การปรับตัวของเจ้าของเรือและบริษัทจัดหางานเพื่อให้คนไปทำงานเป็นคนประจำเรือเพื่อรับเทรนด์คนประจำเรือในอนาคต

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

shipowner and manning agency seeking seafarers
Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับของ Seamoor Blog ทุกท่าน

    ความเดิมจากตอนที่แล้ว ผมเล่าให้พวกเราฟังกันว่า ‘งานคนประจำเรือในอีก 5 ปีข้างหน้ามีแววจะรุ่งหรือร่วง?’ ถ้าใครตามอ่าน จะเห็นเลยว่าถ้าคิดจะลาออกจากงานที่ทำอยู่ทุกวันแล้วลองหางานใหม่แล้วละก็ การลงไปทำงานเป็นคนประจำเรือถือเป็นอาชีพทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมากจริง ๆ ครับ เพราะจะมีงานที่ไหนที่รายได้ดีและโอกาสตกงานแทบไม่มีเลยแบบนี้ในปัจจุบัน

    ทีนี้ผมพาพวกเราลองสลับไปดูในส่วนของเจ้าของเรือและบริษัทจัดหางานเพื่อให้คนไปทำงานเป็นคนประจำเรือกันบ้าง

    เขาอยากได้คนประจำเรือแบบไหน และต้องเตรียมตัวหรือแผนงานอย่างไรในการที่จะจัดหาคนประจำเรือที่มีคุณภาพลงไปทำงานบนเรือของบริษัทฯ ได้อย่างพอเพียงเพื่อให้จัดส่งสินค้าถึงที่หมายปลายทางอย่างปลอดภัย มาครับผมจะเล่าให้ฟัง

    แน่นอนครับ สิ่งที่เจ้าของเรือและบริษัทจัดหางานเพื่อให้คนไปทำงานเป็นคนประจำเรือต้องทราบคือ จำนวนคนประจำเรือที่ต้องมีในกองเรือของตัวเองในตำแหน่งต่าง ๆ และต้องเป็นคนประจำเรือที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประเภทเรือของตัวเอง เพราะการจะหาคนไปลงเรือไม่ได้ง่าย ๆ เหมือนสมัยก่อน

    ผมจำได้สมัยผมเป็นนักเรียนฝึก หากบริษัทฯ จะหาใครสักคนไปเป็นพ่อครัวบนเรือ อาจไปจีบพ่อค้าขายอาหารตามสั่งตรงหน้าปากซอยแถวบ้านไปลงเรือได้เลย เอกสารที่ต้องใช้ในการลงเรือก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย แต่ ณ ปัจจุบัน ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว พ่อครัวที่จะไปลงเรือต้องผ่านการอบรมเกี่ยวกับการทำอาหารและโภชนาการจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตลอดจนเข้ารับการฝึกอบรมตามที่ STCW กำหนดอีกมากมาย เป็นต้น นี่แค่ยกตัวอย่างในตำแหน่งเดียวนะครับ ในตำแหน่งที่สูง ๆ ขึ้นยิ่งวุ่นวายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

     

    คุณสมบัติประจำตัวคนประจำเรือที่ควรมองหาเพื่อใช้คัดเลือก

    คุณภาพของคนประจำเรือเป็นเรื่องสำคัญครับ นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติและประกาศนียบัตรตามที่ STCW กำหนดตามประเภทและขนาดของเรือแล้ว เจ้าของเรือควรมองหาคนประจำเรือที่มีคุณสมบัติและลักษณะบุคลิกภาพดังต่อไปนี้เพื่อให้มาทำงานกับบริษัทฯ ครับ รับรองไม่ผิดหวัง

    1. มีการตัดสินใจที่ดี
    การตัดสินใจต้องควบคู่กับการคิดอย่างมีวิจารณญาณครับ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติจำเป็นสำหรับคนประจำเรือในฝันของเจ้าของเรือครับ เช่น ในสถานการณ์สภาพอากาศเลวร้ายหรือเกิดความผิดปกติของเครื่องจักรใหญ่ คนประจำเรือควรคิดได้อย่างรวดเร็ว สามารถประสานงานและแก้ไขปัญหาได้ครับ

