งานบนเรือสำราญ จะสำราญหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวคุณ

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor blog ทุกท่าน

    สมัยผมทำงานเป็นคนประจำเรือบนเรือบรรทุกสินค้าช่วงแรก ๆ จำได้ว่าช่วงนั้นหนังเรื่อง Titanic กำลังดังเลย ผมชอบหนังเรื่องนี้มาก ๆ ยิ่งได้เห็นกัปตัน Edward Smith ซึ่งเป็นกัปตันเรือ Titanic ทำหน้าที่บนเรือได้ใส่ชุดบลูเท่ ๆ ไปทานดินเนอร์หรู ๆ กับผู้โดยสารแล้ว แอบคิดไม่ได้ว่าน่าไปทำงานบนเรือสำราญแบบนี้เหมือนกันนะ แต่ตอนนั้นไม่มีช่องทางอะไรในการสมัครงาน โทรศัพท์มือถือยังไม่มีเลย และไม่มีใครมาแนะนำหรือให้ข้อมูล ก็เลยต้องอยู่เรือบรรทุกสินค้ายาว ๆ ไป จนในวันนี้การติดต่อสื่อสารต่าง ๆ ทำได้ง่ายดาย ข้อมูลในการหางานต่าง ๆ สะดวกสบาย ทำให้การไปทำงานบนเรือสำราญไม่วุ่นวายและไม่ยุ่งยากอีกต่อไป

    ใช่แล้วครับ Seamoor blog ฉบับนี้ ผมอยากจะพาพวกเราไปรู้จักงานบนเรือสำราญกัน มันเป็นงานที่น่าสนใจมาก ๆ ได้ไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ ได้พบปะผู้คนมากหน้าหลายตา และถ้าตั้งใจเก็บเงินเก็บทองก็สามารถตั้งตัวได้ไม่ยาก น่าสนใจแล้วใช่ไหมครับ ไปครับไปลองอ่านกัน

    ใครจะไปรู้ งานบนเรือสำราญอาจเปลี่ยนชีวิตคุณไปทั้งชีวิตเลยก็ได้

    การไปทำงานบนเรือสำราญถือเป็นการตัดสินใจที่เปลี่ยนแปลงชีวิตซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หากคุณได้ตัดสินที่จะไป ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำงานในสภาพแวดล้อมที่พิเศษและคุ้มค่าแบบนี้ ไหนจะเรื่องตำแหน่งงานบนเรือที่อยากจะไปทำ คุณสมบัติส่วนตัวและประสบการณ์ของคุณว่าตรงกับความต้องการของบริษัทเรือหรือไม่

    ปัจจุบันงานเรือสำราญเข้าถึงได้ไม่ยากครับ สามารถส่งใบสมัครออนไลน์ไปที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทเดินเรือหรือผู้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือ ซึ่งใบสมัครของคุณจะถูกพิจารณาเบื้องต้นว่าคุณเหมาะสมหรือไม่ จากนั้นก็จะมีการนัดสัมภาษณ์และการทดสอบต่าง ๆ ว่าคุณเหมาะกับตำแหน่งงานที่เขากำลังต้องการหรือเปล่า

    ผมเคยทำงานอยู่ในบริษัทที่จัดหางานให้คนหางานไปทำงานเป็นคนประจำเรือ เคยเจอน้องผู้หญิงคนหนึ่ง เธอเรียนจบเคมีที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแต่เธออยากไปทำงานบนเรือสำราญเลยไปสมัครงานเป็นบาร์เทนดี้ในห้องอาหารโรงแรมแห่งหนึ่งจนฝีมือแกร่งกล้า เลยไปสมัครไปทำงานเป็นบาร์เทนดี้บนเรือสำราญ ด้วยความที่ตัวเองจบเคมีมาเลยมีนิสัยชอบผสมโน่นผสมนี่ พอได้ไปทำงานผสมเหล้าบนเรือเลยได้สูตรเครื่องดื่มใหม่ ๆ มากมาย จนเรื่องไปถึงเจ้าของบริษัทเรือสำราญมาขอดูตัวและจีบให้ไปคุมงานบาร์เทนดี้ทั้งหมดของกองเรือ เงินเดือนหลายแสนเลย นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ ของคนที่แสวงหาโอกาสครับ
     

    เตรียมตัวไปทำงานบนเรือได้อย่างไร

    โดยทั่วไปขั้นตอนก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่บริษัทเรือหรือบริษัทจัดหางานครับ ซึ่งขั้นตอน
    มาตรฐานทั่วไปก็จะเป็นประมาณนี้

    1. เข้าไปส่งใบสมัครที่เว็บไซต์ของบริษัทเรือหรือบริษัทจัดหางาน

    2. รอทางบริษัทติดต่อกลับไปเพื่อนัดสัมภาษณ์ โดยการสัมภาษณ์จะมีทั้งหมด 3 รอบด้วยกันคือ

    2.1 รอบที่ 1 – จะเป็นการสัมภาษณ์ English pre-screening เพื่อดูว่าสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่เป็นการสัมภาษณ์ออนไลน์ ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงเป็นใบเบิกทางที่สำคัญมากในการจะได้ไปทำงานบนเรือสำราญ

    2.2 รอบที่ 2 – สัมภาษณ์ Pre-screening เพื่อทดสอบความรู้ในตำแหน่งหน้าที่ที่สมัครไปทำงาน ปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ใช้ระบบออนไลน์

    2.3 รอบที่ 3 – Final Interview เจ้าหน้าที่ของเรือสำราญจะสัมภาษณ์โดยตรงกับผู้สมัคร โดยจะมีแบบทั้งออนไลน์และนัดไปเจอกันต่อหน้าที่สำนักงาน

    3. เมื่อผ่านการสัมภาษณ์ก็จะเข้าสู่กระบวนการอบรมและจัดเตรียมเอกสาร ในขั้นตอนนี้จะถือว่าผู้สมัครเป็นลูกเรือของบริษัทเรือแล้วและเตรียมตัวไปทำงาน โดยต้องฝึกอบรมตามที่ STCWกำหนดและเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

    • พาสปอร์ต (Passport)
    • หนังสือคนประจำเรือ (Seaman Book)
    • ใบตรวจประวัติอาชญากรรม
    • ฉีดวัคซีน MMR (วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม) และ Yellow Fever
    • ใบตรวจสารเสพติด
    • ทำ VISA C1/D คือลูกเรือที่ทำงานให้กับเรือเดินสมุทรของประเทศอื่นในประเทศสหรัฐอเมริกาต้องมีวีซ่าลูกเรือ และโดยทั่วไปแล้ว ลูกเรือของเรือเดินสมุทรที่ต้องเดินทางผ่านน่านน้ำของสหรัฐอเมริกาต้องมีวีซ่าผ่านแดน/ลูกเรือ (C-1/D) ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีลูกเรือบางคนอาจมีเพียงวีซ่าประเภท D เท่านั้น
    • ตรวจร่างกายตามรายการที่บริษัทเรือกำหนด หรืออย่างน้อยตามรายการใน Medical Fitness Certificate ของคนประจำเรือ
    • เมื่อเอกสารครบถ้วนแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทเรือหรือบริษัทจัดหางานจะทำการ Request Assignment จากทางเรือให้โดยจะใช้เวลาประมาน 1-2 เดือน
    • เมื่อได้ Assignment มาแล้ว เจ้าหน้าที่จะตรวจเอกสารและแจ้งทางกรมจัดหางานว่าลูกเรือคนนี้กำลังจะไปทำงาน
    • ในวันเดินทาง ทางบริษัทเรือจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตั๋วเครื่องบินไป-กลับให้ และถ้าสมัครงานกับบริษัทจัดหางานก็มักจะมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทจัดหางานไปอำนวยความสะดวกและส่งลูกเรือที่สนามบิน
    • เมื่อเดินทางไปถึงเรือแล้ว บางบริษัทเรือ เช่น Norwegian Cruise Line และ Viking Ocean จะไม่มีการสอนงานบนเรือ ลูกเรือที่ไปถึงจะต้องพร้อมทำงานได้ทันที แต่ทางหัวหน้างานจะให้เริ่มทำงานง่าย ๆ ก่อนเพื่อปรับตัว เมื่อมีความพร้อมจึงจะให้ทำงานที่ยากขึ้นและมากขึ้น

     

    คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะไปทำงานบนเรือสำราญ

    โดยไม่คำนึงถึงข้อกำหนดเฉพาะของตำแหน่งบนเรือสำราญ ก็จะมีเงื่อนไขและข้อกำหนดทั่วไปหลายอย่างครับที่ผู้สมัครจะต้องปฏิบัติตามเพื่อให้มีสิทธิ์ได้ไปทำงานบนเรือ ผมสรุปคร่าว ๆ ให้ทราบตามนี้ละกัน

    1. อายุขั้นต่ำ 18 (ขึ้นอยู่กับบริษัทเรือสำราญจะกำหนด) บางบริษัทอาจกำหนดที่ 21-35 ปีก็มี แต่อาจจะมีพวกพนักงานนวดอาจจะให้อายุได้ถึง 55 ปี
    2. แม้ว่าจะมีตำแหน่งระดับเริ่มต้นบางตำแหน่งที่ไม่จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมหรือประสบการณ์ แต่โดยทั่วไปแล้วประสบการณ์ก่อนหน้าและความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษที่เพียงพอก็เป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานบนเรือ เช่น อาจมีการกำหนดว่า ผู้สมัครงานจะต้องมีประสบการณ์ตามตำแหน่งที่สมัครอย่างน้อย 6-12 เดือน เป็นต้น
    3. หนังสือเดินทาง (Passport) ที่ถูกต้องและยังไม่หมดอายุ บางบริษัทจะกำหนดด้วยว่า ต้องมีอายุของ Passport อย่างน้อยเท่าไหร่ด้วย
    4. วีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องในการทำงาน หากผู้สมัครไม่ได้มาจากประเทศเดียวกันกับที่เรือสำราญจดทะเบียน
    5. ใบรับรอง STCW 2012 (มาตรฐานการฝึกอบรม การออกประกาศนียบัตร และการเข้ายามบนเรือ) ที่ถูกต้อง โดยต้องไปเรียนจากสถาบันฝึกอบรมที่กรมเจ้าท่ารับรองด้วย บางครั้งการฝึกอบรมนี้ก็จะได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลหรือองค์กรระหว่างประเทศ หรือจัดหาโดยสายการเดินเรือบางสายที่จัดให้กับพนักงานของตนหลังจากที่พวกเขาเป็นคนประจำเรือบนเรือแล้ว บริษัทบางแห่งกำหนดให้ผู้ที่จะไปทำงานบนเรือต้องมีใบรับรองที่ถูกต้องในด้านการจัดการฝูงชนและการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยบนเรือโดยสาร (Crowd Management) อีกด้วย
    6. ใบรับรองสุขภาพที่เป็นปัจจุบัน หลังจากเสร็จสิ้นการตรวจสุขภาพก่อนการจ้างงานโดยแพทย์สายการเดินเรือเพื่อให้มั่นใจว่าผู้สมัครจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดได้ รวมถึงการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและการฝึกซ้อมฉุกเฉินที่บริษัทกำหนดด้วย
    7. ใบตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
    8. ความพร้อมในการทำงาน ในช่วง 5 ถึง 9 เดือนแรก (โดยประมาณ) ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและบริษัท

     

    โดยทั้ง 8 ข้อ เป็นเพียงรายการข้อกำหนดทั่วไปที่อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริษัทเรือและประเทศที่เรือจดทะเบียนครับ
     

    ระยะเวลาการทำงาน  ตำแหน่งงาน และค่าตอบแทน

    การใช้ชีวิตบนเรือจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบครันครับ ไม่ว่าจะเป็นห้องพัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นห้องที่พัก 2 คน ในห้องก็จะมีทีวีและมีห้องน้ำในตัว มีแม่บ้านมาทำความสะอาดให้ในห้อง รวมไปถึงซักผ้าให้สองวันครั้ง และมีสัญญาณไวไฟที่ใช้ฟรี โดยทางเรือจะรับผิดชอบเรื่องเหล่านี้ตลอดระยะเวลาการทำงาน

    แต่การทำงานบนเรือก็จะค่อนข้างหนักครับ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยจะอยู่ที่ 11-13 ช.ม. ต่อวัน ไม่มีวันหยุด ถ้าหากต้องการไปเที่ยวบนฝั่งขณะเรือเทียบท่า ก็ต้องแลกกะกับเพื่อนร่วมงาน เมื่อทำงานครบสัญญาจ้างทางเรือจะซื้อตั๋วให้เรากลับบ้านพร้อมทั้งสัญญาจ้างในครั้งต่อไปแนบมาให้ เพื่อที่เราจะได้เตรียมมตัวในครั้งต่อไป และเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทย ลูกเรือต้องแจ้งให้กรมการจัดหางานทราบ

    สัญญาจ้างทำงานบนเรือแต่ละครั้งก็ตกครั้งละ 6-9 เดือน รายได้ตั้งแต่ประมาณ 550-4,000 ดอลล่าร์ต่อเดือน ตามอัตราค่าจ้างแต่ละตำแหน่ง ไม่รวมค่าตอบแทนพิเศษ

    ทีนี้ เราไปดูค่าจ้างโดยประมาณของแต่ละตำแหน่งกันครับ โดยรายได้ของลูกเรือจะแตกต่างกันไปตามขั้นและแผนกของตำแหน่งงาน ผมจะลองยกตัวอย่างตามแผนกงาน ตำแหน่ง และรายได้ ดังนี้

    1. แผนกแม่บ้าน (Housekeeping)

    – Hotel Steward หรือพนักงานทำความสะอาดบนเรือสำราญ: รายได้ 550-700 ดอลลาร์
    – ผู้ช่วยหัวหน้าแผนก (Assistant Stateroom Steward): รายได้ 1,000-1,400 ดอลลาร์
    – หัวหน้าแผนก (Stateroom Steward): รายได้ 3,000-4,000 ดอลลาร์

    2. แผนกบาร์ขายอาหารและเครื่องดื่ม

    – พนักงานรับออเดอร์ประจำบาร์ (Bar Steward): รายได้ 550-700 ดอลลาร์
    – พนักงานเสิร์ฟ (Bar waiter/waitress): รายได้ 1,000-3,000 ดอลลาร์
    – บาร์เทนเดอร์ (Bartender): รายได้ 2,500-3,500 ดอลลาร์

    3. แผนกห้องอาหาร (Dining room)

    – พนักงานดูแลห้องอาหาร: รายได้ 800-1,400 ดอลลาร์

    จริง ๆ ตำแหน่งงานยังมีมากกว่านี้อีกเยอะเลยครับ เช่น พนักงานนวดและสปา, พนักงานดูแลสระว่ายน้ำ, พนักงานทำขนมปัง ฯลฯ สายที่ได้เงินเยอะสุด ๆ ก็จะเป็นสายเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มเพราะบางเดือนคุณอาจจะได้เดือนเป็นแสนบาทขึ้นไปขึ้นอยู่กับทิป ส่วนแบ่งการขาย ยิ่งคุณขยันขายมากเท่าไร เงินแสนก็อยู่ไม่ไกล

    แต่ที่แน่ ๆ เห็นเงินเดือนแบบนี้แล้ว ผมว่าน่าสนใจกว่าไปทำงานเก็บผลไม้ที่อิสราเอลเยอะเลยว่าไหมครับ ถ้าแฟนคลับสนใจแล้ว แต่ไม่สะดวกที่จะติดต่อบริษัทเรือโดยตรง ก็สามารถติดต่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือได้ โดยในปัจจุบันในประเทศไทย มีบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 8 แห่งด้วยกัน คือ

    1. บริษัทจัดหางาน ทีเอสทีซี ไทย จำกัด
    2. บริษัทจัดหางาน บีเอสซี แมเนจเม้นท์ จำกัด
    3. บริษัทจัดหางาน แปซิฟิค ซีทราน ไลน์ส จำกัด
    4. บริษัทจัดหางาน บาเฮีย (ประเทศไทย) จำกัด
    5. บริษัทจัดหางาน ทรู (ไทยแลนด์) จำกัด
    6. บริษัทจัดหางาน ญาณดา จำกัด
    7. บริษัทจัดหางาน เอเชียน แมนพาวเวอร์ จำกัด
    8. บริษัทจัดหางาน เอ็มอาร์ที มารีน จำกัด

     

    การไปทำงานบนเรือสำราญแม้เป็นการทำงานระยะสั้น ๆ แต่ช่วยต่อยอดประสบการณ์ด้านงานบริการงานโรงแรม พัฒนาทักษะด้านภาษา และนำรายได้เข้าประเทศได้เป็นอย่างดี จากรายได้ที่ค่อนข้างสูง ทำให้สามารถเก็บเงินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่จำเป็น อาทิ ค่าที่พัก ค่าอาหาร เป็นต้น
     

    ข้อดีข้อเสียของการไปทำงานบนเรือสำราญ

    อย่างไรก็ตาม ชีวิตบนเรือสำราญมีทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมถึงรายละเอียดอื่น ๆ ที่ต้องให้ความสนใจ ฉะนั้นก่อนตัดสินใจลงไปทำงานบนเรือสำราญในตำแหน่งต่าง ๆ การรับทราบถึงข้อมูลชีวิตบนเรือสำราญจึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญ

    การท่องเที่ยวผ่านเรือสำราญนับเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมภาคบริการ ผู้ให้บริการจึงต้องสรรหาแรงงานหรือลูกเรือมาเพื่ออำนวยสะดวกนักท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวบนเรือสำราญมักเป็นคนรวยที่ยอมจ่ายแพง รายได้ของลูกเรือในทุกตำแหน่งงานจึงสูงตามไปด้วย

    แม้การทำงานบนเรือสำราญจะมีรายได้ที่สูงและมีโอกาสได้ไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานที่หนักกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และทำตามสัญญาว่าจ้างไม่ต่ำกว่า 6-9 เดือนติดต่อกัน และด้วยการทำงานเป็นกะและอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทำให้การติดต่อกับครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่ลำบากเนื่องจากช่วงเวลาที่ต่างกัน

    นอกจากนี้ ก่อนลงเรือสำราญยังต้องสำรองค่าใช้จ่ายเองบางส่วน อาทิ ค่าตรวจสุขภาพ ค่าทำ Passport หรือ Visa เป็นต้น รวมมูลค่าราว 40,000-60,000 บาท อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรพึงระวังสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานบนเรือสำราญที่สำคัญ คือ การถูกหลอก เนื่องด้วยการลงเรือสำราญจะต้องมีประสบการณ์ รวมถึงหลายคนอาจไม่รู้วิธีการสมัครกับบริษัทของเรือสำราญโดยตรง ทำให้มีเอเจนซีหรือนายหน้าที่เข้ามาเสนอตัวพาไป และผู้สมัครต้องจ่ายเงินเพิ่มสำหรับค่าบริการ ซึ่งหากไม่ตรวจสอบให้ดี อาจต้องเสียเงินตรงนี้ไปแบบฟรี ๆ

    จากข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้การทำงานบนเรือสำราญจะให้ผลตอบแทนที่สูงและแทบไม่ต้องควักเงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำจึงทำให้คนที่ทำงานสามารถเก็บเงินได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่การจะเข้าไปทำงานบนเรือได้ ก็มีขั้นตอนและข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องประสบการณ์ภาษาและสุขภาพ เป็นต้น ทำให้การคัดเลือกจึงมีความเข้มข้นมาก ซึ่งหากจะหาตัวช่วยก็ต้องหาข้อมูลและตรวจสอบเป็นอย่างดี ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการทำงานบนเรือสำราญจึงต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เพื่อการตัดสินใจที่รอบคอบและถี่ถ้วน

    การทำงานบนเรือสำราญจะเป็นสัญญาจ้างเป็นรอบ ๆ หรือเรียกว่า Contract โดยหนึ่ง Contract จะอยู่ที่ประมาณ 6-9 เดือน และกลับบ้านมาพักร้อนประมาณ 2-3 เดือน และการทำงานบนเรือสำราญ ‘ไม่มีวันหยุด’ ในตลอดสัญญาจ้างคือทำงานทุกวัน คุณจะหยุดได้ในกรณีที่เจ็บป่วยและหมอบนเรือเป็นคนพิจารณาให้หยุด

    ถ้าอ่านมาถึงจุดนี้แล้วรับได้กับการทำงานที่ต้องจากบ้าน จากครอบครัว พ่อแม่ แฟน สามี ภรรยา ลูก หรือคนที่รักไป 6-9 เดือน แสดงว่าคุณได้ผ่านจุดวัดใจไปแล้วหนึ่งจุด คนที่ไปทำงานเกือบทุกคนบนเรือ ต่างคนต่างมีเป้าหมาย มีครอบครัว มีลูก มีคนทางบ้านที่รอ ต้องตั้งใจทำงาน เก็บเงิน เพื่อส่งไปให้คนที่รออยู่ข้างหลังครับ
     

    เคล็ดลับการเตรียมตัวไปเป็นคนประจำเรือบนเรือสำราญ

    เตรียมตัวในรอบแรก

    ขั้นแรกเลยคือคำถามวัดพื้นฐานทางภาษาอังกฤษ โดยคนที่สัมภาษณ์จะถามเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด และเราก็ต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน เริ่มต้นด้วยการให้แนะนำตัว งานที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ รู้จักเรือสำราญได้ยังไง และทำไมถึงอยากขึ้นไปทำงานบนเรือสำราญ ให้ตอบคำถามออกไปอย่างมั่นใจ แสดงความตั้งใจในการสื่อสาร ไม่ต้องห่วงว่าจะพูดผิดหรือห่วงเรื่องสำเนียง แค่ทำเหมือนตอนที่เราฝึกมา เพราะเขาก็คงไม่ได้คาดหวังว่าเราจะต้องพูดสำเนียงเป๊ะเหมือนเจ้าของภาษา เพียงแต่ต้องสื่อสารกันได้ให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เราจะสื่อ

    วัดระดับความรู้สายงานที่สมัคร

    รอบสองนี้จะเป็นการวัดระดับความรู้ของสายงานที่สมัครตามดุลยพินิจของผู้ที่สัมภาษณ์เรา จะมีการทดสอบภาคปฏิบัติเพื่อวัดความรู้ หรือไม่ก็อาจจะเป็นคำถามเชิงลึกในสายงานนั้น ๆ รวมถึงคำถามวัดทัศนคติของตัวเราเองหรือทัศนคติที่มีต่องานด้วย อย่างงานแม่บ้าน คุณต้องเคยผ่านงานโรงแรมระดับ 4-5 ดาว มาก่อน งานสายเสิร์ฟต้องมีประสบการณ์ด้านร้านอาหารหรือบาร์ งานถ่ายภาพจะเน้นไปที่ผลงานภาพถ่าย เป็นต้น

    บุคลิกภายนอกก็สำคัญ

    ตั้งแต่เราเดินเข้าไปสัมภาษณ์ เขาจะดูตั้งแต่การแต่งกาย เพราะฉะนั้นควรแต่งกายให้สุภาพ
    เรียบร้อย ฝึกบุคลิก ฝึกการพูด เพราะทั้งสองอย่างที่ว่าจะช่วยให้การสัมภาษณ์งานของคุณดูดีขึ้นจากบางทีที่เราเคยเห็นว่าถึงจะเป็นคนเก่งแค่ไหน แต่หากพูดจาไม่รู้เรื่อง บุคลิกแย่ ก็ทำให้คนคนนั้นกลายเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ

    ต้องเรียนจบอะไร ต้องสอบวัดระดับทางภาษาไหม

    การขึ้นไปทำงานบนเรือสำราญนั้นควรจบการศึกษาขั้นต่ำที่ ม.6 หรือเทียบเท่า จะจบสาขาหรือคณะอะไรก็ได้ เพราะทางบริษัทเน้นที่ประสบการณ์การทำงานและเน้นทางด้านภาษา ส่วนการสอบหากจะขึ้นไปทำงานบนเรือสำราญต้องสอบ Marlins Test ซึ่งเป็นการสอบวัดผลทางภาษาสำหรับผู้ที่ต้องขึ้นเรือโดยเฉพาะ

    อย่าพึ่งลาออกจากงานปัจจุบัน

    การขึ้นเรือของแต่ละที่จะมีระยะเวลาแตกต่างกันตามแต่บริษัทเรือ ในระหว่างที่รอขึ้นเรือจึงไม่แนะนำให้ลาออกจากงานถ้ายังไม่แน่ใจเรื่องรอบเรือ เพราะเอเจนซีหรือบริษัทบางที่อาจใช้เวลานานหลายเดือน แต่ทั้งนี้บางทีพอเราสัมภาษณ์ผ่านเดือนนี้ เดือนถัดไปยื่นเอกสาร อีกเดือนหนึ่งก็เตรียมขึ้นเรือได้เลย จะเห็นได้ว่าระยะเวลาการรอของแต่ละคนนั้นจะไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับหลาย ๆ อย่าง

    เป็นอย่างไรบ้างครับ อ่านมาถึงตรงนี้สนใจงานบนเรือสำราญกันบ้างหรือยังครับ ถ้าสนใจก็หาข้อมูลเยอะ ๆ นะครับ inbox มาถามท้ายบทความนี้ก็ได้ เดี๋ยวผมจะมาตอบให้

    ขออนุญาตแปลงสโลแกนเก๋ ๆ ของทหารเรือไทยมาใช้กับเรือสำราญว่า “Join to Passenger Ship to see the world” ไปครับ ไปเปิดโลกกัน

    แล้วพบกันใหม่ใน Seamoor blog ฉบับหน้านะครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: ธันวาคม ค.ศ. 2023

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *