สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor Blog ทุกท่าน
ถ้าใครเป็นคนประจำเรือคงจะคุ้นเคยกับคำว่า Life Saving Appliance (LSA) แต่ถ้าไม่เคยทำงานบนเรือมาก่อน และอยากจะลองเดาว่ามันหมายถึงอะไร ก็แปลตรง ๆ จากหลังมาหน้าได้เลยครับ มันก็คือ ‘อุปกรณ์ช่วยชีวิต’ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำงานในทะเล
อุปกรณ์ช่วยชีวิตก็จะมีเรือช่วยชีวิต, แพช่วยชีวิต, เสื้อชูชีพ, ห่วงชูชีพ, พลุไฟต่าง ๆ ฯลฯ คนประจำเรือทุกคนต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้เป็นครับ แต่สุภาพบุรุษที่ผมจะเล่าเรื่องราวของเขาให้พวกเราฟังกันนี้ นอกจากจะใช้เป็นแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องดูแลอุปกรณ์ช่วยชีวิตทั้งหมดให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาอีกด้วย ขอพาพวกเราไปทำความรู้จักกับตำแหน่ง ‘ผู้ช่วยต้นเรือ’ หรือ Third Officer หรือ 3/O (สามโอ) กันครับ
อยากเป็นนายประจำเรือต้องผ่านผู้ช่วยต้นเรือก่อน
แรก ๆ ตอนลงฝึกงานบนเรือบรรทุกสินค้า ผมยังไม่รู้จักตำแหน่งต่าง ๆ เท่าไหร่ ผมเข้าใจว่าตำแหน่งผู้ช่วยต้นเรือน่าจะเป็นตำแหน่งที่รองจากต้นเรือ แล้วต้นหนน่าจะเป็นตำแหน่งนายยามฝ่ายปากเรือตำแหน่งแรก แต่พอไปลงเรือถึงทราบว่า ผมเข้าใจผิด
ผู้ช่วยต้นเรือคือตำแหน่งแรกที่คนประจำเรือฝ่ายเดินเรือในระดับลูกเรือจะก้าวขึ้นมาสู่นายประจำเรือฝ่ายเดินเรือ (Deck Officer) ซึ่งตำแหน่งแรกในที่นี้ก็หมายความว่า ถ้าเขาได้เริ่มต้นจากผู้ช่วยต้นเรือแล้วละก็ เขาก็สามารถก้าวขึ้นเป็นกัปตันเรือในอนาคตได้ครับ
ผมได้มีโอกาสทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้ช่วยต้นเรือ หรือ Third Officer ตอนฝึกภาคทะเลปี 5 ก่อนจบการศึกษา และเป็นช่วงที่ผมจะไม่มีวันลืมเลยในชีวิต
ผมมีหน้าที่ดูแลอุปกรณ์ช่วยชีวิตทั้งหมดบนเรือโดยเฉพาะเรือช่วยชีวิต (Lifeboat) เรือที่ผมอยู่เป็นเรือรุ่นเก่า เรือช่วยชีวิตก็เป็นแบบเก่า เป็นแบบไม่มีหลังคาคลุม ช่วงนั้นเรือวิ่งให้บริการอยู่ระหว่างสิงคโปร์ไปเมืองจากาตาร์ที่อินโดนีเซีย ซึ่งขโมยชุมมาก ของหายตลอด ทำให้ผมต้องเก็บอุปกรณ์ประจำเรือช่วยชีวิตเข้าไปเก็บไว้ในห้องแล้วล็อกกุญแจ แทนที่จะเก็บไว้ในเรือ วันหนึ่งเรือเกิดไฟไหม้จากห้องเครื่องและลามขึ้นมาด้านบนจนไปติดที่เรือช่วยชีวิตและห้องเก็บอุปกรณ์ สุดท้ายไฟไหม้รุนแรงจนกัปตันต้องสั่งสละเรือใหญ่ แต่ไม่ได้ไปด้วยเรือช่วยชีวิตที่ผมดูแลมันนะครับ เพราะมันไหม้ไฟไปหมดแล้ว ต้องไปกับเรือยามฝั่งที่ออกมาช่วย ผมนึกในใจตอนนั้น ถ้าไม่มีเรือออกมาช่วย ผมคงต้องลงไปลอยคอในทะเลเป็นแน่แท้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมตระหนักว่า อุปกรณ์ช่วยชีวิตมันมีความสำคัญกับชีวิตผมมากขนาดไหน
หลังจากผมจบการศึกษาจากศุนย์ฝึกพาณิชยนาวี ผู้ช่วยต้นเรือคือตำแหน่งแรกที่ผมได้รับโอกาสครับ จำได้ว่าเรือลำแรกชื่อ ‘ปิยะภูมิ’ เป็นเรือคอนเทนเนอร์ที่มีสะพานเดินเรืออยู่ที่หัวเรือ เส้นทางแรกคือวิ่งขึ้นไปฮ่องกงและไต้หวัน เจอพายุกลางทะเลจีนใต้จนท้อไปหมด เรียกว่าเข้าเวรไป อาเจียนไป จนคิดถึงกับจะเลิกงานเรือเลยทีเดียว เพราะทรมานตลอดการเดินทาง ใครไม่เคยอยู่เรือที่สะพานเดินเรืออยู่หัวเรือ จะนึกภาพไม่ออกหรอกครับว่ามันทรมานขนาดไหนเวลาเรือโดนคลื่น เพราะหัวเรือจะเป็นบริเวณที่รับอาการมากที่สุด เมื่อก่อนใครเข้ายามผลัดผู้ช่วยต้นเรือ ทางเรือจะแจกมาม่าให้ 1 ลังกับไข่ให้ 1 แผง เพราะออกเวรมาเที่ยงคืนเกิดหิวจะได้มีอะไรรองท้อง ผมก็เอามาม่ากับไข่ไว้ในห้องพัก พอมันโดนคลื่น ไข่ทั้งแผงกระเด็นออกมาแตกเละเทะ แล้วก็ไหลไปไหลมาตามแรงคลื่นบนพื้นในห้อง เหม็นคลุ้งไปหมด เมาคลื่นออกเวรลงมาจากสะพานเดินเรือ พอจะนอนก็มาเจอเมาไข่ต่อ จะทำความสะอาดก็ไม่ไหว เพราะเรือเอียงไปเอียงมาจนยืนไม่อยู่ นั่นเป็นช่วงที่ผมคิดเลิกงานเรือเลยทีเดียว แต่พอนึกถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจ ตลอดจนไม่อยากให้พ่อกับแม่เสียใจ ผมก็เลยอยู่เรือต่อมาอีก 20 ปี นั่นเป็นความทรงจำสมัยเป็นผู้ช่วยต้นเรือที่จำได้แม่นเลยครับ
นอกจากผู้ช่วยต้นเรือจะต้องรับผิดชอบเรื่องอุปกรณ์ช่วยชีวิตทั้งหมดแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบพวกเครื่องเขียนบนเรือพวกสมุด ปากกา ดินสอ เทป โน่นนี่นั่น ก็ต้องคอยดูแลให้พร้อมใช้บนเรือ โดยต้องทำการเบิกไปที่ออฟฟิศ ซึ่งเวลาเบิกของบนเรือเขาจะอ้างอิงจาก ISSA (International Ship Suppliers Association) ครับ เพราะเป็นที่เข้าใจกันทั่วโลก โดย Supplier ทั่วโลกเขาก็จะอ้างอิงจากคู่มือเล่มนี้เช่นกัน ยกตัวอย่าง เราจะเบิกปากกาน้ำเงิน ก็ไปเปิด ISSA แล้วใส่โค้ดปากกาน้ำเงินเข้าไป สมมติว่าเป็น ‘code 671890’ ก็ใส่ไปตามนั้น เราก็จะได้ปากกาน้ำเงินมาใช้สมใจส่วนอยากได้ยี่ห้อไหนก็อาจต้องระบุเพิ่มไปหน่อยเท่านั้นเอง
งานอื่น ๆ ของผู้ช่วยต้นเรือ ก็ตามชื่อตำแหน่งเลยครับ แล้วแต่จะได้รับมอบหมายอะไร
ผู้ช่วยต้นเรือจะรับหน้าที่เข้ายามเรือเดินช่วง 0800-1200 และ 2000-2400 ครับ ซึ่งช่วงที่ 2 ที่เอาไว้ช่วงหัวค่ำเพราะกัปตันยังไม่นอน กัปตันจะได้ช่วยขึ้นไปช่วยดูได้บ่อย ๆ บนสะพานเดินเรือ ส่วนยามสินค้าเวลาเรือจอด ก็จะต้องเข้ายามช่วง 0600-1200 และ 1800-2400 สมัยก่อนเป็นช่วงเวลาเซ็งของผมเลย คิดดูละกัน เรือจอดเมืองท่า เย็น ๆ มันช่วงเวลาออกไปเที่ยวดูบ้านดูเมืองเขา กลับต้องมาเข้ายามสินค้าที่เรือแทน
Photo by Mark König on Unsplash
คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ช่วยต้นเรือ
ตำแหน่งผู้ช่วยต้นเรือถือเป็นฝ่ายเดินเรือระดับปฏิบัติการ (Junior Officer) บนเรือตาม STCW Regulation II/1 ครับ โดยจะถือประกาศนียบัตร ‘Officer in charge of a navigational watch on ships of 500 gross tonnage or more’ และต้องผ่านหลักสูตรอบรมตามมาตรฐานที่ STCW กำหนดดังนี้ครับ (นี่ไม่นับการอบรมพิเศษต่าง ๆ กรณีไปลงเรือแบบต่าง ๆ เช่น เรือบรรทุกน้ำมัน เรือบรรทุกแก๊ส เป็นต้น)
- หลักสูตร Elementary First Aid (IMO Model Course 1.13)
- หลักสูตร Personal Survival Techniques (IMO Model Course 1.19)
- หลักสูตร Fire Prevention and Fire Fighting (IMO Model Course 120)
- หลักสูตร Personal Safety and Social Responsibilities (IMO Model Course 1.21)
- หลักสูตร Proficiency in Survival Craft and Rescue Boats (other than Fast Rescue Boats) (IMO Model Course 1.23)
- หลักสูตร Advanced Training in Fire Fighting (IMO Model Course 2,03)
- หลักสูตร Medical First Aid (IMO Model Course 1.14)
- หลักสูตร Ship Security Officer (IMO Model Course 3.19)
- หลักสูตร Bridge Resource Management
- หลักสูตร Leadership and Teamwork (IMO Model Course 1.29)
- หลักสูตร Operational Use of Electronic Chart Display and Information Systems (ECDIS) (IMO Model Course 1.27)
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ผมขอเล่าเรื่องลำดับชั้นประกาศนียบัตรตามข้อบังคับกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับการสอบความรู้ผู้ทำการในเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ปี พ.ศ. 2565 ให้เข้าใจพอเป็นสังเขปละกันครับ โดยชั้นประกาศนียบัตรสำหรับผู้ทำการในเรือฝ่ายเดินเรือสำหรับเรือเดินทะเลระหว่างประเทศมีดังต่อไปนี้ (ส่วนเรือเดินใกล้ฝั่งหรือเฉพาะเขต ไม่ขอกล่าวถึงนะครับ เพราะจะมากเกินไป)
- ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถนายเรือของเรือกลเดินทะเลขนาด 3000 ตันกรอสส์หรือมากกว่า (master on ships of 3,000 gross tonnage or more)
- ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถนายเรือของเรือกลเดินทะเลขนาด 500-3000 ตันกรอสส์ (master on ships of between 500 and 3,000 gross tonnage)
- ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถต้นเรือของเรือกลเดินทะเลขนาด 3000 ตันกรอสส์หรือมากกว่า (chief mate on ships of 3,000 gross tonnage or more)
- ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถต้นเรือของเรือกลเดินทะเลขนาด 500-3000 ตันกรอสส์ (chief mate on ships of between 500 and 3,000 gross tonnage)
- ประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความสามารถนายประจำเรือฝ่ายเดินเรือของเรือกลเดินทะเลขนาด 500 ตันกรอสส์หรือมากกว่า (officer in charge of a navigational watch on ships of 500 gross tonnage or more)
ผู้ที่จบการศึกษาจากศูนย์ฝึกพาณิชยนาวีฝ่ายเดินเรือ ก็จะได้ประกาศนียบัตรตามข้อ 5 ครับ จากนั้นก็ต้องไปลงเรือเก็บ sea service ตามที่กฎหมายกำหนด แล้วถึงจะสอบเลื่อนประกาศนียบัตรในตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ ถ้าทั่ว ๆ ไป ก็น่าจะมี 5-6 ปีแหละครับ ถึงจะได้สอบเป็นกัปตันและถือประกาศนียบัตรในข้อ 1
หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ช่วยต้นเรือ
ส่วนหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ช่วยต้นเรือ (Third Officer : 3/O) หลัก ๆ แล้วก็มีดังต่อไปนี้ครับ
1. เข้ารับหน้าที่ยามเรือเดินในทะเล (0800-1200, 2000-2400) เป็นช่วงที่ไม่มีโอกาสได้ดูพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกสวย ๆ กับเขาเลย
2. เข้ายามเฝ้างานสินค้า หรือนายยามปากเรือขณะจอดอยู่ในเมืองท่า (0600-1200, 1800-2400)
3. เก็บรักษาอุปกรณ์ส่งสัญญาณของเรือ เช่น ธงชาติต่าง ๆ, ธงประมวล, ไฟและทุ่นสัญญาณ และบรรณสารเกี่ยวกับประมวลสัญญาณทั้งหมด
4. ดูแลรักษาสมุดสั่งจักรและสมุดปูมปากเรือบนสะพานเดินเรือ
5. ดูแลความปลอดภัยในบริเวณห้องถือท้าย, ห้องแผนที่และสถานที่เก็บอุปกรณ์การเดินเรือ รวมถึงกล้องสองตา, โคมไฟส่งสัญญาณบนสะพานเดินเรือระหว่างที่เรือจอดอยู่ในท่าเรือ โดยเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการถูกขโมย
6. บำรุงรักษาและดูแลเก็บรักษาอุปกรณ์เครื่องช่วยชีวิต และบางลำก็จะให้ดูแลเครื่องมือดับเพลิงด้วย
7. ดูแลรักษาความเรียบร้อยของบันไดนำร่อง
8. ปฏิบัติตามคำแนะนำของต้นเรือ
จะว่าไปก็มีหน้าที่รับผิดชอบไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับมือใหม่นายประจำเรือฝ่ายปากเรือ แต่ก็เป็นช่วงของการเรียนรู้ครับ เพราะถ้าพวกเขาเริ่มงานในตำแหน่งผู้ช่วยต้นเรือได้ดี มีความรู้แน่น และอนาคตกัปตันเรือก็อยู่ไม่ไกลครับ
ผมเอาใจช่วยผู้ช่วยต้นเรือทุกท่านนะครับ แล้วตอนต่อไป เราจะลงไปทำความรู้จักตำแหน่งต่าง ๆ ในส่วนของลูกเรือกันบ้าง ถ้าเป็นแฟนคลับของ Seamoor blog ต้องไม่พลาดครับ
บทความโดย: Old captain never die
อัปเดต: พฤษภาคม ค.ศ. 2022