลักการของการนําเรือไปรีไซเคิลจะดีแต่การปฏิบัติในการทํางานจริง ๆ ตลอดจนมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในสถานที่ที่รีไซเคิลเรือนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง กฎระเบียบสากลจะเป็นหลักประกันว่ามีการทํางานที่ปลอดภัยสําหรับผู้ทํางานตลอดจนผู้คนโดยรอบในพื้นที่รีไซเคิลเรือ เพื่อให้มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกัน ดังนั้นประเทศสมาชิกของ IMO จึงมีการประชุมพูดคุยกันเกี่ยวกับการรีไซเคิลเรือ (Recycling of ship) กันมาอย่างยาวนาน จนในการประชุมของประเทศสมาชิก IMO กันที่ประเทศฮ่องกงเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2009 จึงมีการให้การรับรองอนุสัญญาการรีไซเคิลเรือขึ้นมาว่าทําอย่างไรการรีไซเคิลเรือจะปลอดภัยและเป็นกับมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    ดังนั้น ในวงการทางทะเลเลยให้เกียรติฮ่องกงในฐานะที่เป็นเจ้าภาพในการประชุมเรียกอนุสัญญาที่ให้การรับรองนี้ว่า ‘อนุสัญญาฮ่องกง’ (Hong Kong Convention) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อเรือถูกรีไซเคิลหลังจากหมดอายุการใช้งานแล้ว มีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่จําเป็นต่อสุขภาพของมนุษย์และต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชุมเห็นชอบกรอบแนวทางแผนพัฒนาการยุบเรือเก่าเป็นเศษเหล็ก (Recycling of Ships) หรือที่ผมพยายามจะสื่อสารใหพวกเราอ่านหรู ๆ ว่ารีไซเคิลนั่นแหละครับ นอกจากนี้ยังกําหนดกรอบแนวทางการพัฒนาการจัดการคลังวัสดุอันตรายเพื่อเป็นเครื่องมือในการดําเนินการตามอนุสัญญา International Convention for the Safe and Environmentally Sound Recycling of Ships (Hong Kong Convention, HKC)

    หลังจากอนุสัญญานี้ถูกรับรอง สมาชิกของ IMO ก็ตกลงกันว่า อนุสัญญาฮ่องกงจะถูกบังคับใช้ก็ต่อเมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ครับ

    1. มีประเทศรัฐภาคีให้การรับรองในอนุสัญญาอย่างน้อย 15 ประเทศ
    2. รัฐทั้ง 15 ประเทศที่ลงนามให้การรับรองต้องมีเรือที่ชักธงของประเทศนั้น ๆ รวมกันแล้วมีจํานวน GRT ไม่น้อยกว่า 40% ของจํานวน GRT รวมของโลก
    3. รัฐทั้ง 15 ประเทศต้องมีความสามารถในการรีไซเคิลเรือไม่น้อยกว่า 3% ของจํานวน GRT 15 ประเทศที่ให้สัตยาบรรณ

    อนุสัญญานี้จะบังคับใช้กับเรือทุกลําที่มีขนาด 500 GRT หรือมากกว่าที่จะถูกนำไปรีไซเคิลโดยไม่คํานึงว่าจะเป็นเรือจดทะเบียนประเภทไหน ผลของการใช้บังคับของอนุสัญญากําหนดให้เรือต้องมีการปรับปรุงและบํารุงรักษาบัญชีรายชื่อของวัสดุอันตรายบนเรือ ซึ่งต้องมีการระบุปริมาณและสถานที่ติดตั้งและการจัดเก็บของวัตถุอันตรายบนเรือ นอกจากนี้เรือที่จะถูกรีไซเคิลจะต้องไปทําการรีไซเคิลเรือที่สถานที่หรืออู่ที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐภาคีเท่านั้น 

    และในที่สุดหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อก็ครบถ้วนในวันที่ 26 มิ.ย.2023 โดยมีประเทศใหการรับรองทั้งหมด 22 ประเทศ จํานวน GRT รวมกันได้ 45.81% และความสามารถในการรีไซเคิล รวม 3.31% ส่งผลให้อนุสัญญาจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 26 มิ.ย 2025 หรือในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้าครับ

    กฎระเบียบในอนุสัญญายังครอบคลุมถึงการออกแบบ การก่อสร้าง การดําเนินงาน และการเตรียมเรือเพื่ออํานวยความสะดวกในการรีไซเคิลเรือที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่กระทบต่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเรือ การดําเนินงานของสถานที่รีไซเคิลเรือในลักษณะที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดตั้งกลไกบังคับใช้ที่เหมาะสมสําหรับการรีไซเคิลเรือ โดยผสมผสานขอกําหนด การรับรอง และการรายงานเข้าด้วยกัน

    นับตั้งแต่มีการรับรองอนุสัญญาฮ่องกง คณะกรรมการคุมครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล (MEPC) ของ IMO ได้พัฒนาและนําแนวทางต่อไปนี้มาใช้เพื่อช่วยรัฐภาคีในการดําเนินการและการบังคับใช้มาตรฐานทางเทคนิคของอนุสัญญา ไปดูกันครับว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

    • แนวทางปี 2011 สําหรับการพัฒนาแผนการรีไซเคิลเรือรับรองโดยมติ MEPC.196(62)
    • แนวทางปี 2012 สําหรับการรีไซเคิลเรือที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนํามาใช้โดยมติ MEPC.210(63)
    • แนวทางปี 2012 สําหรับการอนุญาตสิ่งอํานวยความสะดวกการรีไซเคิลเรือซึ่งนํามาใช้โดยมติ MEPC.211(63)
    • แนวทางปี 2012 สําหรับการสํารวจและการรับรองเรือภายใต้อนุสัญญาฮ่องกงซึ่งรับรองโดยมติ MEPC.222(64)
    • แนวทางปี 2012 สําหรับการตรวจสอบเรือภายใต้อนุสัญญาฮ่องกงซึ่งรับรองโดยมติ MEPC.223(64)
    • แนวทางปี 2023 สําหรับการพัฒนาบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายซึ่งนํามาใช้โดยมติ MEPC.379(80)

     

    เรือที่เข้าข้อข้อกําหนดต้องทําอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา?

    ภายใต้อนุสัญญาฮ่องกง เรือเหล่านั้นจะต้องมีบัญชีรายการวัตถุอันตรายเฉพาะสําหรับเรือแต่ละลํา ซึ่งจะต้องจัดเตรียม ตรวจสอบ และรักษาให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอตามแนวทางของ IMO หลังจากการสํารวจเพื่อยืนยันเบื้องต้น เรือจะต้องมีการสํารวจเพิ่มเติมตลอดอายุของเรือ และการสํารวจขั้นสุดท้ายก่อนที่จะไปทําการรีไซเคิล ข้อกําหนดสําหรับเจ้าของเรือที่ต้องปฏิบัติ ผมแยกออกเป็น 3 ส่วนให้เห็นชัด ๆ ดังนี้ครับ (ขอไม่ลงรายละเอียดมากนะครับ เดี๋ยวจะงง กันเปล่า ๆ)

    1. เรือต่อใหม่

    ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 2025 เรือใหม่ทุกลําจะต้องจัดส่งสินค้าคงคลังวัสดุอันตราย (Inventory of Hazardous Materials, IHM) ที่ได้รับอนุมัติ (ส่วนที่ 1 เท่านั้น) และใบรับรองที่ถูกต้องที่เกี่ยวข้องในระหว่างการต่อเรือ IHM ส่วนที่ 1 ควรได้รับการรวบรวมตามคําชี้แจงวัสดุที่รวบรวมจากผู้เกี่ยวข้องต่างๆ  ในการต่อเรือโดยผู้ต่อเรือให้ครบถ้วน โดยรายละเอียดจะระบุไว้ใน MEPC.379(80) – 2023 เรียกว่าตั้งแต่ต่อเรือก็ต้องมีรายละเอียดให้ครบเลยทีเดียว

    2. เรือที่วิ่งให้บริการอยู่แล้ว

    ภายในวันที่ 25 มิ.ย. 2030 (หรือก่อนที่จะนําเรือไปรีไซเคิลหากเร็วกว่านี้) เรือเหล่านั้นจะต้องมี IHM ที่ได้รับอนุมัติ (ส่วนที่ 1 เท่านั้น) ซึ่งพัฒนาขึ้นตามแนวทางที่กล่าวข้างต้นและมีใบรับรองที่ถูกต้องที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของ IHM ส่วนที่ 1 ในกรณีที่ไม่สามารถหารายละเอียดบนเรือได้ เพื่อให้แน่ใจว่ามีหรือไม่มีวัตถุอันตรายบนเรือ เจ้าของเรืออาจจําเป็นต้องดําเนินการสุ่มตัวอย่างและวิเคราะห์วัสดุอันตรายก่อนที่ IHM จะเสร็จสมบูรณ์ โดย IHM ควรทําให้เสร็จตอนทํา survey การต่ออายุ Cargo Ship Safety Construction Certificate, Cargo Ship Safety Certificate หรือ The Passenger Ship Safety Certificate

    3. การทํา survey ขั้นสุดท้าย

    ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 2025 เรือที่จะนําไปรีไซเคิลจะต้องมีการออกใบรับรอง Ready for Recycling (RfRC) ที่ถูกต้อง โดยต้องได้รับอนุญาตจาก Flag State หรือ Classification Society โดยใบรับรองจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 3 เดือน RfRC จะถูกออกโดยอิงจากการทบทวน IHM (ส่วนที่ I, II และ III) ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว มีการตรวจสอบว่าได้เลือกสถานที่รีไซเคิลเรือที่ได้รับอนุญาตแล้ว และมีแผนการรีไซเคิลเฉพาะเรือได้จัดทําขึ้นตามข้อมูลที่ให้ไว้ใน IHM ฉบับสุดท้าย IHM SOC & International Certificate

    ในส่วนของเจ้าของเรือ การที่จะปฏิบัติให้ได้ตามขอกําหนดของอนุสัญญานี้และมีการบํารุงรักษาและปรับปรุง IHM ส่วนที่ I ให้ได้ตาม (MEPC 269(68) ในข้อที่ 5.2 ควรใช้มาตรการต่อไปนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเรือของเราทุกลําเตรียมการสอดคล้องกับ IHM ส่วนที่ 1

    1. แต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการบํารุงรักษาและปรับปรุงสินค้าคงคลังที่เป็นอันตราย (บุคคลที่ถูกกําหนดอาจเป็นพนักงานออฟฟิศหรือคนประจําเรือก็ได้)
    2. ผู้ที่ได้รับมอบหมายควรจัดทําและกํากับดูแลระบบ (ขั้นตอน) เพื่อให้แน่ใจว่ามีการปรับปรุงรายการสินค้าคงคลังที่เป็นอันตรายตลอดเวลา
    3. เพื่อรักษาสินค้าคงคลังที่เป็นอันตรายรวมถึงวันที่ของการเปลี่ยนแปลงหรือรายการที่ถูกนําออกจากเรือ ควรมีลายเซ็นรับทราบของบุคคลที่ได้รับมอบหมายทุกครั้ง
    4. จัดให้มีเอกสารที่เกี่ยวข้องตามความจําเป็นในการตรวจเรือหรือขายเรือ

     

    รู้จักกับ IHM หรือ Inventory of Hazardous Materials

    หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจมีคําถามว่า อ้าว! เห็นเล่าแต่เรื่อง IHM ส่วนที่ 1 แล้วส่วนอื่น ๆ ที่เหลือมันคืออะไร แล้วใช้ประโยชน์ตอนไหน มาครับ ผมจัเล่าให้ฟัง

    IHM หรือ Inventory of Hazardous Materials จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วนครับ โดยมีรายละเอียดดังนี้

    • IHM Part I: Hazardous materials contained in the ship’s structure and equipment ก็ว่าด้วยเรื่องวัสดุอันตรายที่มีอยู่ในโครงสร้างและอุปกรณ์ของเรือ
    • IHM Part II: Operationally generated wastes ก็คือรายการของเสียที่เกิดจากการดําเนินงานที่เป็นอันตราย
    • IHM Part III: Stores ก็คือรายการของใช้ต่าง ๆ บนเรือที่เป็นอันตราย

