Fitter ไม่ใช่ Fitness ต้องฟิตจริงหรือต้องทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย

Seamoor Marine & Engineering

Seamoor Marine & Engineering

Fitter
Table of Contents
    Add a header to begin generating the table of contents

    สวัสดีครับแฟนคลับ Seamoor Blog ที่รักทุกท่าน

    ช่วงนี้ ประเทศไทยเต็มไปด้วยฝุ่นPM2.5 ตื่นมาเช้า ๆ มองไปในอากาศขาวโพลนไปหมด ตอนแรกก็หลงดีใจนึกว่าหมอก ที่ไหนได้เป็นฝุ่น เจ้าฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเล็กประมาณ 1 ใน 25ของเส้นผมเท่านั้นครับ เมื่อมีอากาศเย็นและแห้ง ความกดอากาศสูง สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ก็จะทําให้เจ้าฝุ่น PM2.5 สะสมในอากาศ ไม่แพร่กระจาย แขวนลอยอยู่ได้นาน

    ต้นเหตุของฝุ่นก็เกิดจากการเผาในที่โล่ง การใช้เตาปิ้งย่าง สถานประกอบการพวก อู่ซ่อมรถ พ่นสีรถ การก่อสร้างอาคาร การจราจร หรือแม้กระทั่งการสูบบุหรี่ ก็เป็นสาเหตุเช่นกันครับ

    พวกเราสามารถดูแลและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจาก PM2.5 ได้โดย

    1. ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศในแอปพลิเคชัน Air4Thai หรือข่าวสารตามช่องทางต่าง ๆ

    2. สังเกตอาการ หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ทันที

    3. ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5 เช่น จุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง ปิ้งย่าง เผาใบไม้ เผาขยะ เป็นต้น

    4. งดทํากิจกรรมนอกบ้าน หากต้องออกนอกบ้าน ควรสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น แล้วหน้ากากที่ป้องกันฝุ่น 2.5 ได้ต้องเป็นหน้ากากแบบ N95 นะครับ

    ก็เป็นความห่วงใยจากผมครับ

    แต่จะบอกว่า ถ้าอยากอยู่ให้ห่างไกลเจ้าฝุ่น PM2.5 อาชีพคนประจำเรือไม่ต้องกังวลปัญหาเรื่องนี้เลยครับ เพราะเขาทำงานกันในอากาศบริสุทธิ์กลางทะเล

    ชักเริ่มอิจฉาพวกเขาขึ้นมานิด ๆ แล้วใช่ไหมล่ะครับ ไปครับ! ตามผมไปรู้จักกับอีกหนึ่งตำแหน่งบนเรือ นั่นก็คือสรั่งช่างกลหรือ Fitter กันครับ

    ผมคุ้นเคยกับการเรียกคนที่ทำงานในตำแหน่งนี้ว่า Fitter มากกว่าสรั่งช่างกล ดังนั้นขอเรียกพวกเขาว่า Fitter แล้วกันนะครับ
     

    ตำแหน่ง Fitter บนเรือคือใคร?

    Fitter เป็นคนประจำเรือฝ่ายช่างกลเรือในระดับสนับสนุน (Support level) ครับ คือมีระดับความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานหน้าที่ในเรือตามที่รับมอบหมายและอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของผู้ปฏิบัติงานในระดับปฏิบัติการของฝ่ายช่างกลเรือก็คือ 4/E และ 3/E และระดับบริหาร ซึ่งฝ่ายช่างกลเรือก็คือ 2/E และ C/E นั่นเอง

    ถ้าจำไม่ได้ว่าใครเป็นใครบ้าง ผมแนะนำให้กลับไปอ่าน Seamoor blog ในตอนก่อนๆ นะครับ ผมเล่าไว้ยาวเลย

    Fitter ส่วนใหญ่จะเป็นลูกเรือชำนาญงานฝ่ายช่างกลเรือ (Able seafarer engine) หมายความว่า พวกเขาจะถือประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญของลูกเรือฝ่ายช่างกลเรือ (Rating as able seafarer engine) แต่ก็มีบ้างที่ถือประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญลูกเรือเข้ายามฝ่ายช่างกลเรือ (Rating forming part of an engineering watch) ซึ่งก็จะทำงานตำแหน่ง Fitter ได้ แต่จะอยู่ในเรือขนาดเล็กแทน

    สมัยผมลงทำงานในเรือใหม่ ๆ Fitter ในสายตาผมนี่โคตรเท่เลย วัน ๆ อยู่กับงาน Hotwork ทั้งในห้องเครื่องและปากเรือ เชื่อมเหล็กเก่ง ตัดเหล็กเก่ง แบบเนรมิตได้เลยว่าจะออกมาสวยแบบไหน อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ผมไปขอร้องให้ Fitter ทำให้บ่อย ๆ คือดัมเบลจากเศษเหล็กบนเรือเอาไว้ยกน้ำหนักเล่นตอนเย็น บางคนนี่ทำออกมาจน Fitness แพง ๆ มองค้อนเลยละกัน
     

    หน้าที่และความรับผิดชอบของ Fitter

    หน้าที่และความรับผิดชอบของ Fitterนอกเหนือจากช่วยผมทำดัมเบลก็มีดังนี้ครับ

    1. เป็นหัวหน้าของคนประจำเรือฝ่ายช่างกลเรือในระดับลูกเรือและเป็นผู้ช่วยมือดีของรองต้นกลเรือในการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรเครื่องยนต์ทั้งหมด เช่น การยกเครื่องจักรใหญ่ เครื่องไฟฟ้า กรองระบบน้ำมัน และปั๊มต่าง ๆ นอกจากนี้ยังต้องคอยจ่ายงานและกำกับดูแลการฝึกอบรมบนเรือของลูกเรือฝ่ายช่างกลเรือและรายงานต่อรองต้นกลเรือ

    2. รับผิดชอบเกี่ยวกับงาน Hotwork ทั้งหมดบนเรือ บางที Fitter ก็จะถูกส่งไปช่วยงานของปากเรือในการซ่อมทำต่าง ๆ ด้วย บนเรือบางลำ งาน Hotwork ของปากเรือเยอะถึงขนาดต้องจ้าง Deck Fitter เพิ่มต่างหากอีก 1 ตำแหน่ง เพื่อคอยช่วยงาน Hotwork ของปากเรือโดยเฉพาะ

    3. ทำงานเป็น Daywork ของฝ่ายห้องเครื่องคือ 0830-1700 ของแต่ละวัน ไม่ต้องเข้ายามในห้องเครื่อง งานที่ทำก็เป็นงาน Maintenance ตามที่รองต้นกลสั่ง

    4. ดูแลความสะอาดและความปลอดภัยของสถานที่ทำงานและสภาพแวดล้อม ตลอดจนดูแลความปลอดภัยในการทำงานของลูกเรือฝ่ายช่างกลเรือ

    5. ดูแลและควบคุมสโตร์ของฝ่ายช่างกลเรือให้มีพร้อมและเพียงพอในการทำงาน และรายงานส่วนที่ยังคงเหลือในเรือแก่รองต้นกลทราบ

     

    คุณสมบัติเบื้องต้นของ Fitter

    ผู้ที่จะลงทำการในเรือและเป็น Fitter ได้ นอกจากต้องถือประกาศนียบัตรตามที่ผมเล่าให้ฟังแล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้ครับ

    1. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์

    2. มีระยะเวลาปฏิบัติงานในทะเลในฝ่ายช่างกลบนเรือที่มีขนาดกำลังขับเคลื่อน 750 กิโลวัตต์หรือมากกว่าอย่างน้อย 12 เดือนในขณะที่ถือประกาศนียบัตรแสดงความรู้ความชำนาญลูกเรือเข้ายามฝ่ายช่างกล

    3. มีระยะเวลาการปฏิบัติงานในทะเลในฝ่ายช่างกลในเรือที่มีขนาดกำลังขับเคลื่อน 750 กิโลวัตต์หรือมากกว่าอย่างน้อย 6 เดือนในขณะที่ถือประกาศนียบัตรฯ และสำเร็จการศึกษาและการฝึกอบรมหลักสูตรลูกเรือชำนาญงานฝ่ายช่างกลของเรือเดินทะเลที่ได้รับการรับรอง คือไปเรียนเพิ่มเติมก็จะลดเวลาการทำงานในทะเลลง 6 เดือนครับ

    รายได้ของ Fitter ก็แล้วแต่ขนาดและสัญชาติของเรือ แต่ถ้าอ้างอิงจาก ITF ILO Minimum Wage Scale ของคนประจำเรือล่าสุด เงินเดือนของ Fitter จะอยู่ที่ประมาณ 1,307 USD หรือประมาณ 43,000 บาท ยิ่งถ้าทำงานบนเรือที่จ่ายเงินเดือนเป็น USD หรือเรือที่อยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน ก็รับเต็ม ๆ โดยไม่เสียภาษี น่าสนใจไหมล่ะครับ

    ดังนั้นไปทำงานบนเรือเป็น Fitter หนีฝุ่น PM2.5 กันดีกว่าครับ

    แล้วพบกันใหม่ใน Seamoor blog ตอนต่อไปนะครับรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ

     

     

    บทความโดย: Old captain never die

    อัปเดต: กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023

    Share:

    Facebook
    Twitter
    LinkedIn
    Telegram

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *