ผมเป็นคนประจำเรือมืออาชีพ: สละเรือใหญ่ก่อนจะจบการศึกษา

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    ความเดิมจากตอนที่แล้ว ผมเล่าถึงการเข้าไปเป็นนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ของศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีแล้วจบลงตรงการเลือกบริษัทเรือต่อจากเพื่อน ๆ ในเกือบลำดับท้าย ๆ ของรุ่น ซึ่งได้นำพาผมไปพบกับประสบการณ์ที่ผมจะไม่ลืมไปชั่วชีวิต ส่วนจะเป็นเรื่องอะไร ผมจะเล่าต่อให้ฟังกันครับ
     

    ทางเลือกจำกัดแต่เลือกเก็บเกี่ยวเรียนรู้ให้มากที่สุด

    หลังจากเพื่อน ๆ เลือกบริษัทเรือไปกันหมดแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเลือกลงเรือบรรทุกสินค้าทั่วไปที่วิ่งไปญี่ปุ่นและยุโรปกัน เพราะบางลำได้ลงตำแหน่ง 3/Offr หรือ 4/Engr แทนตำแหน่งนักเรียนฝึก ทำให้ได้เงินเดือนสูงขึ้นด้วย ส่วนผมถูกบังคับเลือกให้ไปลงเรือคอนเทนเนอร์กับบริษัทเบอร์หนึ่งของประเทศไทย จริง ๆ ก็เป็นบริษัทชั้นนำเลยนะครับ แต่ด้วยความเป็นเรือคอนเทนเนอร์ ทำให้ไม่มีเวลาจอดในเมืองท่านานมากเท่าไร ซึ่งเราไม่ค่อยชอบกัน และที่สำคัญมีรุ่นพี่ที่จบจากศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีทั้งนั้นที่ทำงานบนเรือ เรียกว่าผมกลับไปเป็นน้องเล็กอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่อุตส่าห์ฝ่าฟันเป็นนักเรียนรุ่นพี่ที่โรงเรียน เรือลำแรกที่ผมถูกส่งไปฝึกงาน เป็นเรือที่มีสะพานเดินเรืออยู่หัวเรือชื่อเสียงก้องในแม่น้ำเจ้าพระยา เธอชื่อว่า ‘มหาภูมิ’

    เรือลำนี้เป็นเรือ Container Feeder วิ่งขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือคลองเตยและสิงค์โปร์ สมัยก่อนจอดในเมืองท่าประมาณ 2 วัน ในใจผมคิดตอนแรกว่า คงแทบไม่ได้ทำอะไรเลย แต่พอบริหารจัดการดี ๆ บางทีผมว่ามันนานไปด้วยซ้ำ

    ผมไปลงเรือครั้งแรก กัปตันของผมเป็นทหารเรือเก่าและได้สรั่งที่เดินเรือมาแล้วรอบโลกเป็นครูสอนคนแรก ต้นเรือเป็นรุ่นพี่ที่มีการบ้านให้ผมทำทุกวัน ผมหาสมุดจดหนึ่งเล่มเพื่อจดความรู้ทุกอย่างลงไปในนั้น มีวาดรูปประกอบด้วย จนต่อมาสมุดเล่มนั้นเป็นของมีค่ามากสำหรับน้อง ๆ รุ่นหลัง ๆ ที่พากันไปถ่ายเอกสารเป็นคัมภีร์กัน ทุกอย่างที่เรียนไปจากโรงเรียน ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง เรียกว่าแทบต้องไปหาความรู้ใหม่ทั้งหมดบนเรือ

    ผมอยากจะบอกเด็ก ๆ รุ่นใหม่ว่า ต้องขยันให้มาก ๆ นะครับ หาความรู้ในประเภทของเรือที่เราจะไปลงฝึกเยอะ ๆ และในการไปเป็นนักเรียนฝึกบนเรือบรรทุกสินค้า และให้คิดเสมอว่าทุกคนคือครูของเรา รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนแล้วจะรุ่ง

    เรือลำนี้ถือว่าเป็นเรือครูในเรื่องการนำเรือของผมเลย สมัยก่อนยังไม่มี GPS ที่เรือ ที่ได้ชัวร์ ๆ ก็มาจาก SATNAV ที่นาน ๆ ครั้งจะ Fix ที่เรือมาให้สักที นอกนั้นก็ใช้ที่เรือชายฝั่ง การ DR หรือดาราศาสตร์ล้วน ๆ ผมเคยถูกพี่กัปตันให้หาที่เรือดาราศาสตร์แล้วเอาที่เรือที่ผมคำนวณตำบลที่เรือเพื่อไปส่งเป็นที่เรือเที่ยงให้ทาง office เรียกว่าต้องแม่นกันจริง ๆ ผมคำนวณที่เรือดาราศาสตร์จนเขาขั้นเซียนเหยียบเมฆเลย ทั้งดวงอาทิตย์และดาว นั่นเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการมีรุ่นพี่บนเรือ

    เนื่องจากเรือต้องเข้าออกร่องน้ำเจ้าพระยาทุกอาทิตย์ ทำให้ผมซึบซับเทคนิคการนำเรือในร่องน้ำจากบรรดาเจ้าพนักงานนำร่องและพี่กัปตันมาโดยไม่รู้ตัว และด้วยความที่เรือที่ผมอยู่เป็นเรือปราบเซียน เที่ยวไหนที่สินค้าเยอะ ๆ แล้วอัตรากินน้ำลึกของเรือปริ่ม ๆ กับระดับความลึกของน้ำในร่องน้ำแล้วละก็ จะได้ลุ้นทุกเที่ยว โดยเฉพาะตามบริเวณทางโค้ง หรือจุดเลี้ยวต่าง ๆ เคยเห็นไหมครับว่าเรือต้องเปลี่ยนเข็มไปทางซ้าย ใช้หางเสือซ้ายหมดประกอบกับใช้ Bow Thruster เป่าไปทางซ้ายหมด หัวเรือดันหันไปทางขวาเฉยเลย เจ้าพนักงานนำร่องมือใหม่ ๆ บางท่านถึงขนาดปลุกพระกันเลยทีเดียว ด้วยความเป็นนักเรียนฝึก ผมต้องขึ้นไปอยู่บนสะพานเพื่อโยก Telegraph ตลอด เห็นอาการแบบนี้จนชินแล้วรู้ว่ามันต้องแก้ยังไง ทำให้ผมไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่เวลาเจอเหตุการณ์คับขัน แล้วมันก็ติดตัวผมไปจนถึงเป็นกัปตัน

    ช่วงเป็นนักเรียนฝึกช่วงปลาย ๆ นั้นเป็นช่วงที่ขาดตำแหน่ง 3/Offr ทำให้ผมต้องทำหน้าที่ทุกอย่างของ 3/Offr ทั้งเข้าเวรเรือเดินและเข้าเวรสินค้า จนช่วงใกล้จะครบกำหนดเวลาการฝึก ผมก็ได้รับการโปรโมตให้ไปเป็น 3/Offr ตัวจริงบนเรือลำหนึ่งของบริษัทที่ชื่อเรือ ‘เบญจภูมิ’ และที่เรือลำนั้น ผมก็ต้องพบกับประสบการณ์ที่ผมจะไม่มีวันลืมชั่วชีวิต
     

    ฝันร้ายที่ขอให้เป็นบทเรียนครั้งเดียวที่เกินพอ

    เรือเบญจภูมิวิ่งให้บริการระหว่างสิงค์โปร์กับจาการ์ต้าของอินโดนีเซีย เป็นเรือที่เก่าแล้ว นายประจำเรือส่วนใหญ่ก็เป็นชาวเมียนมาร์ ซึ่งก็ไม่ปัญหาอะไร ผมสามารถปรับตัวให้เข้ากับพวกเขาได้อย่างกลมกลืน และผมก็มีกัปตันเป็นคนไทยซึ่งเป็นทหารเรือเก่า (อีกครั้ง) แกอายุเยอะและเดินไม่ค่อยจะคล่องแล้ว แต่ที่จำแกได้แม่นคือที่คอของแกจะห้อยพระสมเด็จบางขุนพรหมเลี่ยมทองของแท้เอาไว้ แกบินไปลงเรือพร้อมกับผมที่สิงค์โปร์ครับ

    หลังจากได้เป็น 3/Offr เต็มตัว ผมก็ได้เงินดือนเพิ่มขึ้นมาก อะไรที่หมายปองว่าอยากได้ก็ซื้อมาเป็นของตัวเองหมด ห้องผมเต็มไปด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องเสียงดี ๆ แบบที่อยากได้ วิทยุระบบ Shortwave ที่สามารถฟังวิทยุได้ทั่วโลก ผมก็มี แว่นตา AO รุ่นล่าสุด เรียกว่าสนองความฝันของตัวเองเต็มที่ ผมทำงานบนเรือได้จะเกือบ 3 เดือนก็เกิดเรื่องที่ผมต้องจดจำไปชั่วชีวิตขึ้น

    เย็นวันหนึ่งเรือออกจากสิงค์โปร์ หลังจากผมส่งเจ้าพนักงานนำร่องลงจากเรือและออกยามแล้ว ผมก็ลงไปพักผ่อนในห้อง สักพักหนึ่งได้ยินเสียง Fire Alarm ดังลั่นไปหมด

    ผมเปิดประตูห้องเพื่อจะออกไปดูเหตุการณ์ ก็ต้องผงะเมื่อควันไฟลอยปะทะเข้ามา ผมรีบก้มต่ำ แล้ววิ่งออกจากห้องไปที่จุดรวมพล แล้วก็ทราบจากต้นเรือว่า ไฟไหม้ในห้องเครื่องจากท่อน้ำมันเชื้อเพลิงแตกแล้วฉีดไปที่ท่อแก๊สเสียซึ่งร้อนทำให้เกิดการติดไฟ ช่างน้ำมันที่เข้ายามอยู่พยายามจะดับด้วยถังดับเพลิงแต่เอาไม่อยู่ เลยกด Alarm แล้ววิ่งออกมาจากห้องเครื่อง

    หลังจากไปรวมพลตรวจสอบว่าไม่มีคนหายแล้ว เราเริ่มทำการดับเพลิง โดยกัปตันตัดสินใจให้ปล่อย CO2 Flooding System เพื่อจะไปดับไฟในห้องเครื่อง ผมถูกส่งให้ไปช่วยปิดระบบระบายอากาศที่จะลงไปสู่ห้องเครื่อง แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถปิดได้สนิทเนื่องจากติดสนิม และในที่สุดกัปตันก็สั่งให้ปล่อย CO2 ลงไปดับไฟ ผมจำได้ว่าตอนนั้นวุ่นวายมาก เพราะเราหากุญแจเปิดห้อง CO2 กันไม่ได้เพราะต้นหนเก็บไว้ในห้อง และควันไฟเริ่มลามเข้าสู่บริเวณที่พักอาศัยแล้วทำให้ขึ้นไปเอากุญแจไม่ได้ ในที่สุดต้องใช้ขวานจามกันที่กุญแจที่ล๊อคอยู่ถึงเปิดออกมาได้ พอเข้าไปเปิดระบบ CO2 อีท่าไหนไม่ทราบตอนสับ main valve จะด้วยความตกใจหรืออะไรไม่รู้ คนประจำเรือที่รับผิดชอบในการปล่อย CO2 ดันสับ main valve ไปที่ระวางสินค้าแทนที่จะไปห้องเครื่อง ทำให้ CO2 ถูกปล่อยไปผิดที่ จนในที่สุดเราก็ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้

    เพลิงเริ่มลามขึ้นจากห้องเครื่องไปติดเรือช่วยชีวิตทั้ง 2 ลำ ตอนนั้นผมนึกในใจ ถ้าเกิดต้องสละเรือใหญ่จะไปยังไงเนี้ย แล้วสุดท้ายไฟก็เริ่มลามไปติดบริเวณที่พักอาศัย จนกัปตันเห็นว่าไม่ไหวแล้ว เลยเรียก Mayday ขอความช่วยเหลือทาง VHF ช่อง 16 โชคดีที่ยังออกไปไม่พ้น Singapore Strait ดี ทำให้หน่วย Coast Guard ของ Singapore รับสัญญาณขอความช่วยเหลือของเราได้และวิ่งออกมาช่วย ช่วงนั้นไฟกำลังไหม้ห้องเครื่องอย่างหนักจนถังอ๊อกซิเจนและถังอะเซทิลีนที่เก็บไว้ในห้องเครื่องเริ่มระเบิดเกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว

    ที่สุดแล้ว กัปตันเห็นท่าไม่ดีจึงสั่งสละเรือใหญ่ ผมยังต้องวิ่งกลั้นหายใจไปประคองกัปตันแกให้ลงมาจากสะพานเดินเรือ ประมาณ 5 ทุ่มกว่า ๆ เราจึงอพยพกันลงไปที่เรือของ Coast Guard ด้วยบันไดนำร่อง ขณะที่ผมกำลังปีนลงไป ผมยังบอกตัวเองว่า นี่เราไม่ได้ฝันไปใช่ไหม ผมมีแค่กางเกงขาสั้นกับเสื้อยืดอีก 1 ตัวแค่นั้นเอง สมบัติทุกอย่างอยู่ในห้องและไหม้ไปกับกองเพลิงจนหมด ผมไปอยู่ในเรือของ Coast Guard ได้สักพักก็มีเจ้าหน้าที่ของเรือกู้ภัย (Salvage) เอาเรือเล็กเข้ามาเทียบเรือที่ผมอยู่และถามหากัปตันเพื่อจะให้เซ็นสัญญา Salvage Agreement (No cure, No pay) ก่อนจะเข้าไปช่วยเรือที่กำลังไฟไหม้อย่างหนัก กัปตันแกก็นึกว่าบริษัทส่งมาก็เลยเซ็นไป ผลจากการเซ็นในครั้งนั้นทำให้มีเรื่องทางกฎหมายตามมาอีกมากมาย ผมลอยลำบนเรือของ Coast Guard ดูเรือของตัวเองไฟไหม้ต่อหน้าต่อตาและปฏิญาณกับตัวเองว่า ในอนาคตจะต้องไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับผม หรือถ้ามันเกิดขึ้น ผมจะต้องควบคุมมันได้จากการใช้อุปกรณ์ Life Saving Appliance และ Fire Fighting Apparatus ที่ถูกต้องและทันต่อสถานการณ์

    จนตีสองกว่า ๆ ผมถูกนำกลับไปขึ้นฝั่งที่ Singapore ได้พักผ่อนนิดหน่อย ทางบริษัทก็ให้ทนายความและเจ้าหน้าที่ประกันภัยทางทะเลมาสอบสวนลูกเรือทุกคน พวก Senior Office ถูกแยกสอบอีกที่หนึ่ง ส่วน Junior Officer และลูกเรือถูกสอบพร้อม ๆ กับผม

    ผมถูกบริษัทขอร้องให้เป็นล่ามให้ลูกเรือทุกคนด้วย เพราะเขาพูดภาษาอังกฤษกันไม่ค่อยได้ ช่วงนั้นผมก็ไม่ได้เก่งอะไร ในวันแรก ๆ ก็ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ผมต้องนั่งอยู่ในห้องสวบสวนพร้อมกับลูกเรือทีละคนตั้งแต่ 0800 ถึง 1800 ของแต่ละวัน ทั้งหมด 7 วัน จนวันหลัง ๆ ผมเริ่มแปลกใจตัวเองว่าทำไมฟังรู้เรื่องมากขึ้น ก็คงเป็นเพราะผมฟังมันทุกวัน จนหูมันชินและฟังรู้เรื่อง ผมจึงถึงบางอ้อว่า ถ้าอยากพูดฟังภาษาอังกฤษได้ ให้ใช้มันเป็นประจำและบ่อย ๆ เดี๋ยวมันก็ใช้ได้เอง หลังจากลูกเรือถูกสอบสวนครบทุกคนโดยมีผมเป็นล่ามให้ ผมก็ได้บินกลับบ้านถึงเมืองไทยพ่อกับแม่ก็งงว่าทำไมลูกชายกลับมาก่อนครบเวลาฝึก พอผมเล่าให้ฟังว่าผมสละเรือใหญ่มา ทีแรกพวกแกยังไม่ค่อยจะเชื่อกันด้วยซ้ำ

    พอกลับมาทำเรื่องจบการศึกษา ผมเป็นคนเดียวของรุ่นที่ไม่ได้ทำรายงานก่อนจบเพราะมันไหม้ไปกับกองเพลิงแล้ว แต่ก็ต้องต่อรองกับทางศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีจนเหนื่อยเลยล่ะกว่าจะยอม นั่นคือปี 2536 หรือ 30 ปีที่แล้วนั่นเอง แต่เชื่อไหมครับ ผมยังจำเรื่องราวทุกอย่างได้อย่างแม่นยำเหมือนเพิ่งจะเกิดขึ้นมาเมื่อวานนี้เอง

    หลังจากได้รับประกาศนียบัตรต้นหนแล้ว ผมก็กลับไปลงเรือทำงานเป็นคนประจำเรือบนเรือคอนเทนเนอร์อีกครั้ง ผมยังมีเรื่องราวสนุก ๆ มาเล่าให้ฟังอีกเยอะแยะเลย ไว้อ่านต่อในตอนหน้านะครับ

    ก่อนจบใน EP.2 นี้ อยากจะบอกคนประจำเรือทุกคนว่า การใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างคล่องแคล่วและดูแลรักษาอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ บนเรือให้ใช้งานได้ ตลอดจนการฝึกประจำสถานีต่าง ๆ ในกรณีฉุกเฉินอย่างจริงจังให้เกิดความคุ้นเคยเป็นเรื่องสำคัญมากนะครับ ภาษิตของทหารรบพิเศษบอกว่า ‘ฝึกยังไงรบอย่างนั้น’ คนประจำเรือก็เช่นกัน ในสถานการณ์ฉุกเฉิน คุณต้องเร็วและทำให้ถูกถึงจะรอด ถ้าคุณดูแลอุปกรณ์เหล่านั้นดีช่วงเวลาปกติ ถึงเวลาที่ต้องใช้มัน มันก็จะดูแลคุณได้ดีเช่นกันครับ

    เอาใจช่วยให้คนประจำเรือทุกคนไม่ต้องสละเรือใหญ่เหมือนกับผมนะครับ แล้วเจอกันต่อในตอนหน้าครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: มิถุนายน ค.ศ. 2023