    2. ทำงานเป็นทีมได้ดี
    การทำงานบนเรือไม่ใช่งานแบบตัวใครตัวมันครับ ลงเรือลำเดียวกันแล้ว ทุกคนต้องช่วยกัน คนประจำเรือต้องสามารถทำงานเป็นทีมได้ เจ้าของเรือทุกคนคาดหวังว่าคนประจำเรือควรเป็นมิตร มีทัศนคติที่ดี และความร่วมมือกันในการทำงาน ซึ่งก็จะส่งผลให้ความเป็นอยู่โดยรวมดีขึ้น

    3. มีสติสัมปชัญญะถึงพร้อม
    อาจฟังดูแปลก ๆ หน่อยนะครับข้อนี้ คนประจำเรือที่ดีต้องเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะครับ คือต้องเป็นคนที่ควบคุมแรงกระตุ้นต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย และมีพฤติกรรมที่มุ่งทำเป้าหมายให้สำเร็จ มีการวางแผนล่วงหน้าและใส่ใจในรายละเอียด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนประจำเรือทำงานที่สำคัญเสร็จโดยไม่ชักช้า

    4. ปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น
    เจ้าของเรือมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับคนประจำเรือในเรื่องนี้ เวลาหาคนประจำเรือใหม่ ๆ มาลงเรือ การต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ความสามารถในการปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญเลยครับ คือต้องเปิดใจกว้างและยืดหยุ่นด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ เมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังหรือวางแผนไว้ คนประจำเรือต้องพร้อมที่จะมองสถานการณ์ในรูปแบบใหม่เพื่อหาทางออกอื่น

    5. แก้ไขข้อขัดแย้งด้วยความละมุนละม่อม
    โดยเฉพาะเวลาเจ้าของเรือมีคนประจำเรือบนเรือหลายสัญชาติ ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมเป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่สำคัญ การตอบสนองต่อความขัดแย้งแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป การจัดการกับความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสงบเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งจะทำให้มีโอกาสในการพูดคุยกันเพื่อแก้ไขให้สถานการณ์ดีขึ้น

    6. มีความเป็นผู้นำ
    ข้อนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นคนประจำเรือในการทำงานในทะเลอย่างปลอดภัยเลยทีเดียวครับ เพราะเมื่อเขาเป็นผู้นำ เขาจะให้ความสำคัญกับผู้ปฎิบัติงาน และลูกน้องก็จะเชื่อฟังในสิ่งที่เขาพูด

    7. สื่อสารได้ด้วยความเข้าใจ
    โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ควรจะพูดได้ครับ โดยเฉพาะถ้าท่านเจ้าของเรือทั้งหลายมีคนประจำเรือหลายสัญชาติบนเรือ เพราะถ้าได้คนประจำเรือที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ อาจส่งผลถึงความปลอดภัยของเรือได้เลยทีเดียว เพราะสั่งอย่างอาจทำอีกอย่าง

    8. มีวิธีรับมือกับความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ
    ก่อนจะรับคนเข้าทำงานด้วย เจ้าของเรือบางบริษัทฯ มีบททดสอบความเครียดหรือทัศนคติคนประจำเรือด้วย การทำงานบนเรือคนประจำเรือต้องจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ เจ้าของเรืออาจแนะนำคนประจำเรือในเรื่องต่อไปนี้นะครับ เมื่อเขาเกิดความเครียด

    • ลองคิดบวกอยู่เสมอและทำสิ่งที่ทำให้มีความสุขมากขึ้น
    • อย่าปล่อยให้ตัวเองเหงา ให้พยายามพูดคุยหรือบอกเล่าถึงความคิดของคุณกับคนอื่นบ่อย ๆ
    • หายใจเข้าเมื่อรู้สึกกดดัน ให้หยุดสักครู่และให้ความสนใจกับลมหายใจเพื่อให้รู้สึกสงบ
    • วางแผนบริหารเวลาและจัดระเบียบงานของคุณ และใช้เวลาอย่างมีคุณภาพเมื่อเลิกงาน

     

    9. การตระหนักรู้ในตนเอง
    คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง (EQ) มักจะมีความตระหนักในตนเองสูง หมายความว่า มีความสามารถในการรับรู้อารมณ์และผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ประโยชน์ของการตระหนักรู้ในตนเองนั้นยอดเยี่ยมมาก เนื่องจากจะดึงดูดความไว้วางใจจากผู้อื่นและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง

    สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท่านเจ้าของเรือควรค้นหาจากคนประจำเรือของตัวเองให้เจอครับ เพราะมันจะส่งผลให้เรือของท่านมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

     

    ข้อมูลพื้นฐานที่ควรมีสำหรับวางแผนงานจัดหาและดูแลคนประจำเรือ

    นอกจากคุณภาพแล้ว เจ้าของเรือหรือบริษัทจัดหางานเพื่อให้คนไปทำงานเป็นคนประจำเรือต้องมีข้อมูลดังที่จะเล่าต่อไปนี้ไว้ในมือ เพื่อวางแผนการจัดหาคนประจำเรือให้เหมาะสมและเพียงตอต่อความต้องการของตัวเองครับ

    1. จำนวนเรือและคนประจำเรือที่จะลงทำการในเรือให้ครบตาม Minimum Safe Manning Certificate (MSMC) และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเรือด้วยนะครับ เช่น ใน MSMC อาจระบุว่าต้องมีนายท้าย 2 คน แต่มันอาจไม่เพียงพอกับการเข้ายาม Lookout คู่กับนายยามปากเรือ 3 คน เป็นต้น แผนการขยายกองเรือ ก็ต้องพิจารณาเรื่องการขยายจำนวนและคุณภาพคนประจำเรือในกองเรือควบคู่ไปด้วย
    2. คนเก่า ๆ ที่รู้ระบบงานของบริษัทฯ แล้ว ควรส่งเสริมและพัฒนาให้เขาเติบโตขึ้นกับบริษัทฯ เพื่อให้เขารักในองค์กรและอยู่กับบริษัทนานๆ ควรมี career path ที่ชัดเจนให้กับเขา และที่สำคัญมีแล้วต้องทำให้ได้นะครับ ไม่งั้นถ้าเขามีโอกาสที่อื่นที่ดีกว่า เขาคงตัดสินใจไม่ยากที่จะไปจากเรา
    3. สวัสดิการและรายได้ต้องสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมเดียวกัน การประหยัดเรื่องการดูแลสวัสดิการคนประจำเรือเป็นสิ่งที่เจ้าของเรือที่ไม่ใช่มืออาชีพมักทำกัน เพราะมันทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ได้ง่ายกว่า แต่หารู้ไม่ว่าเมื่อคุณได้คนที่ไม่ดีมาทำงานด้วยและสร้างปัญหาให้คุณ ค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาพวกนี้ มันมากกว่าการดูแลคนประจำเรือมากนัก
    4. จากการวิจัยซึ่งเตือนว่าคนประจำเรือจะยิ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าท่านเจ้าของเรือไม่รีบปรับตัว โอกาสที่คนประจำเรือเขาจะเลิกทำงานกับเราและไปแสวงหาสิ่งที่ดีกว่ามีสูงมาก ลองนึกถึงว่าท่านมีเรือแต่ไม่มีคนประจำเรือไปทำงาน ธุรกิจท่านจะเป็นอย่างไร
    5. การทำสัญญาจ้างกับคนประจำเรือ เจ้าของเรือก็ต้องพิจารณาให้เหมาะสมครับ หลักการทำสัญญาจ้างก็มี 2 แบบคือ
      • การทำแบบ Collective Bargaining Agreement (CBA) ซึ่งการทำสัญญาแบบนี้ คนประจำเรือเขาจะมาทำสัญญากับท่านผ่านสหภาพแรงงานครับ ซึ่งตอนนี้ในประเทศไทย คนประจำเรือไทยทำไม่ได้ เพราะไม่มีสหภาพแรงงานคนประจำเรืออย่างเป็นทางการ ผมเห็นเขาพยายามจะจัดตั้งกันอยู่ แต่ก็ยังไปไม่ถึงไหน
      • ส่วนสัญญาอีกแบบ เรียกว่า Seafarer Employment Agreement (SEA) ก็เป็นสัญญาจ้างที่เจ้าของเรือทำกับคนประจำเรือโดยตรง ค่าจ้างต่างๆ ก็ตามแต่ตกลงกัน ในส่วนของ SEA ในบ้านเรายังแบ่งเป็นการทำสัญญาแบบพนักงานประจำ (Permanent) กับพนักงานสัญญาจ้าง (Contract) อีก ซึ่งเท่าที่เห็นส่วนใหญ่เรือที่จดทะเบียนเป็น Local Trade จะจ้างคนประจำเรือแบบนี้ เพราะมีคนทำงานที่แน่นอน ไม่ต้องไปหาคนใหม่ แต่ก็ต้องดูแลตามกฎหมายแรงงาน เช่น มีประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น ส่วนเรือที่จดทะเบียนเป็น Near Coastal กับ International Voyage มักจะจ้างคนประจำเรือเป็นแบบ Contract มากกว่า พอช่วงที่คนประจำเรือลาพัก ก็ไม่ต้องดูแลในเรื่องค่ารักษาพยาบาลอะไร แต่ก็ต้องเสี่ยงหน่อย เพราะคนประจำเรืออาจไม่กลับมาทำงานด้วย ถ้าเขามีที่อื่นที่ดีกว่า

     

    การเตรียมพร้อมคนประจำเรือให้เพียงพอในอนาคต นอกจากการดูแลเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการให้จูงใจคนประจำเรือแล้ว การใช้บริการบริษัทจัดหางานเพื่อให้คนไปทำงานเป็นคนประจำเรือที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองจากกรมการจัดหางานก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ก็ต้องสื่อสารให้บริษัทฯ เหล่านั้นทราบเกี่ยวกับทิศทางการเติบโตของบริษัทฯ เพื่อจะได้เตรียมคนประจำเรือให้เพียงพอต่อความต้องการ หรือเจ้าของเรือเองอาจร่วมมือกับสถาบันการฝึกอบรมทางทะเล เพื่อผลิตคนประจำเรือของตัวเองได้ด้วย อาจเป็นในรูปของการให้ทุนการศึกษากับคนที่สนใจที่จะมาเป็นคนประจำเรือ หลังจากเรียนจบก็รับเข้าทำงานกับบริษัทฯ และอาจมีข้อผูกมัดหรือสัญญาใจกันไว้ว่าจะทำงานกับบริษัทฯ เป็นระยะเวลาอย่างน้อยกี่ปี แต่คนประจำเรือก็นานาจิตตังแหละครับ บางคนบริษัทฯ จะให้ทุน แต่พอรู้ว่าต้องมีข้อผูกมัดกลับมาทำงานกับบริษัทฯ หรือเรียกว่าใช้ทุนก็ได้ หลังจากจบการศึกษาก็ปฏิเสธไปก็มีเหมือนกัน

    ถ้าเป็นสมาชิกของสมาคมเจ้าของเรือไทย อาจจะให้ทางสมาคมฯ ช่วยเจรจากับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการผลิตบุคลากรทางด้านพาณิชยนาวีของประเทศให้ช่วยผลักดัน และส่งเสริมการผลิตคนประจำเรือในตำแหน่งที่กำลังขาดแคลน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดครับ

     

    แนวโน้มจำนวนผู้คนที่สนใจก้าวเข้าสู่อาชีพคนประจำเรือในปัจจุบัน

    หันมาดูแรงงานของคนประจำเรือโลกในปัจุบันกันบ้างครับว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง พบว่าในปี 2021 นั้นคาดว่ามีคนที่ก้าวเข้าสู่หรือยึดอาชีพคนประจำเรือในตลาดทั่วโลกอยู่ที่ 1,892,720 คน โดยแยกเป็นนายประจำเรือ (officer) 857,540 คนและลูกเรือ (rating) 1,035,180 คน ซึ่งก็จะสอดคล้องกับตัวเลขความต้องการคนประจำเรือที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งในตำแหน่งนายประจำเรือและลูกเรือที่ผ่านการอบรมตามมาตรฐาน

    จะเห็นได้ว่ามีคนเข้ามาในระบบการเรียนการฝึกอบรมทางทะเลที่มากขึ้น ซึ่งอาจเพราะมีการสนับสนุนโปรโมตการเรียนการฝึกอบรมให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ทันและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด หรืออาจเพราะผู้คนมองเห็นโอกาสของของตำแหน่งงานบนเรือ

    มีข้อสังเกตว่าตำแหน่งลูกเรือเป็นที่ต้องการมากกว่า เหตุผลง่าย ๆ ก็เช่นบนเรือมีกัปตันแค่ 1 คน แต่ต้องมีนายท้ายถึง 3 คนบนเรือ แต่ถึงแม้ตำแหน่งลูกเรือจะผ่านเกฎฑ์การฝึกง่ายที่ง่ายกว่า แต่แปลกครับ ในวงการเรือบ้านเรากลับค่อนข้างคลาดแคลนในปัจจุบัน

    แล้วถ้าท่านเจ้าของเรืออยากหาคนประจำเรือมาทำงาน อยากทราบไหมครับ ว่าคนสัญชาติไหนเป็นคนประจำเรือมากที่สุดในโลก? ผมมีสถิติมาให้ดูเล่น ๆ กันครับ โดยประเทศที่ผลิตคนประจำเรือสู่ตลาดแรงงานคนประจำเรือโลกมากที่สุด 5 ลำดับแรกเป็นไปตามตารางด้านล่าง โดยทั้ง 5 ประเทศนี้รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วน 44% ของตลาดแรงงานคนประจำเรือทั้งโลกเลยทีเดียว

    ประมาณการประเทศที่ส่งคนประจำเรือเข้าสู่ตลาดโลกมากที่สุด

    Five largest seafarer supply countries

    ผมว่าปัจจุบัน ท่านเจ้าของเรือส่วนใหญ่ คงใช้บริการคนประจำเรือที่เป็นสุภาพบุรุษกันเป็นส่วนมาก แล้วในอนาคตจะมีผู้หญิงเป็นคนประจำเรือของท่านไหม? ผมว่าถึงเวลาที่ท่านต้องวางนโยบายในเรื่องนี้แล้วล่ะครับ เพราะ IMO กำหนดเรื่องความเท่าเทียมกันของคนประจำเรือทั้งหญิงและชาย ซึ่งก็ทำให้มีแนวโน้มที่สาว ๆ จะเข้าสู่วงการเรือมากขึ้นแน่นอน

    ปัจจุบัน คาดว่ามีผู้หญิงทั่วโลกที่ผ่านการอบรมในระบบ STCW ราว ๆ 24,059 คน โดยเป็นระดับนายประจำเรือ 7,289 คนและระดับลูกเรือ 16,770 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2015 แล้วก็พบว่าเพิ่มขึ้นมาถึง 45.8% นั่นทำให้มีสัดส่วนผู้หญิงในตลาดแรงงานคนประจำเรือของโลกจากเดิมที่มีเพียง 0.96% กลายเป็น 1.28%

    ถึงเวลาต้องปรับตัวกันแล้วครับท่านเจ้าของเรือ ถ้าท่านยังอยากให้ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลของท่านเจริญเติบโตยิ่ง ๆ ขึ้นไป ท่านจะต้องดูแลคนประจำเรือของท่านให้ดี ๆ สร้างพวกเขาให้มีคุณภาพ เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายที่แอบแฝงทั้งหลาย ซึ่งผมว่าบางทีอาจจะมากกว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลคนประจำเรือด้วยซ้ำไปแล้วพบกันใหม่ในครั้งหน้าครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: มกราคม ค.ศ. 2022

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *