รู้จักตำแหน่งบนเรืออื่น ๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัปตัน

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

ตำแหน่งบนเรืออื่น ๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัปตัน
Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับ แฟนคลับ Seamoor Blog ทุกท่าน

    มีน้อง ๆ หลายคนที่ตามอ่านเรื่องราวของ Old Captain Never Die แล้วส่ง inbox มาถามกันว่า ‘ชวนผมไปทำงานบนเรือจังเลยครับพี่ ผมยังไม่รู้เลยว่าเขาทำงานกันอย่างไรบ้าง ต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง’

    เออใช่! เส้นผมบังภูเขาชัด ๆ

    ผมก็เล่าไปเรื่อยและลืมไปถนัดใจเลยว่า ผมเป็นคนประจำเรือมาก่อน พอเล่าเรื่องคนประจำเรือให้กับคนที่ไม่เคยรู้จักเรือบรรทุกสินค้า ไม่รู้จักงานคนประจำเรือเลย เขาคงไม่อินกับผมเท่าไหร่

    ด้วยความที่กลัวว่าแฟนคลับจะหนีไปหมดซะก่อน (จริง ๆ รักกันจะตายเนาะ) งั้นคราวนี้ผมขอเล่าเรื่องราวการทำงานและหน้าที่ต่าง ๆ ของคนประจำเรือให้ฟังก็แล้วกัน เพื่อให้คนที่ไม่เคยรู้จักงานคนประจำเรือจะได้เข้าใจกันครับ ส่วนแฟน ๆ ที่เป็นคนประจำเรือมาก่อน ก็อย่าเพิ่งเบื่อ ถือว่าอ่านเพลิน ๆ ไปละกันนะครับ
     

    บนเรือมีคนในตำแหน่งอื่นเยอะแต่มักไปโฟกัสที่กัปตัน

    ถ้าจะถามถึงตำแหน่งบนเรือ เกือบทุกคนจะต้องรู้จักตำแหน่งกัปตันอย่างแน่นอน ในหนังฮอลีวูดดัง ๆ ที่เกี่ยวกับเรือ อย่างเช่น Titanic, Pirates of the Caribbean หรือ Captain Phillips กัปตันก็คือพระเอกของเรือหรือเป็น King of the ship นั่นเอง

    ทุกความเป็นไปของเรือ ทุกชีวิตบนเรือ แทบจะอยู่ในความดูแลของกัปตันแต่เพียงผู้เดียว แต่ในความเป็นจริง ตำแหน่งต่าง ๆ บนเรือก็สำคัญแตกต่างกันไปครับ แต่เราไปให้ความสำคัญกับกัปตันคนเดียว

    ถ้าผมถามพวกเราเล่น ๆ ว่า บนเรือ Black Pearl ของกัปตันแจ็ก สแปร์โรว์ ในหนังดังเรื่อง Pirates of the Caribbean ใครเป็นต้นเรือ?

    หลายคนที่ไม่ใช่คนเรือมาก่อนอาจจะถามย้อนผมกลับว่า ‘ต้นเรือนี่คือใครและทำหน้าที่อะไรบนเรือครับ?’

    ‘…’

    มีครับ! มีคนทำตำแหน่งนี้บนเรือของกัปตันแจ็ก สแปร์โรว์แน่นอน แต่หนังเขาไม่พูดถึงต่างหาก

    ยิ่งถ้าผมบอกว่าบนเรือของกัปตันแจ็กมีตำแหน่ง Quartermaster อยู่บนเรือด้วย หลาย ๆ คนอาจยิ่งนึกไม่ออกว่าคนที่รับผิดชอบตำแหน่งนี้เขาทำหน้าที่อะไร?

    คนที่ทำงานนี้ในปัจจุบันก็คือนายท้ายเรือนั่นเองครับ ถ้าในหนังก็จะเป็นคนที่ยืนอยู่ที่พังงา (พวงมาลัยใหญ่ ๆ ของเรือ) แล้วคอยรับคำสั่งกัปตันแจ็กว่าจะให้หมุนพังงาไปทางไหน เพื่อให้เรือหันซ้าย หันขวานั่นแหละครับ คือถ้าสมมติให้กัปตันเป็นวงกลมมี 4 ส่วน หรือมี 4 Quarters คนที่เป็น Quartermaster ก็เปรียบเทียบเป็น 1 ใน 4 ของกัปตันไงครับ

    Master and Quartermaster

    ตำแหน่งบนเรือแบ่งสายงานออกเป็น 2 แผนกหลัก

    บนเรือบรรทุกสินค้าโดยทั่ว ๆ ไป เขาแบ่งแผนกออกเป็น 2 แผนกครับ คือ ‘ฝ่ายเดินเรือ’ กับ ‘ฝ่ายช่างกลเรือ’ หรือถ้าเป็นคนเรือยุคก่อนก็จะเรียกว่าฝ่ายปากเรือกับห้องเครื่อง หรือถ้าเป็นทหารเรือ เขาก็จะเรียกว่า พรรคนาวิน กับ พรรคกลิน ครับ

    แล้วผมจะเรียกว่าอะไรดี?

    อืม…ผมขอเรียกเป็นฝ่ายเดินเรือกับช่างกลเรือละกันนะครับ

    ฝ่ายเดินเรือจะทำหน้าที่ในเรื่องการนำเรือให้ถึงที่หมายปลายทาง ดูแลสินค้าที่บรรทุกไป ตลอดจนดูแลเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่บนดาดฟ้าของเรือ และอุปกรณ์เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในทะเลทุกชนิด รวมถึงเรื่องอาหารการกินบนเรือทั้งหมดด้วย ในสมัยก่อนมีตำแหน่ง ‘กระซับ’ ด้วย โดยตำแหน่งนี้เป็นชื่อเรียกคนประจำเรือที่ทำหน้าที่รักษาพัสดุตลอดจนสินค้าทั่วไปในระวางเรือ เรียกเต็ม ๆ ว่ากระซับปากเรือครับ โดยโครงสร้างของตำแหน่งต่าง ๆ บนเรือและสายการบังคับบัญชาในปัจจุบันก็เป็นไปตามภาพโครงสร้างนี้ครับ

    Maritime Career Position on a Ship

    ชื่อตำแหน่งบนเรืออาจมีเรียกแตกต่างกันไปตามประเภทของเรือครับ เช่น บนเรือบรรทุกน้ำมัน จะมีตำแหน่ง Pumpman ด้วย แต่หลัก ๆ ก็จะประมาณตามรูปด้านบนนี้ครับ

    บนเรือนอกจากเขาจะแบ่งแผนกกันแล้ว เขายังแบ่งลำดับการบังคับบัญชาเป็นชั้น ๆ ด้วย แน่นอนครับ! กัปตันคือผู้บังคับบัญชาสูงสุดบนเรือ จากนั้นถัดลงมา เราลองดูทางฝั่งของแผนกเดินเรือก่อนละกันครับ

    แผนกเดินเรือจะมีต้นเรือเป็นหัวหน้า แล้วก็ไล่ลงไปเรื่อย ๆ โดยจากต้นเรือถึงผู้ช่วยต้นเรือ เราจะเรียกพวกเขาว่า ‘นายประจำเรือฝ่ายเดินเรือ (Deck Officer)’ ส่วนจากตำแหน่งสรั่งปากเรือถึงบริกร เราจะเรียกคนประจำเรือกลุ่มนี้ว่า ‘ลูกเรือฝ่ายเดินเรือ (Deck Rating)’

    ทางฝั่งช่างกลเรือ แผนกนี้ก็จะมีต้นกลเป็นหัวหน้า ซึ่งจริง ๆ แล้วตำแหน่งต้นกลนี้ ศักดิ์ศรีจะเท่ากับกัปตันแหละครับ อัตราเงินเดือนก็จะเท่าหรือใกล้เคียงกัน แต่กัปตันเขาจะมีความรับผิดชอบมากกว่า คือถ้าจะมีใครสักคนที่จะสั่งสละเรือใหญ่เวลาเรือมีภัยกลางทะเลก็จะเป็นกัปตันนี่แหละครับ แล้วในสมัยโบราณ กัปตันก็จะสละเรือใหญ่โดยลงเรือช่วยชีวิตเป็นคนสุดท้าย โดยให้ลูกน้องปลอดภัยให้หมดก่อน หรือบางทีก็ยอมสละชิวิตตัวเองไปพร้อมกับเรือ ฟังแล้วสุภาพบุรุษมาก ๆ เลยใช่ไหมครับ แต่ในปัจจุบันอุปกรณ์ความปลอดภัยทางทะเลมีพร้อมสำหรับทุกคนครับ กัปตันไม่จำเป็นต้องเสียสละถึงขนาดนั้นแล้ว

    ในสายการบังคับบัญชาฝั่งช่างกลเรือถัดลงไปจากต้นกล ก็จะไล่ไปตั้งแต่รองต้นกลถึงนายช่างกลที่ 4 เราจะเรียกพวกเขาว่า ‘นายช่างกลเรือ (Engineer Officer)’ และจากสรั่งช่างกลไปจนถึงช่างเช็ดก็จะเรียกว่า ‘ลูกเรือฝ่ายช่างกลเรือ (Engine Rating)’

    พอเรารู้จักโครงสร้างงานการทำงานบนเรือกันแล้ว คราวหน้าผมจะเล่าต่อไปทีละตำแหน่งละกันครับว่าเขาทำอะไรกันบ้าง

    ผมจะเริ่มจากเบอร์ 1 ของเรา ซึ่งก็คือ ‘นายเรือหรือกัปตัน’ ของเราครับ

    ติดตามกันต่อครั้งหน้าครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022