     
    อย่างที่เล่าให้ฟังตั้งแต่แรกแหละครับว่า ข้อกําหนดของ HKC บังคับใช้กับเรือที่มีขนาด 500 GRT หรือมากกว่า ดังนั้นเรือที่เข้าข่ายนี้ต้องทําตามขั้นตอนในการที่จะปฏิบัติตาม HKC ดังนี้ครับ

    1. Initial Survey ต้องมีการพัฒนา IHM ส่วนที่ 1 และได้รับการรับรองเป็น Statement of Compliance (SOC) จากกรมเจ้าท่าหรือ IAAC แต่ถ้าประเทศที่เขาให้สัตยาบรรณใน HKC แล้ว เขาจะออก International Certificate ใหกับเรือที่ชักธงของตัวเองได้เลย
    2. Renewal Survey (ทุก 5 ปี) ใน IHM ส่วนที่ 1 ต้องมีการบํารุงรักษาและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันก่อนจะต่ออายุใบรับรอง
    3. Additional Survey IHM ส่วนที่ 1 บํารุงรักษาและปรับปรุงอย่างเหมาะสมเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปเลย ทดแทน หรือซ่อมแซมโครงสร้าง อุปกรณ์ระบบ อุปกรณ์ประกอบ แบบแปลนต่าง ๆ และวัสดุ
    4. Final Survey (ก่อนจะไปรีไซเคิล) เราต้องแจ้งกรมเจ้าท่า หรือ IAAC ของเราเป็นหนังสือถึงความประสงค์ของเราที่จํานําเรือไปรีไซเคิล ทําการปรับปรุง IHM ส่วนที่ II และ III และทําสรุป IHM ทั้ง 3 ส่วนให้ครบถ้วน
    5. มีการออก Statement of Compliance หรือ International Certificate Ready for Recycling Certificate ให้เรือ โดยไปรวมกับแผนการรีไซเคิลเรือเฉพาะลําที่จัดทําขึ้นโดยสถานที่ที่เราจะนําเรือไปรีไซเคิล โดยเรือจะต้องไปรีไซเคิลที่สถานที่รีไซเคิลที่ได้รับอนุญาตตาม HKC เท่านั้น

     

    สถานที่ที่จะรับรีไซเคิลเรือจะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฮ่องกงอย่างไร?

    สิ่งอํานวยความสะดวกและสถานที่ที่ใช้รีไซเคิลเรือของรัฐภาคีที่ให้สัตยาบรรณในอนุสัญญานี้จะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานผู้มีอํานาจของรัฐภาคีนั้น ๆ แต่ละสถานที่จะต้องจัดทําแผนสิ่งอํานวยความสะดวกการรีไซเคิลเรือโดยระบุถึงความปลอดภัยของพนักงานและการฝึกอบรม การคุมครองสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม บทบาทและความรับผิดชอบของบุคลากร การเตรียมพร้อมและการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน ระบบการติดตาม การรายงานและการเก็บบันทึก โดยคํานึงถึงแนวปฏิบัติของ IMO ที่เกี่ยวข้อง

    ก่อนที่ เรือจะสามารถรีไซเคิลได้ สถานที่รีไซเคิลเรือจะต้องจัดทําแผนการรีไซเคิลเรือซึ่งเฉพาะเจาะจงสําหรับเรือแต่ละลําที่จะนําไปรีไซเคิล ต้องระบุวิธีการรีไซเคิลเรือแต่ละลําโดยขึ้นอยู่กับรายละเอียดเฉพาะและของที่ยังคงค้างอยู่บนเรือ
     

    อนุสัญญาฮ่องกงนี้มีประโยชน์อย่างไร?

    อนุสัญญานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มั่นใจว่าเรือเมื่อถูกนําไปรีไซเคิลและนําไปตัดทําลายหลังจากหมดอายุการใช้งานจะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่จําเป็นต่อสุขภาพของมนุษย์ มีความปลอดภัยและไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอนุสัญญานี้ ตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกี่ยวกับการรีไซเคิลเรือ รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เรือที่ถูกขายเพื่อการทําลายทิ้งอาจมีสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แร่ใยหิน โลหะหนัก สารประกอบไฮโดรคาร์บอน สารทําลายโอโซน, สารปรอท และอื่น ๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงข้อกังวลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพการทํางานและสภาพแวดล้อมในสถานที่ทําการรีไซเคิลเรือ
     

    สุสานของเรือเก่า ๆ เหล่านั้นอยูที่ไหน ?

    ประเทศ 5 แห่งแรก ๆ ของโลกที่มีการรับรีไซเคิลเรือมากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 98% ของการรีไซเคิลเรือทั้งหมดจากจํานวนรวม GRT ของเรือที่ไปรีไซเคิล ได้แก่ บังกลาเทศ จีน อินเดีย ปากีสถาน และตุรกี ซึ่งในปี 2022 ที่ผ่านมา บังกลาเทศเป็นผู้รื้อถอนเรือเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นมากกว่า 1/3 ของการรีไซเคิลเรือทั่วโลก และประเภทของเรือที่ถูกรื้อถอนรีไซเคิลมากที่สุดก็คือเรือบรรทุกน้ำมัน

    การรีไซเคิลเรือคาดว่าจะได้รับการส่งเสริมมากขึ้นในปี 2024 เนื่องจากเจ้าของเรือต้องการจะหาเรือทดแทนเรือเก่าและพัฒนากองเรือของตนให้สอดคล้องกับกฎระเบียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ใหม่ของ IMO เกี่ยวกับกฎระเบียบในเรื่อง EEXI และ CII ซึ่งช่วยประเมินความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเรือ ถึงแม้จะมีกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นและต้นทุนเหล็กที่สูงขึ้น แต่สภาวะตลาดก็มีความสําคัญมากกว่า โดยเจ้าของเรือต่างจับตาดูจุดสูงสุดของอัตราค่าระวางเรือ ความต้องการของระวางสินค้าจากตลาด ทําให้มูลค่าเฉลี่ยของเรือเก่าเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจเอาเรือไปรีไซเคิลเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามอายุขัยเฉลี่ยที่เป็นจริงของเรือในปัจจุบันคือ 25-30 ปี นั่นก็หมายความว่าอาจจะต้องมีเรือเข้าสู่การรีไซเคิลประมาณ 1700 ลําในแต่ละปีเลยทีเดียว

    ปัจจุบันชายหาดแถบเอเชียใต้เป็นจุดหมายยอดนิยมของเรือที่หมดอายุการใช้งานแล้ว สถานที่แยกชิ้นสวนเรือที่ใหญที่สุดในโลก 3 แห่งคือ อู่แยกชิ้นส่วนเรือชิตตากอง (Chittagong) ของบังกลาเทศ อู่แยกชิ้นส่วนเรืออาลัง (Alang) ที่อินเดีย และอู่แยกชิ้นส่วนเรือกาดานี (Gadani) ในปากีสถาน แต่ที่น่าตกใจที่สุดคือ เรือมากกว่า 70% ที่ถูกส่งมายังสถานที่เหล่านั้นถูกแยกชิ้นส่วนบนชายหาดโล่ง ๆ สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศชายฝั่งและชุมชนใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังพบการเอารัดเอาเปรียบคนงาน ปัญหาการบาดเจ็บ โรคร้าย และการเสียชีวิต เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการทํางานที่ไม่ปลอดภัย บวกกับการต้องสัมผัสวัสดุที่เป็นพิษโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอยู่ตลอดเวลา โดยบริษัทแยกชิ้นส่วนเรือเหล่านั้นไม่สนใจที่จะดูแลสุขภาพอนามัยของคนงานและตั้งหน้าตั้งตาแสวงหากําไรใหมากที่สุด และนั่นจึงกลายเป็นที่มาของ The Hong Kong Convention ในวันนี้

    นั่นก็คือทั้งหมดของ The Hong Kong International Convention for the safe and environmentally sound recycling of ships (ชื่อเต็ม ๆ) ที่ผมอยากเอามาฝากแฟนๆ Seamoor blog ทุกท่าน โดยเฉพาะท่านบรรดาเจ้าของเรือที่ต้องเตรียมตัวรับมือกับการบังคับใช้อนุสัญญานี้ ในวันที่ 26 มิ.ย 2025 ด้วยนะครับ เพราะถ้าไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า ถึงเวลาคงวุ่นวายน่าดู

    แล้วพบกันใน Seamoor Blog ฉบับหน้านะครับ

    สวัสดีครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *